พาราสาวะถี อรชุน
เป็นเรื่องปกติของฝ่ายที่กำชัยชนะ จะพูดอย่างไรก็ไม่มีใครว่า แต่การพูดของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่บอกว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดูถูกประชาชนที่ออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญนั้น ถูกแค่ส่วนหนึ่ง เพราะข้อเท็จจริงก็คือ อดีตนายกฯ หญิงยอมรับผลที่ประชาชนเลือก ดังนั้น จึงไม่ใช่การดูแคลน แต่ที่แสดงความเป็นห่วงคือ ปัญหาที่จะเกิดตามมาอันเป็นผลสืบเนื่องจากเนื้อในของกฎหมายสูงสุดไม่ใช่เสียงของประชาชน
เป็นเรื่องปกติของฝ่ายที่กำชัยชนะ จะพูดอย่างไรก็ไม่มีใครว่า แต่การพูดของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่บอกว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดูถูกประชาชนที่ออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญนั้น ถูกแค่ส่วนหนึ่ง เพราะข้อเท็จจริงก็คือ อดีตนายกฯ หญิงยอมรับผลที่ประชาชนเลือก ดังนั้น จึงไม่ใช่การดูแคลน แต่ที่แสดงความเป็นห่วงคือ ปัญหาที่จะเกิดตามมาอันเป็นผลสืบเนื่องจากเนื้อในของกฎหมายสูงสุดไม่ใช่เสียงของประชาชน
ยิ่งการอ้างว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับประชาชน คนที่ยึดอำนาจมาแล้วกล้าที่จะใช้เสียงประชามติมาสร้างความชอบธรรม พูดได้เต็มปากเต็มคำนั้น ถามว่าไม่อายบ้างหรือ กระบวนการขั้นตอนในการยกร่างประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมกันมากขนาดไหน เปิดกว้างฟังความเห็นทุกทิศทุกทางอย่างนั้นหรือ เปล่าเลย มิหนำซ้ำ ในช่วงการทำประชามติยังปิดปากเสียงที่จะวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญอีกต่างหาก
ถ้าเป็นการโกหกตัวเองแล้วสบายใจก็เชิญ แต่นี่เป็นบทพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งว่า เผด็จการนั้นมักจะพูดถึงประชาธิปไตยได้อย่างหน้าตาเฉย โดยไม่ได้มองย้อนกลับไปยังรากที่มาของตัวเอง ไม่ว่าจะใช้อะไรมาฟอกขาว แต่สีดำเผด็จการที่มันติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดนั้น มันลบล้างไม่ได้ ส่วนที่บอกว่าแล้วไฉนประชาชนถึงได้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เล่า ก็มองย้อนกลับไปยังปัจจัยต่างๆ ที่ใช้ควบคุมเข้มข้นสิ
การที่ให้บรรดากระบอกเสียงเที่ยวไปร้องแร่แห่กระเชอถามหาเสียงตอบรับของนานาชาตินั้น ช่างเป็นอะไรที่ชวนให้หัวร่อหัวใคร่เป็นอย่างยิ่ง คงคิดว่าเมื่อประชามติผ่านแล้วนั่นก็คือความชอบธรรม ต่างชาติเขาคงไม่ได้โง่ขนาดนั้น เพราะตลอดระยะเวลาของการทำประชามติมีอะไรเกิดขึ้น เขาติดตามทุกย่างก้าว ถ้ากระบวนการมันไม่ชอบเสียแล้ว การที่จะให้คนซึ่งเขามองเห็นความอยุติธรรมเป็นความชอบธรรมนั่นคงยาก
แถลงการณ์ของสหภาพยุโรปหรืออียู โดยโฆษกของ เฟเดริกา โมเกรินี ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปและรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เรื่องการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญในประเทศไทย น่าจะเป็นภาพสะท้อนได้เป็นอย่างดี ประชาชนชาวไทยเป็นส่วนใหญ่ได้ออกเสียงเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลาของการรณรงค์ได้มีข้อจำกัดที่เข้มงวดเป็นอย่างมากต่อเสรีภาพขั้นพื้นฐานซึ่งรวมไปถึงการห้ามจัดการอภิปรายและจัดการรณรงค์
มันเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ที่การจำกัดเสรีภาพในปัจจุบันทั้งในด้านการแสดงออกและการชุมนุมนั้นต้องถูกยกเลิก เพื่อให้สามารถมีกระบวนการทางการเมืองที่เปิดเผย มีส่วนร่วม และมีความรับผิดชอบ ทางสหภาพยุโรปยังคงเรียกร้องอย่างต่อเนื่องให้รัฐบาลไทยสร้างสภาวะที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง เพื่อที่นำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปอย่างรวดเร็ว
ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลักทุกส่วนในประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องเข้าร่วมการอภิปรายอย่างมีส่วนร่วมและทำงานร่วมกันอย่างสันติ เพื่อนำไปสู่จุดมุ่งหมายนี้ สอดรับกับท่าทีดังกล่าวของอียู เครือข่ายองค์กรประชาชนและองค์กรชุมชนภาคใต้ 30 องค์กรได้แถลงการณ์ยอมรับผลของการทำประชามติ แต่ตั้งข้อสังเกตว่า การลงประชามติที่สังคมยัง“ไม่ตกผลึกทางความคิดมากพอ” อันเนื่องมาจากการจำกัดพื้นที่การถกเถียง การผลิตซ้ำ ตอกย้ำความขัดแย้ง การทุจริตคอร์รัปชั่นในอดีต
ทำให้เกิดการตัดสินใจบนฐานความหวาดกลัวอดีตที่หลอกหลอน มากกว่าการคำนึงถึงการสร้างหรือกำหนดกติกาที่เสมอภาค เท่าเทียม เป็นธรรมและเป็นประชาธิปไตยสากล โดยมีข้อเรียกร้องที่ตามมาซึ่งน่าสนใจคือ ต้องไม่นำเหตุผลร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการรับรองมาสร้างความชอบธรรมฝ่ายเดียวในการดำเนินนโยบายทางการเมือง โครงการพัฒนาที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชน
กติกาใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทำให้ประชาธิปไตยไทยตกอยู่ในรูปแบบที่เรียกว่า“ประชาธิปไตยใต้บงการ” ทำให้เกิดแรงเสียดทานและสุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญหน้ารอบใหม่ จึงยืนยันว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงคือ ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง เคารพสิทธิและเสรีภาพ นอกจากนั้น ยังขอให้คสช.ประกาศต่อสาธารณะว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวการเมืองหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญและไม่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ หลังการเลือกตั้ง
แต่เมื่อพิจารณาจากความเป็นจริงแล้ว ข้อเรียกร้องของกลุ่มต่างๆ ต่อผู้มีอำนาจนั้น คงไร้การตอบสนอง เนื่องจากกลุ่มคนที่สถาปนาตัวเองเป็นคนดีเหนือคนทั่วไปนั้น ไม่ว่าจะทำอะไรก็ถือว่าตัวเองยิ่งใหญ่ไร้ความผิด ดังที่ล่าสุด สามชาย ศรีสันต์ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนบทความถามถึงความรับผิดชอบของคนดี
โดยชี้ให้เห็นว่า การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะจนถึงปัจจุบันยังไม่มีการปฏิรูปใดๆ เกิดขึ้น แต่ได้เกิดอำนาจใหม่ที่ไม่สามารถตรวจสอบควบคุมได้ เกิดเป็นนักการเมืองประเภทใหม่ที่ไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งหรือยึดโยงอยู่กับประชาชน ทั้งมีท่าทีแสดงให้เห็นชัดเจนว่าไม่มีความเชื่อมั่นศรัทธาต่อประชาชน
หลังจากนี้นักการเมืองที่ไม่สามารถตรวจสอบได้เหล่านี้ จะยังคงอยู่ต่อไปอีกยาวนานหลังการเลือกตั้ง นัยว่าจะอยู่ต่อไปถึง 20 ปี ในขณะที่ดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าของชาติตกต่ำลงแทบทุกด้าน คนดีในสังคมไทย จึงไม่ใช่เพียงอ้างเจตนาดีทำเพื่อชาติบ้านเมือง อ้างศาสดา ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านในเมืองที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นคนดี เพื่อสร้างความชอบธรรมให้สิ่งที่ตนเองทำว่าเป็นความดี แล้วผลักประชาชนฝ่ายตรงข้ามให้เป็นคนเลว เป็นคนขายเสียงผู้เขลาซื่อ ไม่ควรมีสิทธิ์มีเสียงในทางการเมือง
เพราะนั่นคือวิธีที่เลวเพื่อเป้าหมายของความดี โดยใช้มนุษย์เป็นเครื่องมือในการทำความดี แล้วถือสิทธิประโยชน์จากการได้เป็นคนดีขึ้นมาจัดการมอบอำนาจให้รัฐบาลทหารมีสิทธิ์เด็ดขาดในการจัดการความเป็นไปของประเทศ การประจบประแจงต่ออำนาจ เดินตามหมา (ของ) ผู้ใหญ่ก็จะไม่ถูกหมากัด กล่าวอ้างการทำความดีในนามชาติกดเหยียดผู้อื่นให้กลายเป็นผู้ไม่รักชาติ กลายเป็นวิธีการง่ายๆ ที่จะชุบตัวให้กลายเป็นคนดี
เมื่อผลการกระทำความดีล้มเหลว ก็ทำตัวเป็น“เห็บสยาม” เกาะไปจนกว่าจะมีหมาตัวใหม่ขึ้นมาเดินนำให้เกาะต่อ โดยไม่แสดงความรับผิดชอบ นี่เป็นนิยามคนดีของไทยที่กำลังเป็นอยู่ในเวลานี้ และนิสัยของคนดีอีกประการคือชอบโกหกหรือพูดความจริงไม่หมด เหมือนอย่างที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ กำลังเป็นอยู่ ก่อนลงประชามติบอกว่าร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงไม่มีปัญหาอะไร แต่พอประชามติผ่านก็คายความจริงออกมาว่า น่าจะเกิดปัญหาซ้ำซ้อนกันตามมา เข้าอีหรอบคนดีที่เคยบอกให้รับร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ไปก่อนแล้วค่อยแก้ทีหลังได้ง่ายนิดเดียวเป๊ะ