สู่ยุค “ทุนขุนนาง”ทายท้าวิชามาร
รสนา โตสิตระกูล พูดไว้ก่อนลงประชามติว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็น “ฉบับทุนขุนนาง” ที่ให้ข้าราชการและทุนเป็นใหญ่ แม้ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอปฏิรูปพลังงานอันเหลวไหล ที่เธอใช้ต่อรอง “รับ-ไม่รับ” แต่ผมก็เห็นด้วยว่า นี่คือรัฐธรรมนูญที่สถาปนาให้รัฐราชการกลับมาเป็นใหญ่
ใบตองแห้ง
รสนา โตสิตระกูล พูดไว้ก่อนลงประชามติว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็น “ฉบับทุนขุนนาง” ที่ให้ข้าราชการและทุนเป็นใหญ่ แม้ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอปฏิรูปพลังงานอันเหลวไหล ที่เธอใช้ต่อรอง “รับ-ไม่รับ” แต่ผมก็เห็นด้วยว่า นี่คือรัฐธรรมนูญที่สถาปนาให้รัฐราชการกลับมาเป็นใหญ่
ไหนๆ ก็ไหนๆ เมื่อนักต่อต้าน “ทุนสามานย์” พูดเอง ก็ใช้เป็นหลักหมุดได้ว่า นี่คือจุดสิ้นสุดยุค “ทุนสามานย์” ที่คนดีมีศีลธรรมต่อต้านมา 10 ปี เข้าสู่ยุค “ทุนขุนนาง” ที่รัฐราชการซึ่งทหารกุมอำนาจนำ เป็นผู้จัดสรรผลประโยชน์ในประเทศนี้ อย่างเบ็ดเสร็จยิ่งกว่าอำนาจเลือกตั้ง
อันที่จริงมันก็เป็นมา 2 ปี แต่ประชามติให้ฉันทานุมัติ แม้มีเลือกตั้ง รัฐราชการก็ยังเป็นใหญ่ไปอีกอย่างน้อย 5 ปี นี่คือภาพที่คนทั่วไปจะเห็นชัดขึ้น เมื่อมีเลือกตั้ง ส.ส.500 คนจะกระจัดกระจาย พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.น้อยลง อย่างเก่งไม่ถึง 200 คน พรรคประชาธิปัตย์ 100 กว่าคน ที่เหลือเป็นพรรคขนาดกลาง ขณะที่ คสช.จะสรรหาและแต่งตั้ง ส.ว.250 คนมาร่วมลงมติเลือกนายกฯ
ถามหน่อย ส.ว.แต่งตั้งที่นำโดย 6 ผบ.เหล่าทัพจะเลือกใคร ถ้าไม่ใช่ผู้มีบารมีจากรัฐราชการ แบบเดียวกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อ 30 กว่าปีก่อน ในเมื่อนักการเมืองไม่มีเครดิตแล้ว
อุตส่าห์วางระบบขนาดนี้จะให้นักการเมืองเป็นนายกฯ ทำไม เป็นก็ปกครองไม่ได้ เพราะการแต่งตั้งโยกย้ายใน 2 ปีที่ผ่านมาและอีกปีกว่าๆ มองเห็นตัว ผบ.เหล่าทัพ ปลัด อธิบดี ไปอีก 4-5 ปี องค์กรอิสระยิ่งไม่ต้องพูดถึง แต่งตั้งยุคนี้นั่งยาวไปอีก 7 ปี 9 ปี
รัฐบาลในอนาคตจึงมีนักการเมืองเป็นแค่ไม้ประดับ เอาไว้อ้างกับชาวโลกว่านี่ไง มีเลือกตั้ง แต่นโยบายจะถูกกำหนดโดยเทคโนแครต การจัดสรรผลประโยชน์ถูกกำหนดโดยอำนาจนำของระบบนี้ แล้วลดหลั่นกันไปตามระบบราชการ
ดีนะครับ ภาคธุรกิจไม่ต้องจิ้มก้องนักการเมืองเลวอีกแล้ว นักการเมืองจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้มีอำนาจตัดสินใจไปเป็นเพียงเปรตขอส่วนบุญเหมือนในอดีต
นี่คือ “การเมืองนิ่ง” ที่ภาคธุรกิจต้องการ “การปกครองโดยคนดี” ที่คนชั้นกลางระดับบนต้องการ โดยภาคธุรกิจ คนชั้นกลางระดับบน อาจได้ส่วนแบ่งอำนาจ ทั้งเข้าไปร่วมกำหนดนโยบายและมีตำแหน่งแต่งตั้ง
ภาคธุรกิจที่ให้ความร่วมมือด้วยดีกับอำนาจรัฐประหาร น่าจะมีบทบาทมากขึ้นในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจช่วงเปลี่ยนผ่าน ที่จะต้องปรับโครงสร้างการผลิต ทั้งภาคเกษตรที่มีแนวคิดลดพื้นที่ปลูกข้าว ปลูกยางพารา ฯลฯ ภาคอุตสาหกรรมที่จะปรับเปลี่ยนย้ายฐานครั้งใหญ่ ต้องเลิกจ้างอีกไม่น้อย (ไม่ต้องห่วง เรามี พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ)
ในต่างจังหวัดเราก็จะเห็นภาพผู้ว่าฯ กลับไปเป็น “เจ้าเมือง” ปรึกษาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม ผลักดันเขตเศรษฐกิจ นิคม ไฟฟ้าขยะ บ่อบำบัดน้ำเสีย ฯลฯ
กลไกบริหารประเทศจะเด็ดขาดชัดเจน จากบนลงล่าง ผ่านผู้ว่าฯ มหาดไทย ตำรวจ ทหาร ลงไปถึงกำนันผู้ใหญ่บ้าน ถ้าจะเหลือพวก “ขัดขวางความเจริญ” ก็มีแค่ NGO แต่เดี๋ยวคงไม่เหลือกำลังสู้รบปรบมือ ถ้าไม่เข้าร่วม “ประชารัฐ” ก็ถูกปิดล้อมจนพ่ายแพ้
ยอมรับครับ ระบอบนี้เป็นที่พอใจของกลุ่มทุนธุรกิจที่เข้าถึงอำนาจ เป็นที่พอใจของคนชั้นกลางระดับบน แต่คนส่วนใหญ่ในสังคม รวมทั้งหลายล้านคนใน 16 ล้านคน จะพอใจหรือไม่ ลองใช้ไปเดี๋ยวรู้กัน