พาราสาวะถี อรชุน
มาตาปิตุอุปัฏฐานัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง การบำรุงมารดาบิดา เป็นอุดมมงคล พรุ่งนี้ 12 สิงหาคม วันแม่แห่งชาติ ในวาระดังกล่าวลูกทุกคนจะถือโอกาสในการทำความดีเพื่อแม่ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็สุดแท้แต่ ขอแค่แม่มีความสุขเท่านั้น แต่ก็อย่าทำดีกันเพียงแค่หนึ่งวัน ต้องทำทุกๆ วันให้เป็นวันแม่ หากทำให้แม่สบายใจแค่ 24 ชั่วโมง แต่วันอื่นๆ ที่เหลือทำตัวแย่ทำดีแค่วันเดียวก็ไร้ประโยชน์
มาตาปิตุอุปัฏฐานัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง การบำรุงมารดาบิดา เป็นอุดมมงคล พรุ่งนี้ 12 สิงหาคม วันแม่แห่งชาติ ในวาระดังกล่าวลูกทุกคนจะถือโอกาสในการทำความดีเพื่อแม่ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็สุดแท้แต่ ขอแค่แม่มีความสุขเท่านั้น แต่ก็อย่าทำดีกันเพียงแค่หนึ่งวัน ต้องทำทุกๆ วันให้เป็นวันแม่ หากทำให้แม่สบายใจแค่ 24 ชั่วโมง แต่วันอื่นๆ ที่เหลือทำตัวแย่ทำดีแค่วันเดียวก็ไร้ประโยชน์
หกโมงเย็นวานนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ออกทีวีพูลแถลงการณ์ขอบคุณคนไทยที่ร่วมกันไปลงประชามติผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย เนื้อสาระแม้จะยังไม่ได้ฟังก็พอจะคาดเดาได้ จะทำอย่างไรให้ประเทศชาติเดินหน้า ทำอย่างไรให้มีการเลือกตั้งได้ตามโรดแม็พภายในปี 2560 รวมไปถึงขอให้ทุกคนยอมรับในเสียงส่วนใหญ่
เพราะอ่านโทนทางการให้สัมภาษณ์ในวันประชุม ครม.ทั้งบิ๊กตู่และ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ต่างยืนยันในเสียงข้างมากไม่ว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร แต่ผู้มีอำนาจถือว่านั่นคือความชอบธรรม ขณะที่เสียงทักท้วงมาจากต่างชาติ ปล่อยให้เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศที่จะไปดำเนินการชี้แจง ส่วนเขาจะฟังและเชื่อหรือไม่นั่นอีกเรื่อง
สำหรับปมเก็บตกจากประชามติ คงหนีไม่พ้นเสียงขานรับร่างรัฐธรรมนูญในพื้นที่กทม.และภาคใต้ยกเว้น 3 จังหวัดชายแดน ที่มีเครื่องหมายคำถามว่าจะเกิดแรงกระเพื่อมอะไรตามมาภายในพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ จากที่มองกันแบบชั้นเดียวเชิงเดียวว่า การประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ น่าจะเป็นเกมตีสองหน้าหรือเปล่า
ฟังจากกูรูผู้เกาะติดพรรคการเมืองเก่าแก่มาอย่างยาวนาน เล่าขานตำนานการต่อสู้ช่วงชิงภายในพรรคการเมืองแห่งนี้ให้ฟังแล้วก็เป็นอีกเรื่อง ว่ากันว่า งานนี้ไม่เฉพาะอภิสิทธิ์เท่านั้นที่รู้สึกถูกตบหน้าแต่มันหมายถึง ชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคซึ่งออกมาหนุนหลังคำประกาศดังกล่าวของหัวหน้าพรรคด้วย
อาการเสียเหลี่ยมหมดรังวัดเช่นนี้ ประสานายหัวจะไม่ยอมรามืออย่างแน่นอน ต้องมีการเอาคืน เพียงแต่ว่าจะเป็นไปในรูปแบบไหนหรือวันใดเท่านั้นเอง แม้เสียงจาก ถาวร เสนเนียม แกนนำกปปส.จะออกมาบอกว่า ระหว่างกปปส.และประชาธิปัตย์ยังเหนียวแน่นเหมือนเดิม นั่นคงเป็นเรื่องของฐานเสียงที่ใช้คนกลุ่มเดียวกันเสียมากกว่า
ทว่าในระดับแกนนำระหว่างกปปส.กับพรรคนั้น ไม่มีทางที่จะจูบปากกันได้ ยิ่งฝ่ายเทพเทือกออกอาการอหังการเช่นนี้ ยิ่งทำให้อีกฝ่ายไม่พอใจ จึงมีกระแสเสียงให้จับตามองหลังจากคสช.ผ่อนปรนให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมได้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคเก่าแก่อย่างแน่นอน อันจะเป็นการช่วงชิงการนำระหว่างฝ่ายอภิสิทธิ์กับเทพเทือก
งานนี้ระดับนำของม็อบกปปส.หากยังไม่ยอมหันหลังกลับก็อาจจะไร้ที่ยืนในพรรค เพราะความเป็นจริงประการหนึ่งของพรรคที่เป็นแรงกระเพื่อมภายในมาตลอดคือการแย่งชิงพื้นที่ในสนามการเมืองเล็ก จนเป็นเหตุให้เกิดการเหยียบตาปลาและกินแหนงแคลงใจกันมาโดยตลอด ดังนั้น การจัดองคาพยพเพื่อเตรียมพร้อมเลือกตั้งในระบบบัตรใบเดียวนั้น ยิ่งต้องฟาดฟันกันหนักข้อมากยิ่งขึ้น
ด้วยเหตุนี้จังหวะนั้นจึงถูกมองว่าจะเป็นการเอาคืนแบบทบต้นทบดอกของนายหัวชวน แน่นอนว่า ภาพที่จะทำให้พรรคเก่าแก่กลับมาเฉิดฉายหรือขายได้ หัวหน้าพรรคจะต้องไม่ชื่ออภิสิทธิ์ ซึ่งคนที่เหมาะสมจะขึ้นมานำทัพต่อไปในช่วงปฏิรูปนั้นหนีไม่พ้นชวนนั่นเอง หากเป็นเช่นนั้น นั่นหมายความว่าเทพเทือกและพลพรรคที่ภักดีจำเป็นต้องหาที่อยู่ใหม่
เมื่อชายตามองไปยังการประกาศตั้งพรรคของ ไพบูลย์ นิติตะวัน ในนามพรรคประชาชนปฏิรูป จึงย่อมไม่ธรรมดา เนื่องจากมองย้อนกลับมายังท่าทีของถาวร เสนเนียม หลังผลประชามติที่ย้ำว่า “พรรคการเมืองสั่งประชาชนไม่ได้” อีกแล้ว ย่อมเป็นภาพสะท้อนอะไรบางอย่างได้เป็นอย่างดี ยิ่งต่อจิ๊กซอว์ภาพความขัดแย้งที่ส่อเค้าว่าจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ภายในพรรคเก่าแก่ เป้าหมายการตั้งพรรคของไพบูลย์จึงไม่ใช่ไก่กาหรือแค่พรรคไม้ประดับอย่างแน่นอน
นั่นเป็นหนังชีวิตที่ว่าด้วยพรรคและกลุ่มการเมืองที่ร่วมกันโบกมือดักกวักมือเรียกรัฐประหารเพื่อการปฏิรูปและการเปลี่ยนแปลง แต่หลังจากมีรัฐธรรมนูญฉบับ (อ้าง) ปฏิรูปแล้ว ดูท่าว่าคนกลุ่มนี้จะกลายเป็นไผ่แยกกอ แม่น้ำแยกสายกันไปเสียฉิบ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่ใช่สิ่งที่เหนือความคาดหมาย
หันไปดูเสียงวิจารณ์ต่อกระบวนการทำประชามติในมุมของชาวต่างชาติกันต่อ ดันแคน แมคคาร์โก อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ เขียนบทความแสดงความคิดเห็นเรื่องประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของไทย ลงใน Nikkei Asian Review โดยเปรียบเทียบกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 กับการประชามติหนนี้
มองว่าการลงประชามติหนที่แล้วมีคะแนนเสียงเห็นชอบร้อยละ 57 ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้รับคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นบ้างเป็นร้อยละ 61 แต่ก็ไม่ได้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก อีกทั้งยังมีการอาศัยระบบแบบข้าราชการในการพยายามทำให้ผลลัพธ์ออกมาตามที่พวกเขาต้องการด้วย เมื่อมองเผินๆ แล้ว อาจจะเป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ผู้ลงคะแนนชาวไทยแสดงการสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด
อันเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ปล่อยให้ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและมีการสงวนที่นั่งไว้ให้เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูง ให้สามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเองได้ โดยแมคคาร์โกให้ความเห็นอีกว่า แม้ผลการลงประชามติอาจจะทำให้พลเอกประยุทธ์มีความมั่นใจในการนำประเทศมากขึ้นแต่ก็อาจจะไม่เป็นอย่างที่คิดเสมอไป
เพราะแม้แต่ผู้สนับสนุนคณะรัฐประหารหลักๆ อย่างชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ก็เริ่มเบื่อหน่ายรายการพูดผ่านโทรทัศน์ของนายกฯ ช่วงวันศุกร์มากขึ้น คนไทยมักจะเริ่มไม่พอใจผู้นำตนเองเมื่อผ่านไป 2-3 ปี และอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนก็เปลี่ยนเป็นต่อต้านได้ง่ายมาก ก่อนที่จะตบท้ายว่า รัฐบาลเผด็จการควรจะรีบลงจากอำนาจ แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติแต่รัฐบาลก็ยังคงไม่สามารถคืนความสุขให้ประชาชนชาวไทยทั้งปวงได้ ซึ่งข้อเรียกร้องนี้ของแมคคาร์โกกล้าฟันธงได้เลยว่าจะเป็นหมัน เพราะเขาอยากอยู่ยาว