WHA ทุนต่อทุน โดยยอดพี่เลี้ยงแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
การแถลงข่าวล่าสุดเมื่อวานนี้ของ นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA ได้สร้างปรากฏการณ์ที่เป็นกรณีศึกษาใหม่ของ “ทุนต่อทุน ทุนต่อหนี้ และหนี้ต่อทุน” ระดับที่เรียกว่า ไฮ ไฟแนนซ์ได้อย่างดีเลิศ
การแถลงข่าวล่าสุดเมื่อวานนี้ของ นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA ได้สร้างปรากฏการณ์ที่เป็นกรณีศึกษาใหม่ของ “ทุนต่อทุน ทุนต่อหนี้ และหนี้ต่อทุน” ระดับที่เรียกว่า ไฮ ไฟแนนซ์ได้อย่างดีเลิศ
ถือเป็นกรณีศึกษาของการสร้างธุรกิจโดยใช้เครื่องมือตลาดทุนเพื่อสร้างการเติบโตอย่างรวดเร็วชนิดเก็บรายละเอียด “ทุกเม็ด”
ไม่ใช่ธรรมดาของประธานกรรมการบริษัทอย่าง หมอสมยศ อนันตประยูร และนางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและรองประธานกรรมการ ที่บุกเบิกสร้างอาณาจักรยิ่งใหญ่ภายในเวลาไม่ถึง 2 ทศวรรษ และเมื่อแปลงสภาพเป็นบริษัทจดทะเบียนมหาชนแล้ว ก็ยิ่งก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าติดปีกบิน กลายเป็นบริษัทที่มีสินทรัพย์เฉียดแสนล้านบาทไปทุกขณะ อยู่ในบัญชีรายชื่อคำนวณ SET50 Index เหนียวแน่น
เดิมทีนั้น WHA ทำธุรกิจหลัก คือสร้างคลังสินค้าหรือโรงงานตามความต้องการของลูกค้าโดยเฉพาะเจาะจง (Built-to-Suit) และศูนย์กระจายสินค้าระดับพรีเมียม และหุ้น WHA เป็นหนึ่งในหุ้นที่ร้อนแรงที่สุดตัวหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ว่าตลาดจะเป็นขาลงหรือขาขึ้น มีค่า พี/อี ที่ถือว่าค่อนข้างสูงเกินจริงอย่างมาก
สตอรี่ที่ทำให้ราคาหุ้น WHA มีเสน่ห์เสมอมา อยู่ที่สามารถสร้างรายได้พิเศษจากการขายทรัพย์สินจำพวกอาคารและที่ดินเข้ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่า WHAPF ซึ่งบริษัทเป็นผู้บริหารได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีสภาพคล่องอย่างดีเยี่ยม ไม่ต้องกังวลกับปัญหาหนี้สินของบริษัทที่ดูผิวเผินมีอยู่ค่อนข้างมาก เพราะหนี้สินของบริษัทส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว
จนกระทั่งมีการปรับตัวครั้งใหญ่จากดีลควบรวมกับ HEMRAJ ในกลางปี 2558 ซึ่งจะทำให้มีมาร์เก็ตแคปกระโดดขึ้นในระดับหัวแถวกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง เป็นการก่อหนี้มูลค่ามหาศาลที่สำคัญ เพราะมีหนี้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งต้องเพิ่มทุนอีกด้วย
หนี้สินต่อทุน หรือ D/E ที่เกิดจากการกู้ยืมเพื่อดำเนินการซื้อกิจการจากผู้ถือหุ้นใหญ่เดิมของ HEMRAJ และทำ Voluntary Tender Offer (VTO) ทำให้มียอดหนี้รวม 3.4 หมื่นล้านบาท โดยมีเงื่อนไขจะทยอยชำระ 80% ภายใน 2 ปีแรกโดยเจ้าหนี้สำคัญคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นวาณิชธนกิจ
วิธีการแก้ปัญหาหนี้พอกพูน จบลงด้วยการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของ WHA ที่ผู้ถือหุ้นลงมติยอมรับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญหลายด้านพร้อมกัน โดยหลังจากที่ดีลจบลง ก็มีการประชุมครั้งแรก อนุมัติแผนการแตกพาร์และก่อหนี้ประกอบด้วย
– แตกพาร์จากมูลค่าหุ้นละ 1 บาท เป็นมูลค่าหุ้นละ 0.10 บาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับหุ้น
– ออกและเสนอขายหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 7,000 ล้านบาท อายุไม่เกิน 15 ปี
– นอกจากนั้น ยังมีมติเพิ่มทุนอีก 1,314 ล้านหุ้น เพื่อรองรับวอร์แรนต์ WHA-W2 ให้กับผู้ถือหุ้นแบบฟรีๆ มีอัตราการใช้สิทธิ 1 วอร์แรนต์ต่อ 1 หุ้นสามัญ
ทั้งหมดนี้ผ่านไปเรียบร้อยแล้ว จนกระทั่งล่าสุด WHA มีหนี้ที่ต้องชำระจากดีลควบรวมกิจการดังกล่าวเหลืออีก ประมาณ 12,000 ล้านบาท
การแถลงข่าวที่ผ่านมาของ WHA โดยนางสาวจรีพร ฉายเดี่ยวนำทีมเอง ระบุว่า ภายในสิ้นปี 2559 นี้ บริษัทจะสามารถชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่ใช้ในการซื้อกิจการได้หมด จากยอดคงเหลือ 12,000 ล้านบาท และบริษัทประเมินว่าในปี 2560 จะสามารถจ่ายปันผลเป็นเงินสด จากผลการดำเนินงานปี 2559 ได้หลังจากที่ชำระคืนหนี้เงินกู้ให้กับธนาคารได้หมด
เบื้องหลังปฏิบัติการล้างหนี้ เกิดจากการระดมแหล่งเงินที่จะนำมาชำระคืนหนี้ จากการจัดตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) โดยจะนำสินทรัพย์ของบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) ขายเข้ากองรีทส์ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 8,000 ล้านบาท อีกทั้งจะเพิ่มทุนกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยม โกรท (WHART) อีกจำนวน 4,500 ล้านบาท โดยจะนำสินทรัพย์บางส่วนของ WHA ขายเข้ากองรีทส์หลังนี้ ซึ่งบริษัทคาดว่าจะดำเนินการได้เสร็จภายในไตรมาส 4
ไม่เพียงเท่านั้น WHA จะได้รับเงินจากการขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่จะเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของบริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทจะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลฯ หรือไฟลิ่ง โดยคาดจะสามารถเข้าจดทะเบียนซื้อขายภายในไตรมาส 3 นี้ โดยบริษัทดังกล่าวมีมาร์เก็ตแคป ประมาณ 20,000 ล้านบาท
คิดสะระตะแล้วเงินสดที่ได้มา นอกจากใช้หนี้หมดแล้ว ยังเหลือเป็นทุนดำเนินการอีกบางส่วน…ยอดเยี่ยมกระเทียมดอง
เมื่อปลอดหนี้ได้ เรื่องแผนการลงทุนใหม่เพื่อเติบโตต่อไปอีก…เพราะเมื่อโตแล้วก็ต้องโตให้ถึงที่สุด..ก็ถูกรื้อฟื้นกลับมาพิจารณาอีกครั้ง ปรากฏในแผน 5 ปีข้างหน้า ที่บ่งบอกว่า ความฝันของผู้บริหาร WHA ยังมีเก็บงำไว้อีกมากมาย
แผนงาน 5 ปีที่คาดว่าจะใช้เงินลงทุนมากกว่า 4.3 หมื่นล้านบาท เพื่อลงทุนใน 4 ด้าน ได้แก่ กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ (14,000 ล้านบาท), กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม (14,000 ล้านบาท), กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคและไฟฟ้าซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้รวม 1,655 เมกะวัตต์ (11,000 ล้านบาท) และกลุ่มธุรกิจดิจิตอลแพลตฟอร์มเพื่อสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ 3-5 แห่ง (4,000 ล้านบาท) โดยบริษัทประเมินว่าในปี 2563 จะมีรายได้รวมจากกลุ่มธุรกิจมากกว่า 21,000 ล้านบาท
แค่นี้ก็ถือว่าเป็นการขยายตัวทั้งแนวตั้งและแนวระนาบครบครันที่ถือว่ากลล้าหาญชาญชัยอย่างแรง ซึ่งหากบรรลุได้เต็ม ยังคาดไม่ถูกเลยว่า WHA จะใหญ่โตแค่ไหนในอนาคต
แผนธุรกิจที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ส่งสัญญาณชัดเจนล่วงหน้าว่า โอกาสของการใช้ตลาดทุนและเครื่องมือวิศวกรรมการเงินทุกรูปแบบที่เคยใช้มา และของใหม่ๆ จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน…และหนีไม่พ้นที่ปรึกษาโครงการเจ้าเดิมที่จะเติบโตไปกับลูกค้า นั่นคือธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB นั่นเอง
เส้นทางของ WHA ต้องมี SCB เคียงข้างไปอีกยาวนาน
เป็นสูตร วิน-วิน ที่คนอื่นไม่เกี่ยว
“อิ อิ อิ”