อยากรู้เรื่อง Cut Loss

ประเด็นดังกล่าวไม่ใช่เรื่องยากที่จะพูดถึง แต่เป็นเรื่องยากที่จะปฎิบัติตามคำแนะนำมากกว่า อาจารย์ถึงไม่ชอบบีบบังคับนักลงทุนให้ทำตามคำชี้นำ แต่อยากให้นักลงทุนเข้าใจถึงกลยุทธ์และเหตุผลที่นักลงทุนจะต้องปฎิบัติตามคำแนะนำ เพราะมันหมายถึงตัวนักลงทุนเข้าใจหลักที่แท้จริงของการลงทุน


สภาแมงเม่า : ดร.สมชาย

 

คุณจิราภรณ์ จากมีนบุรี กรุงเทพฯ ต้องการให้ช่วยวิเคราะห์แนวทางการ Cut Lossในตลาดหุ้น ส่วนใหญ่มีแนวทางปฎิบัติกันอย่างไรบ้าง เพราะช่วง 3-4 วันที่ผ่านมานั้น เพื่อนๆ ที่เล่นหุ้นด้วยกันบางรายเริ่มติดหุ้นบนหอคอย และหุ้นที่ติดกันเป็นส่วนใหญ่ก็เป็นหุ้นเก็งกำไรสั้นๆ ซึ่งมีการหยิบยกประเด็นเรื่องต่ำกว่าบุ๊ค เทิร์นอะราวด์ มาเป็นตัวกระตุ้นอารมณ์ จึงอยากให้อาจารย์พูดถึงแนวทางการตัดขายหุ้นขาดทุน เพื่อดิฉันจะได้นำข้อมูลดังกล่าวไปบอกกับเพื่อนๆ ให้ตัดใจขายหุ้นได้ง่ายขึ้นนะคะ

 

ประเด็นดังกล่าวไม่ใช่เรื่องยากที่จะพูดถึง แต่เป็นเรื่องยากที่จะปฎิบัติตามคำแนะนำมากกว่า อาจารย์ถึงไม่ชอบบีบบังคับนักลงทุนให้ทำตามคำชี้นำ แต่อยากให้นักลงทุนเข้าใจถึงกลยุทธ์และเหตุผลที่นักลงทุนจะต้องปฎิบัติตามคำแนะนำ เพราะมันหมายถึงตัวนักลงทุนเข้าใจหลักที่แท้จริงของการลงทุน

เนื่องจากการตัดขาดทุน หรือขายขาดทุน ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์พื้นฐานที่สำคัญสุดในการลงทุน ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องที่ปฎิบัติได้ยากมากๆ ซึ่งเหมือนกับสิ่งที่ตัวอาจารย์ได้เกริ่นนำไปในย่อหน้าที่แล้ว และนักลงทุนส่วนใหญ่นิยมเรียก การ Cut Loss ในแบบสั้นๆ ว่า “ Cut ”

ในมุมมองของนักลงทุน การ Cut Loss เป็นสิ่งที่ทำได้ยากที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับความคิดของนักลงทุน เพราะนักลงทุนทุกรายคาดหวังในเรื่องผลกำไรมากกว่าเรื่องอื่นๆ (ไม่มีใครอยากขาดทุน) จึงไม่มีใครคิดว่าหุ้นที่ตัวเองซื้อเข้าไปในวันนี้ วันต่อไปมูลค่าหุ้นจะลดลงอย่างน่าใจหาย

หัวใจสำคัญก็คือ การตัดขายหุ้นขาดทุน จำเป็นต้องยอมรับในสิ่งที่ตัวเองทำผิดพลาดลงไป นักลงทุนที่รู้จักการตัดขายหุ้นขาดทุนก็เปรียบเสมือนทหารหุ้มเกราะ(ยังมีการเปรียบเทียบอีกหลายอย่าง เช่นทำประกันภัยรถยนต์) เมื่อได้รับอันตราย จะได้รับบาดเจ็บน้อยกว่า ส่วนทหารที่ไร้เกราะป้องกันใดๆ น่าจะบาดเจ็บแผลสาหัสจนถึงปางตายนะครับ

ฉะนั้นการ Cut Loss ก็เหมือนกับการยอมรับในสิ่งที่ผิดพลาด และสามารถยอมรับความผิดพลาดจากสิ่งที่ทำ (ซื้อหุ้นผิดตัว ผิดราคา ทำให้ราคาหุ้นตก ต้องขายขาดทุน)

การ Cut Loss เปรียบเสมือนการบังคับให้คนเราต้องยอมรับสิ่งที่ทำผิดพลาดแล้ว (คนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับสิ่งที่ตัวเองทำผิดพลาด..มักโทษให้เป็นความผิดของสิ่งอื่น เช่น โทษฟ้าโทษดิน โทษดวง) พร้อมกันนั้นยังเป็นการขัดแย้งกับความต้องการของนักลงทุน นั่นคือกำไร

ด้วยเหตุนี้นักลงทุนควรเรียนรู้ถึงการลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้น การรู้จักสร้างระบบการเทรดของตัวเองจะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการตัดสินด้วยเหตุผล และต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ปรากฎให้เห็นเป็นประจำก็คือ “ ในตลาดหุ้นไม่มีใครสามารถเอาชนะตลาดได้ทุกครั้ง แต่เราสามารถใช้การ Cut Loss ลดความเสี่ยงในการขาดทุนได้ ”

ประเด็นดังกล่าวทำให้การตั้งจุด Cut Loss ขึ้นอยู่กับการรับความเสี่ยงของนักลงทุนแต่ละรายจะรับได้ และสามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน อาทิ

– แบบที่ 1 การตั้งจุด Cut Loss แบบ “%”เช่น ซื้อหุ้นที่ราคา 100 บาท ตั้งจุด Cut Loss เมื่อราคาหุ้นขาดทุน 3% , 5% และ 7%

– แบบที่ 2 การตั้งจุด Cut Loss แบบ “ราคา” เช่น ซื้อหุ้นที่ราคา 100 บาท ตั้งจุด Cut Loss เมื่อราคาหุ้นเหลือ 95 บาท หรือ 90 บาท

– แบบที่ 3 การตั้งจุด Cut Loss ด้วย “Trend Line”หรือ เส้นแนวรับ (Support Line)

นอกจากนี้ก็อย่าลืมว่า หากลงทุนด้วยเงินจำนวนมาก หรือ Margin ควรตั้งจุด Cut Loss ที่สั้นมากๆ ซึ่งประเด็นที่อาจารย์กล่าวมาทั้งหมดสามารถใช้ได้ดีกับหุ้นเก็งกำไรสั้นๆ เพราะหุ้นประเภทดังกล่าวมักปรับตัวลงแล้วลงเลยนั่นเอง

Back to top button