ย้อนฝันร้ายของแบงก์ชาติ 2549 พลวัต 2016
เมื่อวานซืน ต่อเนื่องมาถึงวานนี้ ค่าบาทแข็งสุดเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในรอบ 13 เดือน ที่ 34.58 บาทต่อดอลลาร์และแข็งกว่าระดับ 35.06
วิษณุ โชลิตกุล
เมื่อวานซืน ต่อเนื่องมาถึงวานนี้ ค่าบาทแข็งสุดเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในรอบ 13 เดือน ที่ 34.58 บาทต่อดอลลาร์และแข็งกว่าระดับ 35.06
มีคนบอกว่า เหตุผลหนึ่งในหลายเหตุผล ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติยอมปล่อยให้บาทแข็งต่อเนื่องในสองเดือนที่ผ่านมาจนล่าสุดแข็งสุดในรอบ 11 เดือนครึ่งแล้ว มาจากความหวาดหวั่นในฝันร้ายจากมาตรการ 18 ธันวาคม 2549 ที่นำใช้มาแล้ว เกิดมีผลลบรุนแรงต่อตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ไทยมหาศาลอย่างกะทันหัน
การย้อนรอยกลับไปทบทวนฝันร้ายเก่าเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้วของแบงก์ชาติ ในยุคที่ผู้ว่าการแบงก์ชาติชื่อ นางธาริษา วัฒนเกษ น่าจะเตือนสติสำหรับคนในปัจจุบัน ได้พอสมควร
หลังการรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์หรือฉายา “ขิงแก่” ทำหน้าที่บริหารประเทศเกิดค่าเงินบาทแข็งต่อเนื่องจากกระแสฟันด์โฟลว์ไหลเข้าของกองทุนที่เข้ามาเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์ฯและตลาดตราสารหนี้ ตั้งแต่เดือนตุลาคม ต่อเนื่องมารุนแรงขึ้นในเดือนพฤศจิกายน จนถึงต้นธันวาคม เป็นจำนวนมหาศาล บางอาทิตย์มากถึง 1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งผิดปกติต่อธรรมชาติของค่าเงินยามนั้นมาก
แบงก์ชาติเริ่มสังเกตถึงความผิดปกติของเงินที่ไหลเข้ามา รู้ว่าจะปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้ จึงทำการเริ่มต้นมาตรการแทรกแซง “จากอ่อนไปแข็ง” ดังนี้
1) ทุ่มเงินบาทที่เป็นทุนสำรองเงินตราเข้าไล่ซื้อเงินดอลลาร์เพื่อไม่ให้เงินบาทแข็งขึ้นเร็วเกินไป ยังผลให้ทุนสำรองที่เป็นสกุลดอลลาร์นั้น เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ก็เอาไม่อยู่ เพราะเงินจากภายนอกยังไหลเข้าต่อเนื่อง
2) แบงก์ชาติออกมาตรการป้องกันการเก็งกำไรมาแล้วอย่างหนึ่ง คือสกัดเงินเก็งกำไรระยะสั้นของคนต่างชาติเริ่มตั้งแต่ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2549 ได้ออกประกาศขอความร่วมมือสถาบันการเงินไม่ออกและไม่ขายตั๋วแลกเงินสกุลเงินบาท (B/Es) ให้แก่ผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-resident) ทุกอายุสัญญา นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2549 แบงก์ชาติก็ได้ออกประกาศขอความร่วมมือสถาบันการเงินให้ดูแลการทำธุรกรรมเงินทุนระยะสั้นกับ Non-Resident (NR) แต่ได้ผลแคบ เพราะจำกัดเฉพาะที่ตลาดตราสารหนี้เป็นหลัก เลยไม่ค่อยเป็นข่าว หรือส่งผลทางจิตวิทยามากนัก สุดท้าย มาตรการนี้ จึงไม่ต่างอะไรกับการ “สั่งขี้มูก” แค่ทำให้การเก็งกำไรมันยากขึ้นอีกนิดเท่านั้นเอง แต่มันได้ส่งสัญญาณให้กับกองทุนต่างชาติเตรียมตัวว่าแบงก์ชาติเริ่มขยับแล้ว
3) ทางเลือกขั้นต่อไปที่แบงก์ชาติถูกคาดหมายว่าพึงกระทำ คือ ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดการเก็งกำไร แต่ยามนั้นแบงก์ชาติกำลังยึดมั่นกับกรอบวิธีคิดเรื่อง เป้าหมายเงินเฟ้อ ชนิดกอดคัมภีร์แน่น จึงให้ความสำคัญกับเรื่องเงินเฟ้อมากกว่าการส่งออกเป็นหลัก ทำให้ผลการประชุมคณะกรรมการทางการเงิน หรือ กนง.วันที่ 13 ธันวาคม 2549 ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP14) ไว้ที่ 5.00% ซึ่งถือว่าเซอร์ไพรส์ตลาดมาก เพราะสะท้อนมุมมองของ กนง. ที่เห็นว่า ถ้าลดอัตราดอกเบี้ยอาจก่อให้ปัญหาเงินเฟ้อ และเป็นมาตรการที่ได้ผลช้าเกินไป เนื่องจากการลดดอกเบี้ยนโยบายเพียงแค่ 0.25% แทบไม่มีผลอะไรต่อฟันด์โฟลว์ที่ไหลเข้ามาเก็งกำไร เพราะฉะนั้น กนง.เห็นว่า ต่อให้ลดอัตราดอกเบี้ย เงินก็ยังเข้ามาเก็งกำไรกันอยู่ดี
4) เมื่อไม่ยอมลดดอกเบี้ย มาตรการยาแรง (เลียนแบบชิลี และอาร์เจนตินาในอดีต) ก็ถูกนำมาทดลองใช้ หลังจากที่เงินบาทยังเดินหน้าแข็งค่าขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 9 ปีที่ระดับ 35.06 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในวันที่ 18 ธันวาคม 2549 ทำให้ต้องนำมาตรการควบคุมปริมาณเงินหรือcapital control ที่เรียกว่า “มาตรการ 18 ธันวาคม 2549” โดยออกคำสั่งเป็นมาตรการกันสำรองสำหรับเงินเก็งกำไรไหลเข้าของต่างชาติระยะสั้น 30% ถือเป็นยาแรงสุดที่เคยใช้มา
มาตรการกันสำรอง มีศัพท์เฉพาะเรียกว่า Reserve Requirement ซึ่งมีสองแบบคือ 1) Remunerated Reserve Requirement (RRR) คือ เงินที่สำรองไว้ ธนาคารกลางหรือแบงก์ชาติ จะจ่ายดอกเบี้ยให้ และ 2) Unremunerated Reserve Requirement: URR คือ เงินที่สำรองไว้ ธนาคารกลางหรือแบงก์ชาติ จะไม่จ่ายดอกเบี้ย ซึ่งไทยใช้แบบที่สอง
มาตรการยาแรงของแบงก์ชาติดังกล่าว ยังเข้มข้นต่ออีก เมื่อเงินก้อนที่ถูกกันสำรองไว้นี้ จะต้องถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 10% ของยอดเงินรวมที่นำเข้ามา (หรือภาษีเก็งกำไร 10%นั่นเอง) ด้วย
ผลลัพธ์ก็เกิดขึ้นอย่างที่ทราบกันดี (แม้หลายคนอาจจะลืมไปแล้ว แต่ยังหลอกหลอนแบงก์ชาติมาจนถึงวันนี้) โดยวันที่ 19 ธันวาคม กองทุนต่างชาติเทขายหุ้นในตลาดหุ้นไทยแบบ “สงครามสั่งสอน” จนดัชนีตลาดร่วงไปมากถึง 108 จุด และมาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นไทยหายวับไปทันที 8 แสนล้านบาท และยังขายพันธบัตรในตลาดตราสารหนี้อีกนับแสนล้านบาทในวันเดียว จนแบงก์ชาติและคลังต้องหาทางออกด้วยการยกเลิกมาตรการดังกล่าว เพื่อเอาใจทุนต่างชาติ สถานการณ์จึงกลับมาสู่ปกติ
ต่อมาภายหลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้ทำการประเมินผลย้อนหลังพบว่า แบงก์ชาติน่าจะขาดทุนจากการที่แบงก์ชาติเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทด้วยการซื้อดอลลาร์สหรัฐในตลาด Spot ที่มีการส่งมอบทันที ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2549 อีก 2 หมื่นล้านบาท
แล้วหากผสมเข้ากับการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนตลอดก่อนหน้านั้น จากระดับ 41 บาท เมื่อตอนต้นปี มาถึงที่ระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แบงก์ชาติน่าจะขาดทุนดอลลาร์ละ 5 บาท ทำให้ขาดทุนเพิ่มในส่วนนี้อีก 4.35 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมกับการขาดทุนในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2549 ไปแล้ว 7.5 หมื่นล้านบาท ทำให้ปี 2549 แบงก์ชาติน่าจะมีผลขาดทุนเกิดขึ้นแล้วเกือบ 140,000 ล้านบาท
การขาดทุนนี้ยังไม่รวมเข้ากับการที่แบงก์ชาติต้องออกพันธบัตร เพื่อมาดูดซับสภาพคล่องเงินบาท เป็นจำนวนเกือบ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งถ้าคิดถัวเฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยที่เพียงแค่ 5% ต่อปี แบงก์ชาติจะเกิดต้นทุนเป็นภาระดอกเบี้ยจ่ายปีละ 50,000 ล้านบาท
ฝันร้ายครั้งนั้น (แม้จะมีเจตนาดี แต่ผลลัพธ์ที่กลับขั้วเป็นประสงค์ร้าย) ทำให้ไม่มีการนำมาตรการควบคุมปริมาณเงินกลับมาใช้อีกเลย แต่ครั้งนี้ ที่น่าประหลาดคือ แม้ค่าบาทจะแข็งมากผิดปกติมากกว่าระดับวันที่ 18 ธันวาคม 2549 ด้วยซ้ำ กลับไม่มีมาตรการทั้งยาอ่อนและยาแรงใดมาส่งสัญญาณเลยว่า แบงก์ชาติจะไม่ปล่อยให้บาทแข็งต่อไป
คำถามถัดมาคือ แบงก์ชาติกำลังทำอะไรในตอนนี้ และจะใช้มาตรการอะไรมาจัดการรับมือบาทแข็งในอนาคตอันใกล้ ก่อนที่การส่งออกจะพังพินาศลงไป (สวนทางกับตลาดหุ้นที่เป็นขาขึ้นไม่หยุดอย่างผิดธรรมชาติ) ยังไม่มีคำตอบ