พาราสาวะถี อรชุน

คงไม่ใช่การเก็บอาการแต่น่าจะเป็นความต้องการเช่นนั้นจริงๆ กับการตอบคำถามนักข่าวของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่องเสียงเชียร์ให้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกสมัยหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า โดยออกตัวว่า ถ้าหาคนดีไม่ได้ค่อยมาคุยกัน นั่นเป็นเพราะความเป็นจริงของรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะไม่มีมาตรา 44 ในการจัดการทุกอย่างได้ดั่งใจเหมือนในปัจจุบัน


คงไม่ใช่การเก็บอาการแต่น่าจะเป็นความต้องการเช่นนั้นจริงๆ กับการตอบคำถามนักข่าวของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่องเสียงเชียร์ให้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกสมัยหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า โดยออกตัวว่า ถ้าหาคนดีไม่ได้ค่อยมาคุยกัน นั่นเป็นเพราะความเป็นจริงของรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะไม่มีมาตรา 44 ในการจัดการทุกอย่างได้ดั่งใจเหมือนในปัจจุบัน

ดังนั้น จึงถามต่อไปว่าด้วยท่วงทำนองเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ของบิ๊กตู่ หากจะต้องมานั่งบริหารโดยไร้อำนาจพิเศษอยู่ในมือ มันจะนำพาบ้านเมืองก้าวข้ามพ้นวิกฤติได้อย่างนั้นหรือ ซึ่งจุดนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หัวหน้าคสช.ต้องคิดหนัก หากจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปก็ต้องไม่จัดให้มีการเลือกตั้งจะได้ไม่มีรัฐบาลที่มาจากประชาชน

เมื่อไม่มีเลือกตั้งก็หมายความว่า อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ที่ถืออยู่นั้นยังคงมีอยู่และสามารถจัดการเรื่องต่างๆ ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากกว่า ด้วยเหตุนี้จึงน่าที่จะพออธิบายได้ว่า โอกาสที่บิ๊กตู่จะยอมเสียสัตย์เพื่อชาติคงเกิดขึ้นยาก แต่ประเด็นที่จะผลักดันเด็กหรือคนในคาถารายหนึ่งรายใดก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งในโควตานายกฯ คนนอกนั้น ตรงนี้มีความเป็นไปได้มากกว่า

บุคคลที่ถูกเพ่งเล็งมากที่สุดหนีไม่พ้น พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ เนื่องจากมองกันว่า น่าจะถึงเวลาที่น้องๆ ส่งพี่ให้ถึงฝั่งฝันเสียที แม้เจ้าตัวจะปฏิเสธหลายครั้งหลายหน ไม่มีความทะเยอทะยานถึงขนาดนั้น แม้กระทั่งวันครบรอบวันเกิดล่าสุดที่ยังยืนยันไม่เล่นการเมือง แต่หากสถานการณ์ทุกอย่างที่ถูกปูทางไว้แล้วเป็นใจให้ ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะปฏิเสธความปรารถนาดีนั้นได้

แต่อย่างที่บอกไว้ เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่องการวางกับดักและต่อท่อเพื่อการสืบทอดอำนาจ ซึ่งเรายังไม่ได้เห็นกฎหมายลูกว่าจะหน้าตาออกมาอย่างไร ทว่าด้วยข้อกล่าวหาที่หนักหน่วงเช่นนี้ โอกาสที่พี่ใหญ่จะอกหักก็มีสูง เช่นเดียวกับความเป็นไปได้กรณีที่บิ๊กตู่จะใช้พลเรือนข้างกายที่ไว้ใจมารับตำแหน่งนี้แทน

สูตรการเมืองหลังการเลือกตั้ง พรรคการเมืองใหญ่ทั้งเพื่อไทยและประชาธิปัตย์มองไม่ต่างกัน อย่างไรเสียก็หนีไม่พ้นต้องมีนายกฯ คนนอก เพียงแต่ว่าคนคนนั้นจะมีสีหรือไม่เท่านั้น ซึ่งหากต้องการความร่วมมืออันดีจากทุกฝ่าย หนีไม่พ้นต้องเป็นพลเรือนที่มีต้นทุนทางสังคมสูงอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะภาพลักษณ์อันเป็นที่ยอมรับในมิติด้านการทำงานแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

ต้องไม่ลืมว่า การเมืองหากเดินเข้าตำราที่คสช.และชาวคณะวางไว้ โอกาสที่จะกระดิกตัวทำอะไรคงลำบาก ดังนั้น ผู้นำที่จะเข้ามาจึงต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเพื่อให้บ้านเมืองก้าวข้ามพ้นวิกฤติเศรษฐกิจไปได้เสียก่อน เพราะหากยังจมปลักกันอยู่อย่างนี้ ต่อให้ประเทศชาติสงบ ไร้กลุ่มก้อนการเมืองเคลื่อนไหว แต่หากวันใดปัญหาปากท้องมันแย่จนเกินเยียวยา ถึงเวลาเมื่อเกิดการลุกฮือไม่ว่ารัฐบาลแบบไหนก็ยากที่จะเอาอยู่

เลือกตั้งครั้งหน้าถามว่ากลางปีตามที่บิ๊กตู่เคยประกาศจะเป็นไปได้ไหม ดูจากเงื่อนไขที่มีคำถามพ่วงของสนช.เข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องไปแก้กันอีกขยัก โรดแม็พเดิมจึงต้องขยับกันไปอีกรอบ วันนี้มีคำเฉลยมาจาก สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ชายเดี่ยว หากทุกอย่างเดินตามปฏิทินที่กกต.วางไว้ เชื่อได้ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในวันที่ 10 ธันวาคม 2560

เลื่อนกันไปถึงปลายปีหน้าทีเดียว แน่นอนว่าการหลุดเงื่อนเวลามากเช่นนี้ไม่น่าจะใช่การกางปฏิทินของกกต.ฝ่ายเดียว แต่คงมีสัญญาณมาจากผู้มีอำนาจด้วย เงื่อนเวลาที่ใช้วันที่ 10 ธันวาคมก็มีนัยความหมายอยู่ไม่น้อย เพียงแต่ว่า การวางเวลาไว้จนเกือบจะชนเอาปี 2561 ผู้มีอำนาจมั่นใจได้มากน้อยขนาดไหนว่ารายทางจะไม่มีเหตุการณ์อะไรมาเป็นอุปสรรค

หากยึดแนวทางเหมือนอย่างที่ถูลู่ถูกังกันมา ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ยิ่งมองไปยังความเคลื่อนไหวของบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ก็ไม่มีวี่แววว่าจะเกิดแรงกระเพื่อมใดมากดดันให้บิ๊กตู่และคณะผู้มีอำนาจต้องหวั่นไหว มีสิ่งเดียวที่อาจจะทำให้เกิดอาการสะดุดคือ เนื้อหาสาระของกฎหมายลูกที่จะมีการร่างโดย มีชัย ฤชุพันธุ์และคณะกรธ.

ที่ต้องจับตาดูกัน จะมีลูกเล่นหรือการยัดไส้อะไรไว้ในกฎหมายแต่ละฉบับ โดยเฉพาะการเลือกตั้งส.ส.ที่ใช้บัตรใบเดียว เนื้อหาสาระของกฎหมายลูกจะระบุเกี่ยวกับการกำหนดสัดส่วนส.ส.แบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ ที่จะต้องมีตัวเลขเข้ามาเกี่ยวข้อง อันจะเป็นการชี้วัดว่า สัดส่วนที่กำหนดมานั้นจะตีกันไม่ให้พรรคการเมืองใดได้ครองเสียงข้างมากใช่หรือไม่

หากเป็นไปในลักษณะมัดมือชกและทำให้พรรคการเมืองเสียเปรียบ ตรงนั้นนั่นแหละที่อาจจะเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดการเคลื่อนไหว รวมไปถึงการกำหนดอำนาจหน้าที่ของส.ว.ลากตั้ง แม้จะต้องทำให้สอดคล้องกับเนื้อหาในรัฐธรรมนูญหลักก็ตาม แต่ความเป็นเนติบริกรชั้นครู ก็ยังมีคนเป็นห่วงว่าจะเกิดการเล่นแร่แปรธาตุกันอีกระลอก

ต้องไม่ลืมว่า การลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญก็เหมือนการตีเช็คเปล่าให้กรธ.ทั้งคณะ จะนำไปทำอะไรก็ได้ในการเขียนกฎหมายลูก เพราะทั้งหมดไม่ต้องนำมาให้ประชาชนลงมติกันอีกแล้ว ไม่ว่าจะดีหรือเลวอย่างไร ฝ่ายผู้มีอำนาจก็จะอ้างเรื่องความชอบธรรมของเสียงส่วนใหญ่ คงต้องรอวัดใจกันเอาว่า มีชัยจะเปลี่ยนใจเขียนกฎหมายให้เป็นประชาธิปไตยหรือสืบทอดอำนาจเผด็จการเหมือนอย่างที่เคยทำมาทั้งชีวิต

ส่วนปมเซ็ตซีโร่การเมือง ถ้าฟังจากปากของกกต.สมชัยและความวุ่นวายที่รออยู่ข้างหน้า ความเป็นไปได้ก็น่าจะน้อย ในทางกลับกันกลับกลายเป็นว่าฝ่ายกกต.เสียเองที่ต้องการเซ็ตซีโร่ตัวเอง โดยสมชัยคนเดิมเตรียมจะชงให้มีการยกเลิกการแบ่งด้านการทำงานของกกต.แต่ละคน รวมทั้งการเพิ่มจำนวนกกต.จาก 5 คน เป็น 7 คน

โดยเหตุผลที่สมชัยอ้างว่าต้องเพิ่มจำนวนนั้น เพื่อให้การทำงานมีลักษณะเป็นองค์คณะ มีกระบวนการคิดและตัดสินใจที่มีความรอบคอบมากขึ้น ซึ่งก็เกิดปุจฉาตามมาว่า ขนาดมี 5 คนยังวุ่นวายและทำตัวเป็นองค์กรไม่อยากจัดการเลือกตั้งขนาดนี้ แล้วการมีเพิ่มมาอีก 2 คนมันจะไม่เป็นปัญหาหนักเข้าไปอีกหรือ สรุปแล้วก็คือ คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นในการทำงานของกกต.ชุดนี้ ผลจากการลงประชามติล่าสุดที่พิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญแจกประชาชนไม่ทันและการประชาสัมพันธ์ก็เข้าขั้นห่วยแตก น่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนที่สุด

Back to top button