ผีเสื้อกระพือปีกพลวัต 2016
หลายเดือนมานี้ ความเชื่อที่ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะไม่มีวันยอมให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นอีก เจือจางลงไปอย่างมาก จนหลายคนเริ่มทำท่าเชื่อมากขึ้นว่าจะไม่เป็นความจริงอีกต่อไป แต่ความเชื่อดังกล่าว จะถูกทำลายลงไปอีกครั้งนับแต่วานนี้
วิษณุ โชลิตกุล
หลายเดือนมานี้ ความเชื่อที่ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะไม่มีวันยอมให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นอีก เจือจางลงไปอย่างมาก จนหลายคนเริ่มทำท่าเชื่อมากขึ้นว่าจะไม่เป็นความจริงอีกต่อไป แต่ความเชื่อดังกล่าว จะถูกทำลายลงไปอีกครั้งนับแต่วานนี้
แปลกแต่จริง คนที่จุดประกายให้ความเชื่อเก่าแก่กลับคืนมา กลับไม่ใช่ผู้ว่าการธนาคารกลางของญี่ปุ่น นาย คุโรดะ ที่รับผิดชอบนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนโดยตรง แต่เป็น นายมาซาสึกุ อาซาคาวะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่น
นายอาซาคาวะ กล่าวว่า ญี่ปุ่นไม่มีทางเลือกนอกจากลงมือดำเนินการ หากเงินเยนพุ่งสูงขึ้นเกินไป ซึ่งถูกตีความว่าเป็นการส่งสัญญาณถึงการสกัดเงินเยนแข็งค่า
ดอลลาร์แข็งค่าเล็กน้อยทันที เมื่อเปิดตลาดเช้าวานนี้ บวกแตะกรอบกลาง 100 เยนในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตราโตเกียว ส่งสัญญาณเตือนว่า เวลาค่าเงินเยนแข็ง เริ่มต้นนับถอยหลังแล้ว
รัฐมนตรีช่วยคลังแสดงความเห็นแบบเหลืออดเหลือทน ที่ไม่ได้พูดเรื่องแค่นโยบายการคลัง แต่กลับพูดนโยบายการเงินที่ปกติถือเป็นอำนาจของธนาคารกลาง ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับการเมืองในญี่ปุ่น ที่กระทรวงการคลังสามารถครอบงำธนาคารกลางได้ โดยไม่ถูกข้อหาว่า “แทรกแซงความเป็นอิสระของธนาคารกลาง” เหมือนบางประเทศ
ท่าทีของ นายอาซาคาวะ ถือว่าเป็นการวิพากษ์โดยตรงของความโลเลของนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ที่ออกมาขู่แบบไร้น้ำยาหลายครั้งในปีที่ผ่านมาว่า จะจับตาดูผลกระทบของสกุลเงินเยนที่มีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและราคาอย่างใกล้ชิด พร้อมจะใช้มาตรการที่จำเป็นโดยไม่ลังเล เพื่อสร้างเสถียรภาพให้ตลาด
นายคุโรดะ พูดทำนองเดียวกันซ้ำซาก โดยไม่ทำอะไรเลยเป็นชิ้นเป็นอัน นับตั้งแต่ค่าเงินเยนสูงกว่า 103 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ จนล่าสุดมาอยู่ที่ระดับ 100 เยนต่อดอลลาร์ บางวันก็ทำท่าหลุดลงอีก ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรติดลบ และราคาพันธบัตรแพงลิ่ว
แม้จะยังไม่ชัดเจนว่า แรงกดดันให้นายคุโรดะต้องเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนครั้งล่าสุด จะมีผลจริงจังหรือไม่ แต่ก็ตอกย้ำอีกครั้งว่า ท้ายที่สุดแล้ว สงครามค่าเงินอาจจะเลี่ยงไม่พ้นในเร็ววันนี้ เพราะสิ่งที่เรียกว่า “ดุลยภาพของค่าเงิน” นั้น ไม่เคยมีจริง โดยเฉพาะเมื่อเชื่อมโยงเข้ากับปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่นๆ
ค่าเงินเยนอ่อน เคยเป็นหนึ่งในอาวุธสำหรับสร้างการแข่งขันที่การค้ามายาวนาน เมื่อใดก็ตามที่เงินเยนแข็งค่า หายนะครั้งใหญ่ของญี่ปุ่นจะเกิดขึ้นเป็นฝันร้ายเสมอ โดยมีบทเรียนสำคัญจากข้อตกลงโรงแรมพลาซ่าในนิวยอร์ก ค.ศ. 1985
หลังจากสหรัฐฯฉีกข้อตกลงเบรตตัน วูด เพราะผลพวงทางลบของสงครามเวียดนาม ใน ค.ศ. 1971 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นหาประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวด้วยการกดค่าเงินเยนให้ต่ำที่ระดับเหนือ 240 เยนต่อดอลลาร์มายาวนาน จนกระทั่ง สหรัฐฯทนไม่ไหวกับปัญหาค่าดอลลาร์แข็งจนขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรังนานถึง 5 ปี ระหว่าง ค.ศ.1980-1985 โดยดุลบัญชีเดินสะพัดในกลางปี 1985 ขาดดุลถึง 3.5% ของจีดีพี เข้าขั้นอันตราย และบริษัทอเมริกันขายสินค้าไม่ออก ในขณะที่สินค้านำเข้าตีตลาดกระจุยกระจาย
แรงกดดันทำให้ทำเนียบขาวจำต้องเรียกประชุม 5 ชาติมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกยามนั้นที่โรงแรมพลาซ่า นิวยอร์ก เพื่อหาทางออกค่าดอลลาร์แข็งเกิน ยื่นข้อเสนอให้ชาติมหาอำนาจอีก 4 แห่งเลือกเอาว่า หากไม่ต้องการให้ร่างกฎหมายปกป้องการค้าผ่านรัฐสภาอเมริกันตามข้อเรียกร้องของนักการเมืองในรัฐสภา ชาติต่างๆ ต้องยินยอมช่วยกันขายเงินดอลลาร์อเมริกันที่ถือไว้ออกจากมือ เพื่อให้ดอลลาร์เสื่อมค่าลง โดยยอมแลกกับความเสียหายจากการส่งออกของทั้ง 4 ชาติ
หลังข้อตกลงดังกล่าว เงินเยนแข็งค่ารุนแรงจากระดับเหนือ 240 เยนต่อดอลลาร์ก่อนข้อตกลง เหลือเพียงแค่ 120 เยนต่อดอลลาร์ภายใน 2 ปี ทำให้กลุ่มทุนญี่ปุ่นเจอปัญหา 2 ด้านพร้อมกัน ด้านหนึ่งต้นทุนการผลิตของโรงงานในประเทศเพิ่มขึ้นมหาศาล ไม่สามารถทานทนต่อไป กับอีกด้านกำลังซื้อของค่าเงินเยนในตลาดโลกเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว
ด้านแรก ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายฐานผลิตของทุนอุตสาหกรรม ปิดโรงงานในญี่ปุ่นมหาศาล เพื่อย้ายไปผลิตในประเทศอื่นๆ เช่นสหรัฐฯ อาเซียน เม็กซิโก เปรู และบราซิล รวมทั้งมีส่วนทำให้เศรษฐกิจไทยช่วงปี ค.ศ.1987-1992 เฟื่องฟูรุนแรงจากการหลั่งไหลเข้าของทุนโดยตรงของญี่ปุ่น เจอส้มหล่นทางนโยบายกะทันหัน เผชิญกับปัญหา “เศรษฐกิจร้อนแรงเกินขนาด” ช่วงหนึ่งจนเป็นที่มาของการรัฐประหารปี ค.ศ. 1991
อีกด้านหนึ่งทุนการเงินญี่ปุ่น พากันหลั่งไหลออกต่างประเทศเพราะภาวะ “มหาอำนาจเงินเยน” (Yen Power) เข้าซื้อกิจการทุกอย่างที่ขวางหน้าในสหรัฐอเมริกา นับแต่โรงงาน บริษัทในตลาดหุ้น และอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก แต่ที่โด่งดังเป็นสัญลักษณ์ยามนั้นคือ การเข้าซื้ออาคารสำนักงานใจกลางนิวยอร์ก ร็อกกี้เฟลเลอร์ เซ็นเตอร์ ที่ทำให้ขวัญของคนอเมริกันหล่นไปกองที่ปลายเท้าระยะหนึ่ง เพราะทำใจไม่ได้
การแข็งค่าของเงินเยน ที่ตามมาด้วยผลกระทบในประเทศ เกิดเป็นฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในประเทศ และภาวะฟองสบู่เศรษฐกิจแตกในเวลาต่อมาจนต้องจมปลักกับภาวะเงินฝืดยาวนานกว่า 20 ปีจนถึงปัจจุบัน และธนาคารกลางญี่ปุ่นมักจะเลือกขอเป็นตัวการ “ปรับดุลยภาพค่าเงินเยน” มาตลอดด้วยการแทรกแซงค่าเงินเยนให้เทียบกับดอลลาร์ในระดับรอบๆ 120 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ มาจนถึงทุกวันนี้
เพิ่งจะมาเกิดขึ้นในต้นปีนี้ ต่อเนื่องมาจนถึงล่าสุด ที่ทำให้นอกจากตลาดหุ้นญี่ปุ่นอยู่ในสภาพผะอืดผะอม เพราะธุรกิจส่งออกญี่ปุ่นจะกำไรลดลง ไม่มีท่าทีว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะออกมาให้บทเรียนสั่งสอนกองทุนเฮดจ์ฟันด์เหมือนที่เคยกระทำมาในหลายปีก่อนหน้า ซึ่งผิดวิสัยยิ่ง
ผลลัพธ์คือ นักลงทุนรายใหญ่และสถาบันพากันทิ้งหุ้น หันไปหาตลาดพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ส่งผลให้ราคาพันธบัตรวิ่งขึ้น และอัตราผลตอบแทน (บอนด์ยีลด์) ปิดร่วงสู่ระดับนิวโลว์สร้างประวัติการณ์ใหม่ซ้ำซาก
หากผู้บริหารธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับท่าที ตามแรงกดดันทางการเมือง ให้เยนอ่อนลง ประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟดฯ) กำลังชั่งน้ำหนักว่ามีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยุคของเงินเยนแข็งที่ดำเนินมาหลายเดือน ก็จะจบสิ้นลง
หากเป็นเช่นนั้นจริง ตลาดเงินโลกก็จะวุ่นวายปั่นป่วนอีกครั้ง เสมือนผลสะเทือนผีเสื้อ หรือ Butterfly Effect อันลือลั่น