ฝันอันสุ่มเสี่ยง(ครั้งใหม่)พลวัต 2016
วันศุกร์ที่ 12 และจันทร์ที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ของจีน บวกแรงมากต่อเนื่อง ใช้เวลา 2 วันทำการบวกแรงมากถึง 137 จุดเศษ หรือ 4.57% เพราะข่าวเรื่องของการที่คณะรัฐมนตรีจีนมีมติอนุมัติให้มีการควบรวมการซื้อขายของตลาดหุ้นเซินเจิ้นและฮ่องกงเข้าด้วยกัน
วิษณุ โชลิตกุล
วันศุกร์ที่ 12 และจันทร์ที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ของจีน บวกแรงมากต่อเนื่อง ใช้เวลา 2 วันทำการบวกแรงมากถึง 137 จุดเศษ หรือ 4.57% เพราะข่าวเรื่องของการที่คณะรัฐมนตรีจีนมีมติอนุมัติให้มีการควบรวมการซื้อขายของตลาดหุ้นเซินเจิ้นและฮ่องกงเข้าด้วยกัน
ความร้อนแรงของตลาดหุ้นดังกล่าว ถือเป็นการวิ่งขึ้นร้อนแรงที่สุดในรอบ 5 เดือนเลยทีเดียว เกิดจากความเชื่อแบบประเมินล่วงหน้าเอาเองของนักลงทุนในตลาดว่าจากนี้ไป ปริมาณการซื้อขายที่เคยถูกจำกัดด้วยพรมแดนจะหมดไป ทั้งที่ว่าไปแล้ว กำหนดการที่จะให้มีการควบรวม และกติกาอื่นๆ ยังไม่ได้กำหนดขึ้นมาด้วยซ้ำ
นักลงทุนและนักวิเคราะห์จำนวนมากเชื่อว่า การควบรวมหรือเชื่อมโยง 2 ตลาดเข้าด้วยกันนี้ จะใช้เวลาไม่นานนัก เพราะมีกรณีศึกษาจากการเชื่อมโยงเมื่อ 2 ปีก่อนของตลาดหุ้นฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้เข้าด้วยกันเป็นต้นแบบมาแล้ว สามารถที่จะศึกษาข้อดี-ข้อด้อยของการเชื่อมโยงการซื้อขายข้ามตลาดได้คล่องแคล่วกว่าก่อนหน้านี้
ประเด็นปัญหาที่ยังไม่มีใครให้คำตอบได้คือ ปรากฏการณ์ฟองสบู่ตลาดหุ้นเมื่อปลายปี 2557 ต่อเนื่องถึงกลางปี 2558 แบบที่เคยเกิดกับตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และฮ่องกง จนทำให้ทางการจีนต้องเข้ามาแก้ปัญหาวุ่นวายว่าจะมีการสร้างมาตรการป้องปรามล่วงหน้าได้ดีเพียงใด โดยยอมให้มีปรากฏการณ์ “ฝันอันสุ่มเสี่ยง” ครั้งใหม่เกิดขึ้นน้อยลง
มองย้อนหลังกลับไปถึงกรณีการเชื่อมโยงตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และฮ่องกง หรือ (Hongkong-Shanghai trading link) เข้าด้วยกันที่เกิดขึ้นปลายปี 2557 ซึ่งตามแผนการดังกล่าว มีปลายทางอยู่ที่การผนวกให้กลายเป็นตลาดเดียวกันในระยะต่อไป เพื่อรองรับการเปิดเสรีค้าหุ้นในรูปของเงินหยวน ซึ่งท้ายที่สุดก็จะทำให้เงินหยวนกลายเป็นเงินสกุลหลักของตลาดหุ้นโดยปริยาย รองรับยุทธศาสตร์ทำให้เงินหยวนกลายเป็นเงินสกุลสากลของโลกในระยะยาว
ก่อนหน้าการเชื่อมโยง ตลาดหุ้นฮ่องกงมีมูลค่าการตลาดและมูลค่าซื้อขายประจำวัน ในระดับ 1-5 ของตลาดหุ้นโลกอยู่แล้ว และข้อมูลสำรวจโดย BIS ก็พบว่า กระแสหมุนเวียนของเงินหยวนในตลาดเงินโลกปัจจุบัน อยู่ที่ประมาณ 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่ำมากเกิน เมื่อเทียบกับสกุลเงินสากลอื่นๆ แม้จะเติบโตในอัตราเร่ง
ก่อนการเชื่อมโยง ทางการจีนได้สร้างมาตรการรองรับล่วงหน้า โดยผ่อนคลายข้อกำหนดให้กองทุนรวมในยุโรปและสหรัฐ ตั้งกองทุนที่ไปลงทุนในต่างประเทศ (FIF-Foreign Investment Fund) ซึ่งอ้างอิงกับค่าเงินหยวน และบริษัทค้าเงินตราระหว่างประเทศหลายแห่ง รวมทั้งทดลองออกแบบสร้างตลาดตราสารอนุพันธ์ค่าเงินหยวน (yuan derivatives) ตั้งแต่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557
แผนการเชื่อมโยงตลาดหุ้น ถูกวาดไว้สวยหรูว่า จะทำให้ปริมาณหมุนเวียนของทุนเก็งกำไรในตลาดหุ้นทั้งสองแห่งเพิ่มขึ้นเป็น 3.8 พันล้านดอลลาร์ หรือ 2.35 หมื่นล้านหยวนต่อวัน แต่เมื่อถึงเวลาเข้าจริง นักลงทุนกลับมีมุมมองว่า วงเงินซื้อขายที่ประเมินล่วงหน้า ต่ำเกินไป
ข้อจำกัดของการส่งคำสั่งซื้อขายข้ามตลาดทั้งสองแห่งไว้ไม่เกินวันละ 10.5 หมื่นล้านหยวน หรือ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในระยะแรกอาจไม่มีปัญหา แต่เมื่อนักลงทุนเริ่มคุ้นเคย การส่งคำสั่งซื้อขายข้ามตลาดทำให้โควตาดังกล่าวน้อยเกินไป
ความเฟื่องฟูของตลาด จึงเกินเลยจะควบคุมได้ด้วยกฎกติกาที่ไม่เพียงพอ ทำให้ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2557 นักลงทุนต่างชาติ และจีน ที่พากันหลั่งไหลเข้าซื้อขายโดยส่งคำสั่งข้ามตลาดไปมา ได้ทำให้ ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้กลายเป็นตลาดหุ้นที่ร้อนแรงมากที่สุดในเอเชีย และต่อมาในโลก ดัชนีตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ทะยานจากระดับ 2,000 จุด จนถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2558 ไปที่ระดับ 5,000 จุด
มูลค่าซื้อขายประจำวันของตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้เริ่มแซงหน้าตลาดหุ้นวอลล์สตรีทมากกว่า 3 เท่าตั้งแต่กลางเดือนมกราคม 2558 โดยที่บรรดากองทุนต่างชาติพากันกอบโกยกำไรกันหลายรอบ และนักลงทุนจีนที่แปลงกลายมาจากนักเก็งกำไรตลาดอสังหาริมทรัพย์ก่อนหน้า พากันดาหน้าเข้ามาสู่ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ และบางส่วนข้ามไปตลาดฮ่องกง จนตลาดทั้ง 2 แห่งถูกครอบงำด้วยปัจจัยจากจีนเป็นหลัก
ความร้อนแรงชนิดไม่คาดฝันของตลาดหุ้น เป็นผลพวงที่เกินคาด มีผลทำให้ ค่าพี/อีของตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้สูงกว่า 25 เท่า และ ตลาดหุ้นฮ่องกงที่ระดับ 20 เท่า เป็นปรากฏการณ์ “จีนตื่นหุ้น” ทำให้นักลงทุนพากันร่ำรวยกันชั่วขณะแบบ “สามล้อถูกหวย” ตามๆ กัน แม้ว่าการซื้อขายแบบ “ปาเป้า” ก็ตาม
ความบ้าคลั่งของ “จีนตื่นหุ้น” ดำเนินไปได้ถึงกลางเดือนมิถุนายน ฟองสบู่ก็แตก จนทางการจีนต้องเข้ามาแทรกแซงถึงขั้นล้างผลาญทุนสำรองเงินตรามากกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อประคองให้ดัชนีมีเสถียรภาพที่ระดับ 3,000 จุด
ความสุ่มเสี่ยงจากการเชื่อมโยงตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ และฮ่องกงที่ผ่านมา ได้ให้บทเรียนที่ล้ำค่ามากก็จริง แต่ก็ยังไม่เพียงพอในการสร้างตลาดทุนรองรับอนาคต ทำให้ทางการจีนเริ่มมองหาทางขยายทางเลือกในการขับเคลื่อนตลาดทุนอีกครั้ง ผ่านการเชื่อมโยงการซื้อขายข้ามตลาดระหว่างเซินเจิ้น กับฮ่องกง โดยหวังว่าจะสามารถใช้บทเรียนเก่าเพื่อป้องกันปัญหาล่วงหน้า
การกระทำดังกล่าว แม้จะเป็นการเปิดความเสี่ยงครั้งใหม่ แต่ก็จำเป็น เพราะจีนต้องเปิดตลาดทุนจีนให้กับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อให้พฤติกรรมของนักลงทุนในอดีตที่คุ้นเคยกับการเก็งกำไรข้ามตลาดระยะสั้น โดยอาศัยส่วนต่างราคาหุ้น A-Share กับ H-Share (Arbitrage ) หันมาถือหุ้นในระยะยาวมากขึ้น ช่วยทำให้ตลาดหุ้นเพิ่มเสถียรภาพ
เสถียรภาพและความเสี่ยง อาจจะเป็นขั้วตรงข้ามกันสำรับตลาดเก็งกำไรทุกชนิด แต่มันก็เป็น “คนละด้านของเหรียญ” ที่ขาดไม่ได้ และไม่มีทางเลือกอื่นๆ มากนัก