พาราสาวะถี อรชุน
เชื่อแน่ว่า หลายคนที่มีใจเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งสีใด คงจะสะเทือนใจไม่น้อยกับภาพข่าวแม่และน้องสาวของ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นั่งคุกเข่าวิงวอนร่ำไห้ ขวางรถที่จะนำลูกชายจากเรือนจำภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ไปศาลทหารจังหวัดขอนแก่น เพียงเพื่อขอพบลูกชายแค่แป๊บเดียว เพื่อให้ลูกได้เซ็นเอกสารลงทะเบียนเรียน
เชื่อแน่ว่า หลายคนที่มีใจเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งสีใด คงจะสะเทือนใจไม่น้อยกับภาพข่าวแม่และน้องสาวของ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นั่งคุกเข่าวิงวอนร่ำไห้ ขวางรถที่จะนำลูกชายจากเรือนจำภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ไปศาลทหารจังหวัดขอนแก่น เพียงเพื่อขอพบลูกชายแค่แป๊บเดียว เพื่อให้ลูกได้เซ็นเอกสารลงทะเบียนเรียน
ไผ่ได้รับการประกันตัวจากศาลจังหวัดภูเขียว แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ขอนแก่น ก็ตามมาอายัดตัวด้วยข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 กรณีชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ในกิจกรรมครบรอบ 1 ปีการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว โดยได้นำตัวไปขึ้นศาลทหารที่จังหวัดขอนแก่นทันที ซึ่งศาลก็ใจดีเปิดศาลพิจารณาคดีในเวลา 2 ทุ่ม
กรณีการดำเนินการของเจ้าหน้าที่มีเสียงวิจารณ์รอบทิศ ไม่ต้องพูดถึงองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศ แต่ดูเหมือนว่าผู้มีอำนาจไม่ได้แยแสต่อเสียงต่างๆ เหล่านั้น อย่างไรก็ตาม หนึ่งเสียงที่ออกมาล่าสุดถือว่าน่าสนใจไม่น้อย นั่นก็คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำคนสำคัญของพรรคเพื่อไทย ที่องค์รัฏฐาธิปัตย์เคยเอ่ยปากชมว่าเป็นนักการเมืองที่น่ายกย่อง
ขณะเดียวกันเจ้าตัวก็ถูกมองว่ามีสายสัมพันธ์อันดีกับคนมีสีมาโดยตลอด แต่การออกมาวิจารณ์หนนี้ของเจ๊หน่อยส่วนหนึ่งเป็นเพราะความเป็นแม่ ที่ทนเห็นภาพอันสุดรันทดของแม่ไผ่และน้องสาวไม่ได้ ขณะที่ในมิติทางการเมือง เจ้าตัวก็ตั้งคำถามว่า วันนี้กำลังเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย เกิดอะไรขึ้นกับผู้มีอำนาจ
แค่เด็กนักศึกษาคนหนึ่งที่มีอุดมการณ์ ความเชื่อและศรัทธาในสิทธิที่เสมอกันของประชาชน แต่กลับได้รับการปฏิบัติเสมือนเป็นผู้ก่อการร้ายที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศอย่างร้ายแรง ขอย้ำว่าความมั่นคงของประเทศ ไม่ใช่ความมั่นคงของรัฐบาล กลุ่มดาวดินคือกลุ่มนักศึกษาที่เคลื่อนไหวเพื่อปกป้องและเรียกร้องความเป็นธรรมและสิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ภาคอีสานมานานแล้ว
ครั้งนี้จึงไม่ใช่ครั้งแรกที่ไผ่ ดาวดินออกมาเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องและรักษาสิทธิของชุมชน เมื่อเดือนกันยายน 2556 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เขาและเพื่อนนักศึกษาก็ออกมานั่งคุกเข่าตากฝนเพื่อกันไม่ให้ตำรวจเข้าไปจับกุมประชาชนผู้ชุมนุมคัดค้านเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดเลยมาแล้ว ในครั้งนี้ที่ไผ่ถูกกล่าวหาทั้งการแจกเอกสารแสดงความเห็นต่างในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ และการชูป้ายแสดงเชิงสัญลักษณ์เพื่อคัดค้านการรัฐประหาร ซึ่งจะไม่เป็นความผิดเลยในยามที่บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยและใช้กฎหมายปกติ
เพราะเป็นการแสดงออกอย่างสันติบนพื้นฐานของสิทธิของคนไทยคนหนึ่งที่พึงมี ตามความศรัทธาและความเชื่อในอุดมการณ์ของตนเอง มิได้ทำผิดศีลธรรมหรือทำสิ่งใดในการเบียดเบียนหรือทำร้ายผู้อื่นใดๆ เลยไผ่มีความผิดตามกฎหมายในช่วงอำนาจพิเศษนี้ก็ดำเนินคดีไป แต่ต้องให้ความยุติธรรมอย่างเสมอภาค และควรได้รับการปฏิบัติอย่างมีเมตตาธรรมตามสมควร แบบที่ผู้ถูกกล่าวหาทั่วไปพึงได้รับ
เมตตาธรรมในหัวใจของผู้ใหญ่ผู้มีอำนาจในสังคมไทยหายไปไหนหมด เพียงแค่เด็กนักศึกษาที่มีความคิด มีอุดมการณ์ต่างจากผู้มีอำนาจ โดยมิได้มีอาวุธใดๆ นอกจากปัญญาของเขา ก็ต้องใช้อำนาจอันยิ่งใหญ่ที่มีไปสร้างความทุกขเวทนาให้เขาและครอบครัวถึงเพียงนี้หรือ ไม่เพียงเรียกร้องถามหาความยุติธรรมเท่านั้น เจ๊หน่อยยังคารวะและยกย่องในหัวใจที่กล้าหาญและแข็งแกร่งของไผ่ด้วย
จะว่าไปแล้ว กรณีการดำเนินคดีกับกลุ่มนักศึกษาที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ได้มีเฉพาะรายของไผ่ เนื่องจากก่อนหน้านั้น รังสิมันต์ โรม พร้อมพวกก็ถูกจับกุมคุมขังมาแล้วก่อนที่จะได้รับการประกันตัว บนความกลัวของผู้มีอำนาจที่เกรงว่ายิ่งมีเสียงคัดค้านมากยิ่งจะส่งผลเสียหายต่อการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
นี่รวมไปถึงการที่กสทช.มีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์ของพีซทีวีเป็นเวลา 30 วันในช่วงที่กำลังเข้าสู่จุดไคลแม็กซ์ของการทำประชามติด้วย ผู้มีอำนาจคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มีส่วนรู้เห็น เพราะการใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ให้อำนาจกสทช.และกสท.สามารถสั่งปิดสถานีโทรทัศน์และวิทยุโดยไม่มีความผิด ในจังหวะที่สถานีโทรทัศน์ของคนเสื้อแดงไปร้องต่อศาลปกครองก็เป็นเครื่องสะท้อนเจตนาชัดเจน
ด้วยเหตุนี้ความพยายามที่สมาชิกสปท.และสนช.บางรายไม่ว่าจะเป็น วันชัย สอนศิริ หรือ สมชาย แสวงการ จะเอ่ยอ้างเจตนารมณ์ของประชาชนที่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญพร้อมคำถามพ่วง รวมถึงการแถไปถึงกรณีให้ส.ว.ลากตั้งสามารถเสนอชื่อนายกฯ ได้ด้วย ก็ชวนให้เกิดข้อคำถามตามมาว่า สิ่งที่กล่าวอ้างนั้นแท้จริงแล้วมีความชอบธรรมหรือไม่
หากจะมองไปยังจุดยืนหรือเหตุผลในการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ชัดเจนว่า ฝ่ายไม่รับไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นปช. หรือกลุ่มขบวนการต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีเหตุผลเดียวกันคือ มีข้อบกพร่องในร่างรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ยึดโยงประชาชน เรียกได้ว่า สามารถอธิบายเป็นไปในทิศทางเดียวกันได้
ขณะที่ฝ่ายรับนั้น ถามว่าเป็นไปในท่วงทำนองเดียวกันหรือไม่ เชื่อได้เลยว่า คงไม่ใช่เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีเลิศประเสริฐศรี หากแต่จำนวนไม่น้อยเลือกที่จะไปรับเพื่อให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยเร็ว เพราะเบื่อกับบรรยากาศที่เป็นอยู่ในเวลานี้อันส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และปากท้องของตัวเอง
ขณะเดียวกันก็เกรงกันว่า หากไม่รับแล้วก็จะเป็นเหตุให้หัวหน้าคณะรัฐประหารอยู่ในอำนาจต่อไปอีกยาวนาน หรือบางพวกก็ไปรับเพราะไม่อยากเป็นพวกเดียวกับนปช.หรือคนเสื้อแดงที่แสดงตัวชัดเจนว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ สิ่งเหล่านี้แม้ผู้มีอำนาจจะทำหูทวนลมแล้วอ้างความชอบธรรมเพื่อให้ตัวเองได้อยู่ในอำนาจอย่างสง่างาม แต่ถามว่าในทางปฏิบัติท่านสามารถยืดอกไปพูดคุยกับนานาประเทศที่เป็นประชาธิปไตยได้อย่างนั้นหรือ
เหล่านี้คือความเป็นจริง ความจริงที่ว่า ถ้าคิดว่าเสียงกว่า 16 ล้านเสียงคือความชอบธรรม ก็ให้เดินหน้าทำทุกอย่างได้ตามอำเภอใจ จะให้ส.ว.เสนอชื่อนายกฯ หรือจะเขียนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกีดกันนักการเมืองและพรรคการเมืองอย่างไรก็ทำได้ตามที่สบายใจ แต่เชื่อได้เลยว่า ในใจของผู้มีอำนาจย่อมรู้ดี ระยะเวลาที่เหลือตามโรดแม็พนั้นไม่ใช่หนทางที่จะเดินไปสู่ถนนสายประชาธิปไตย หากแต่รายทางเต็มไปด้วยกับระเบิดที่ไม่รู้ว่าจะปะทุขึ้นมาวันใด