ปีศาจนักบุญพลวัต 2016

กรณีหุ้น MAX ที่มีการ "ทุบแรง" เมื่อวันพุธและพฤหัสบดีของสัปดาห์ที่ผ่านมา มีลักษณะที่โยงใยเข้ากับการทำธุรกรรมหุ้นข้ามประเทศที่น่าสนใจที่เป็นรูปธรรม และเคยเกิดขึ้นกับหุ้นอย่าง CYBER เมื่อต้นปี 2558 แบบ "คนละเรื่องเดียวกัน"


กรณีหุ้น MAX ที่มีการ “ทุบแรง” เมื่อวันพุธและพฤหัสบดีของสัปดาห์ที่ผ่านมา มีลักษณะที่โยงใยเข้ากับการทำธุรกรรมหุ้นข้ามประเทศที่น่าสนใจที่เป็นรูปธรรม และเคยเกิดขึ้นกับหุ้นอย่าง CYBER เมื่อต้นปี 2558 แบบ “คนละเรื่องเดียวกัน”

ด้วยเหตุผลบางประการ เรื่องราวต่อไปนี้ จึงเป็นนิทานสอนใจนักลงทุนว่า อย่า “เล่นกับไฟ” โดยที่นิทานที่จะเล่านี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร หรือโยงถึงบุคคลใดที่เกี่ยวข้องกับ MAX หรือ CYBER ดังนั้นจึงไม่ควรเข้าใจว่าเกี่ยวข้องกัน

นักเล่นหุ้นขาใหญ่ที่ช่ำชองคนหนึ่ง ผ่านกระบวนการสะสมวิชามารในตลาดหุ้นมาโชกโชนทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ต้องการเข้าเทกโอเวอร์หุ้นเน่าๆ ที่หยุดเทรดในตลาดมานานด้วยฐานะการเงินเลวร้าย เพื่อหากำไรจั๋งหนับ

ด้วยความร่วมมือของที่ปรึกษาการเงิน (จริงหรือเถื่อนก็ได้) ชักพาให้ขาใหญ่คนนี้ไปเจอะเจอกับ “กองทุนนักบุญ” ซึ่งเสนอตัวเข้ามาจัดหาแหล่งเงินกู้เพื่อซื้อขายกิจการด้วยเงื่อนไขที่ทำเอาขาใหญ่ “ตาลุก ขนแขนสแตนด์อัพ”

เงื่อนไขดังกล่าวคือ ปล่อยเงินกู้ให้ตามต้องการเพื่อซื้อหุ้นเป้าหมายโดยใช้หุ้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 4% ต่อปี ทำให้ขาใหญ่ไม่ต้องใช้เงินสดแม้แต่บาทเดียว

ถ้อยคำสวยหรูที่ใช้กล่อมหูขาใหญ่ (โดยมีที่ปรึกษาการเงินในประเทศหรือส่วนตัว เป็นคนเชียร์แขก) ระบุว่ากระบวนการปล่อยกู้แบบใช้หุ้นบริษัทค้ำประกัน (stock-based loans) ของกองทุนนักบุญ (ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทกระดาษ หรือ shell company ที่จดทะเบียนในศูนย์กลางการเงินออฟชอร์ของโลกเช่น เกาะเคย์แมน เกาะบาฮามัส หรือ เกาะบริติชเวอร์จิ้น) ช่วยให้นักลงทุนที่อยากซื้อกิจการโดยไม่ต้องมีเงินสด หรือไม่ต้องอาศัยแหล่งเงินทุน สามารถเปิดทางให้มูลค่าของหุ้นเคลื่อนไหวอย่างเสรี ด้วยการเข้าถึงสภาพคล่องภายใต้เงื่อนไขที่น่าสนใจ

พวกเขาเรียกกระบวนการนี้ว่า โซลูชั่นแห่งนวัตกรรมการซื้อขายกิจการ (the solution of M&A innovation)

เมื่อดีลสามารถบรรลุข้อตกลงได้ และผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทที่ตกเป็นเป้าหมายเข้าซื้อ ยินยอมขายหุ้นให้เพื่อจากไป เปิดทางให้ขาใหญ่เข้าเทกโอเวอร์ เงื่อนไขการปล่อยกู้ของกองทุนนักบุญจะตกลงกับขาใหญ่ (รายเดียวหรือกลุ่มเดียวกันแต่หลายชื่อหรือหลายหุ้นส่วน) จะเริ่มต้นโดยขาใหญ่เอาหุ้นที่ซื้อมาไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน

หุ้นที่เหลือจากส่วนค้ำประกัน จะกระจายไปตามคนเกี่ยวข้อง เช่น ที่ปรึกษาการเงิน หรือหุ้นส่วน หรือคนอื่นๆ ที่ร่วมก่อชะตากรรมด้วยกัน

เงื่อนของหลักทรัพย์ดังกล่าว จะระบุว่า ภายในเวลาที่กำหนด เช่น 3-6 เดือน (หรืออย่างนานสุดไม่เกิน 1 ปี) หากราคาหุ้นทีขาใหญ่ซื้อ วิ่งขึ้นไปถึงจุดที่ทำกำไรได้แล้ว ขาใหญ่จะระบายพอร์ตออกจากมือ เอาเงินสดที่กู้มาไปคืนเจ้าหนี้ แล้วเอาหุ้นที่ค้ำประกันกลับคืนมาในมือ

หากราคาหุ้นไม่สามารถขึ้นไปได้ตามเป้าในเวลาที่กำหนด หรือขาใหญ่ เกิดเสียดายเงิน ไม่เอาเงินสดที่ตกลงกันมาคืนเพื่อรับเอาหุ้นคืนไป กองทุนนักบุญ สามารถแปลงร่างเป็นปีศาจ เอาหุ้นที่เป็นหลักทรัพย์มาขายทิ้งในตลาดเพื่อเอาเงินสดกลับคืนไป ซึ่งแน่นอนว่า ขายเท่าใดกองทุนกลายพันธุ์นั้น ก็ยังมีกำไรอยู่ดี มากกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระบุหน้าใบสัญญาเงินกู้

เกมอย่างนี้ ดูง่ายๆ เพราะขาใหญ่ มีภารกิจหลักหลังจากดีลซื้อกิจการผ่านไปคือ 1) สร้างสตอรี่ เพื่อดันราคาหุ้นให้วิ่งแรงๆ ในฐานะหุ้นเทิร์นอะราวด์ ด้วยความร่วมมือของที่ปรึกษาการเงิน นักวิเคราะห์ และสื่อมวลชน ที่มีชื่อเสียงเรื่องหุ้น เพื่อล่อแมงเม่าให้เข้ามาช่วยดันราคาให้สมจริงสมจัง 2) หาทางทำกำไรจากวิศวกรรมการเงินหลังดีลจบ ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้  ล้างขาดทุนสะสม เพิ่มทุนขายหุ้นพีพี หรือเข้าซื้อกิจการใหม่ด้วยข้ออ้างว่าปรับโมเดลธุรกิจใหม่ หรือ ฯลฯ

เรื่องอย่างนี้ ดูคุ้นๆ หรือ deja vu ทั้งสิ้น แต่ก็ได้ผล เว้นเสียแต่เกิดอุบัติเหตุของความโลภที่ควบคุมไม่ได้

อุบัติเหตุดังกล่าว มักจะมาจาก “มะเดื่อเน่าแต่เนื้อใน” เพราะการสร้างสตอรี่ที่เกินจริง ทำให้ราคาหุ้นวิ่งโดยไม่สมเหตุผล ท้าทายให้คนกำกับดูแลตลาดเข้ามาใช้มาตรการกำกับเข้มงวด หรือเกิดการเทขายทำกำไรระหว่างทาง เพราะหุ้นส่วนที่จับมือกันมาในกลุ่มขาใหญ่หักหลังกันเอง

ปรากฏการณ์ข้างต้นยังไม่เลวร้ายเท่ากับพฤติกรรม“สิงโตกินหนอน” เมื่อขาใหญ่นั่นแหละ หาทางจับมือกับกองทุนนักบุญเล่นเกม “ปีศาจสันนิวาส” ด้วยการ“ดันหุ้น แล้วทุบ ดันอีก แล้วทุบอีก” หลายๆ รอบ ระหว่างนั้นขาใหญ่ก็จะออกข่าวลวงว่ามีการขโมยหุ้นไปขายบ้าง หรือมีการหักหลังกันบ้าง หรือไม่ก็อ้างเหตุเฮงซวยๆ ที่ฟังอย่างไรก็เข้าข่าย “ขว้างงูไม่พ้นคอ”

ระหว่างที่เกิดเหตุหุ้นผันผวนในลักษณะฟันปลา แมงเม่าชอบเสี่ยงทั้งหลายก็จะถูกกระแสของความโลภระยะสั้นดึงดูดใจให้เข้าไปติดกับเกมราคาหุ้นระยะสั้น มีกำไรบ้างขาดทุนบ้าง แต่ท้ายสุดกระเป๋าฉีกเมื่อเกมจบลง

ท้ายสุด กองทุนนักบุญก็จะกลายเป็นปีศาจที่หายตัวไปไร้ร่องรอย ในขณะที่เงินกำไรบางส่วนจากเกมหุ้นแบบสมคบคิดนี้ จะไหลเข้ากระเป๋าขาใหญ่ เป็นเงินสด มากบ้างน้อยบ้าง แต่คุ้มเพราะ “จับเสือมือเปล่า” ตั้งแต่ต้น

กองทุนนักบุญนี้ เป็นเกมระหว่างประเทศที่นับวันจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ คนในแวดวงตลาดทุนโดยเฉพาะที่ปรึกษาการเงินหรือบริษัทหลักทรัพย์ ล้วนคุ้นเคยหรือสัมผัสกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม แต่ก็อยู่ในวงจำกัด ที่นักลงทุนรายย่อยในฐานะเหยื่ออันโอชะ ไม่มีทางจับได้ไล่ทัน

แม้กระทั่ง ก.ล.ต.หรือ ตลาดหลักทรัพย์ฯก็ไม่มีทางรู้เช่นกัน แต่อาจจะแสร้งอวดฉลาดว่ารู้ และกำลังจับตามองอยู่

นิทานเรื่องนี้ อาจจะไม่สนุก และดูเลื่อนลอย ใครที่ไม่เชื่อ กรุณาอ่านข้อมูลอื่นแทน ก็แล้วกัน

 

  

Back to top button