พาราสาวะถี อรชุน

หากไม่เกิดเหตุระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ คงไม่มีใครรู้จักพรรคปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตยหรือแนวร่วมปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตย หรือ นปป. ซึ่งมีชื่อพ้องกับนปช.ของคนเสื้อแดง แน่นอนว่า ในช่วงแรกของการจับกุม มีความพยายามจะเชื่อมโยงให้เป็นคนกลุ่มเดียวกัน แต่โชคดีที่ว่าผลของการสอบปากคำชัดเจนว่าคนเหล่านั้นเดินคนละเส้นทางกับนปช. จึงทำให้ จตุพร พรหมพันธุ์ โล่งอก


หากไม่เกิดเหตุระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ คงไม่มีใครรู้จักพรรคปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตยหรือแนวร่วมปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตย หรือ นปป. ซึ่งมีชื่อพ้องกับนปช.ของคนเสื้อแดง แน่นอนว่า ในช่วงแรกของการจับกุม มีความพยายามจะเชื่อมโยงให้เป็นคนกลุ่มเดียวกัน แต่โชคดีที่ว่าผลของการสอบปากคำชัดเจนว่าคนเหล่านั้นเดินคนละเส้นทางกับนปช. จึงทำให้ จตุพร พรหมพันธุ์ โล่งอก

แต่ถึงแม้จะไม่มีความเกี่ยวพันกัน ทว่าประธานนปช.ก็ยังแสดงความเห็นต่อกระบวนการทำงานของฝ่ายเจ้าหน้าที่ต่อการควบคุมตัวผู้ต้องหา 15 คน โดยตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการจับกุมแล้วสร้างข้อหากระทำผิดและมีหมายจับจากศาลทหาร เป็นการทำเรื่องใส่ร้ายกันแบบง่ายๆ ที่เจ้าหน้าที่รัฐทำกับประชาชนในประเทศนี้

ก่อนจะตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า เบื้องต้นในการจับกุมนั้นพยายามที่จะเชื่อมโยงกลุ่มคนดังกล่าวเข้ากับเหตุการณ์ระเบิด 7 จังหวัดใต้ เมื่อหาหลักฐานไม่ได้ก็ตั้งข้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองและการตั้งพรรค ซึ่งความจริงแล้ว หากคนเหล่านั้นจะตั้งแล้วย่อมเป็นสิทธิ เพราะ ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตส.ว.กลุ่ม 40 ยังประกาศตั้งพรรคประชาชนปฏิรูปได้

สิ่งที่ทำให้จตุพรไม่สบายใจคงเป็น บันทึกการจับกุมที่ระบุพฤติการณ์ว่า ร่วมมือกับคนเสื้อแดงตั้งพรรคแนวร่วมปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตย โดยที่ประธานนปช.บอกว่าไม่เคยได้ยินชื่อพรรคดังกล่าวมาก่อนแต่อย่างใด แต่ก็มีความพยายามโยงมาถึงนปช.ให้ได้ นอกจากนี้ ตนก็ไม่เคยได้ยินว่าใครขัดแย้งกับนปช.แล้วออกไปตั้งพรรคใหม่ เพราะพวกตนยอมรับความเห็นแตกต่างกันได้อยู่แล้ว

ขณะที่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการนปช. กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า เรื่องนี้สามารถอธิบายได้ชัดเจน ภายใต้การบริหารของรัฐบาลที่ไม่มีกลไกการตรวจสอบของรัฐสภาและประชาชน ได้นำพาประเทศเผชิญภัยร้ายแรงของการก่อวินาศกรรม เพราะรัฐบาลเลือกการสืบสวนโดยใช้อคติทางการเมืองเป็นตัวนำ การจับกุมคนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ด้วยข้อหาอั้งยี่ ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำแบบนี้คงถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่นี่ไม่มีใครทำได้

ขณะเดียวกัน ตนคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องแถลงอย่างตรงไปตรงมาว่า การสืบสวนของเจ้าหน้าที่ได้ข้อมูลว่าระเบิดครั้งนี้มาจากไหน พยานหลักฐานคืออะไร ถ้ามัวแต่เล่นการเมือง จับแค่คนวิพากษ์วิจารณ์ คนก่อเหตุอาจได้ใจและลงมือก่อเหตุอีก ตรงนี้คือสิ่งที่หลายฝ่ายกังวล เพราะหากสรุปเหตุไม่ตรงกับข้อเท็จจริง จะเป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่งในการปฏิบัติการณ์เฝ้าระวังด้านความมั่นคง

เนื่องจากฝ่ายความมั่นคงจะไม่กล้าที่จะประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่เป้าหมายได้เฝ้าระวัง ช่วยกันสอดส่อง เพราะเกรงว่าหากมีการประกาศเตือนออกไป จะทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการที่ได้ป่าวประกาศไปว่ามีมาตรการดำเนินการอย่างเข้มงวด เด็ดขาด มิหนำซ้ำ เกรงว่าผู้มีอำนาจเบื้องบนจะเสียหน้าไปกันใหญ่ เพราะได้ชื่อว่าเป็นผู้ถืออำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

เมื่อมองจากจุดนี้ คงเป็นอย่างที่ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คส่วนตัว โดยระบุว่า ในสังคมที่เจริญแล้ว เวลาเกิดเหตุร้ายในบ้านเมืองเราจะเห็นสิ่งเหล่านี้ ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐจะไม่พูดชี้นำโดยไม่มีหลักฐานหรือโยนความรับผิดชอบ แต่จะก้มหน้าก้มตาทำงานหาหลักฐานมาชี้แจงสังคม ฝ่ายการเมืองจะช่วยกันชี้ให้เห็นจุดโหว่ที่ต้องอุดและมีข้อเสนอแนะที่ฝ่ายรัฐสามารถนำไปปฏิบัติ รวมทั้งติดตามตรวจสอบว่าฝ่ายรัฐได้ดำเนินการหรือไม่

ฝ่ายสื่อมวลชนจะไม่เพียงแต่รายงานตามที่เขาพูด แต่จะทำการบ้านค้นขุดคุ้ยเรียกร้องและตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายการเมือง หรือแม้แต่ฝ่ายสื่อด้วยกัน ใครพูดและทำอะไรจริงหรือไม่ อย่างไร ขณะที่ฝ่ายประชาชนจะฉลาดพอที่จะเรียกร้องให้ ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ฝ่ายการเมืองและฝ่ายสื่อมวลชนทำหน้าที่ของตนที่ควรจะทำ แทนที่จะไปเป็นลูกหาบขยายความขัดแย้งและความสับสนในสังคม

แน่นอนว่า ในมุมมองของวีรพัฒน์ในที่นี้ฝ่ายประชาชนคงไม่ได้หมายถึงคนส่วนใหญ่ต่อกรณีเหตุการณ์ระเบิด 7 จังหวัดใต้ หากแต่น่าจะหมายถึงฝ่ายมวลมหาประชาชนที่แกนนำอย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ และ พุทธะอิสระ ที่ต่างพากันออกมาชี้นำการทำงานของเจ้าหน้าที่มากกว่า ซึ่งบังเอิญว่าฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ดูจะบ้าจี้เชื่อตามคำพูดของทั้งสองคนเสียด้วย

ด้วยเหตุนี้มันจึงทำให้เกิดภาวะหน้าแหก ต้องรีบกลับลำกันแทบไม่ทัน การออกตัวของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีกลาโหมถือว่าทันการณ์และอ่านเกมขาด มิเช่นนั้น จะกลายเป็นออกอ่าวออกทะเลตามพวกอคติไปเสียฉิบ เพียงแต่ว่าเมื่อตั้งลำกันได้แล้ว จะละวางอคติแล้วใช้เหตุผลมาทำงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้มากน้อยขนาดไหน อันนี้ต้องติดตามตอนต่อไป

ปมปริศนาอันเนื่องมาจากคำถามพ่วงที่มีพวกสอพลอซึ่งพากันเสนอหน้าอยู่เวลานี้ ต้องการที่จะให้อำนาจส.ว.ลากตั้งสามารถเสนอชื่อนายกฯ คนนอกได้ด้วย เมื่อเปิดหน้าเล่นกันเช่นนี้ย่อมหนีไม่พ้นว่าเป็นท่วงทำนองและร้องเพลงคีย์เดียวกันกับ ไพบูลย์ นิติตะวัน ที่ประกาศตั้งพรรคประชาชนปฏิรูปพร้อมชูนโยบายผลักดันให้บิ๊กตู่กลับมาเป็นผู้นำประเทศอีกสมัย

ในกรณีนี้จตุพรคนที่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับไพบูลย์และผู้มีอำนาจ กลับแสดงท่าทีว่าอยากจะเห็น นายกฯ คนนอกโดยเฉพาะชื่อประยุทธ์ จะปฏิบัติหน้าที่อย่างไร เมื่อไม่มีมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งนั่นจะทำให้นายกฯ คนนอกได้รู้จักสภาผู้แทนราษฎรมากขึ้น พร้อมกับมีคำถามตามมาว่าจะทนการถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจและแรงกดดันต่างๆ ทางการเมืองได้อย่างไร

แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น ฝ่ายการเมืองที่มีปฏิกิริยาชัดเจนต่อท่าทีดังกล่าวของสนช.คือพรรคประชาธิปัตย์ โดย องอาจ คล้ามไพบูลย์ ถึงกับซัดสนช.ที่ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องดังกล่าวว่า อย่าหัวหมอไม่ควรคิดว่าประชาชนส่วนมากลงประชามติเห็นชอบคำถามพ่วงแล้วจะมาปู้ยี่ปู้ยำทำตามอำเภอใจยังไงก็ได้ เพราะเรื่องนี้ไม่มีอะไรต้องตีความ

ไม่ว่าจะตีความแบบกว้างหรือแบบแคบเนื้อหาสาระในคำถามพ่วงชัดเจนตั้งแต่ต้นแล้วว่าให้วุฒิสภาร่วมเห็นชอบหรือเลือกนายกฯ ไม่มีข้อความไหนในคำถามพ่วงที่ระบุว่าให้วุฒิสภาเสนอชื่อผู้สมควรเป็นนายกฯ ถ้าสนช.ต้องการให้ส.ว.เสนอชื่อด้วยก็ควรใส่คำว่าเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ ไว้ในคำถามพ่วงตั้งแต่ตอนทำประชามติ นี่แหละที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า เมื่อใช้ศรีธนญชัยมาทำงานด้านกฎหมาย ย่อมลักไก่และเล่นแร่แปรธาตุกันสนุก ยิ่งได้อำนาจพิเศษคอยยกหางยิ่งได้ใจกันใหญ่

Back to top button