เฟดฯกลับมาเขย่าขวัญพลวัต 2016
ข้อสังเกตน่าสนใจจากบรรดาผู้จัดการกองทุนในวอลล์สตรีทคือ เมื่อใดก็ตามที่จบสิ้นเทศกาลประกาศงบการเงินรายไตรมาสของตลาดหุ้น เฟดฯจะกลับมาหลอกหลอนและครอบงำบรรยากาศซื้อขายของตลาดเสมอ
วิษณุ โชลิตกุล
ข้อสังเกตน่าสนใจจากบรรดาผู้จัดการกองทุนในวอลล์สตรีทคือ เมื่อใดก็ตามที่จบสิ้นเทศกาลประกาศงบการเงินรายไตรมาสของตลาดหุ้น เฟดฯจะกลับมาหลอกหลอนและครอบงำบรรยากาศซื้อขายของตลาดเสมอ
ปรากฏการณ์ที่คุ้นๆ เช่นนี้ กลายเป็นวัฏจักรที่เลี่ยงอย่างไรก็ไม่พ้น เหตุผลก็เพราะว่า นักลงทุนจำนวนหนึ่งเชื่อโดยสนิทใจว่าเฟดฯ เล่นบทบาทของ “คนเชิดหุ่น” ที่มีพลังแรงสูงในฐานะ “มือที่มองเห็น” ได้ทุกเมื่อตามต้องการ
ยามนี้ หลังจากที่ตลาดเกิดอาการลากถูลู่ถูกังกันมาได้เมื่อหลายตลาดทำนิวไฮในรอบหลายเดือน หลายตลาดทำนิวไฮเป็นสถิติใหม่ และหลายตลาดค่าพี/อีสูงทำสถิติแม้ว่าจะยังทำนิวไฮ เรื่องของเฟดฯก็กลับมาโดดเด่นอีกครั้ง
หลังจาก “หน้าม้า” ของสายเหยี่ยวในคณะกรรมการเฟดฯอย่าง จอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟดฯสาขาซานฟรานซิสโก วิลเลียม ดัดลีย์ ประธานเฟดฯสาขานิวยอร์ก และ เดนนิส ล็อคฮาร์ท ประธานเฟดฯ สาขาแอตแลนตา ออกมานำร่องสร้างกระแสขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเดือนกันยายนนี้ว่า มีความเป็นไปได้ และล่าสุดหัวโจกสายเหยี่ยว รองประธานเฟดฯอย่าง สแตนลี่ย์ ฟิชเชอร์ ก็ออกมาย้ำหัวตะปูว่า โอกาสนี้เป็นได้ได้มากเพราะ การจ้างงาน และอัตราเงินเฟ้อใกล้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งเต็มที
เอกภาพของกระแสเหยี่ยวในเฟดฯที่ดาหน้ากันออกมาโยนก้อนหินถามทาง ส่งผลให้ค่าดอลลาร์เริ่มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากคืนวันศุกร์ที่ผ่านมาชัดเจน ทำให้ค่าสกุลสำคัญของโลกอ่อนลงเทียบกับค่าดอลลาร์อีกครั้ง
ตอนนี้ ปราการด่านสุดท้ายของสายพิราบของเฟดฯที่มักจะออกมาแย่งซีนในตอนจบ หนีไม่พ้นนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดฯนั่นเอง
การขับเคลื่อนของบรรดากรรมการสายเหยี่ยวของเฟดฯไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะคนกลุ่มนี้ ถือว่าฝันร้ายจากวิกฤตซับไพรม์เมือ 8 ปีก่อน เกิดขึ้นเนื่องจากความผิดพลาดของเฟดฯยุคปลายของนายอลัน กรีนสแปน ที่ยืนหยัดใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำนานเกินไป จนกระทั่งวิศวกรรมการเงินของตลาดตราสารอนุพันธ์ได้ทำให้เกิดมายาคติขึ้นมาว่า ตลาดเงินจะปลอดภัยจากวิศวกรรมการเงินที่เล่นกับความเสี่ยง จนเชื่อว่าตลาดสามารถมีความเสี่ยงใกล้เคียงกับ 0
มายาคติดังกล่าว ได้รับการพิสูจน์จากช่วงวิกฤตซับไพรม์มาแล้วว่า ไม่เป็นความจริง ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดการย่ำรอยเดิมที่ผิดพลาดอีก จึงเกิดเป็นข้อสรุปใหม่ว่า เมื่อใดที่เฟดฯยอมให้ตลาดมึนชากับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำติดพื้นนานเกินไป ความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่จะเกิดวิกฤตรุนแรงมากเพียงนั้น เมื่อใดก็ตามที่อัตราการจ้างงาน และเงินเฟ้อ เข้าใกล้เป้าหมายที่กำหนด เฟดฯต้องใช้ความกล้าหาญเพื่อพร้อมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เว้นเสียแต่ว่า จะมีข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯย่ำแย่อย่างรุนแรงมาก
หลายเดือนมานี้ คณะกรรมการเฟดฯที่เป็นสายพิราบ นำโดยนางเยลเลน พยายามยื้อเวลาเพื่อให้มั่นใจว่า การจ้างงานและเป้าหมายเงินเฟ้อจะบรรลุเป้า ท่ามกลางแรงกดดันของคนที่รู้สึกว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำติดพื้นระดับ 0% ของเฟดฯนานเกิน ฝืนธรรมชาติของกลไกตลาด อาจนำไปสู่สภาวะฟองสบู่ของเศรษฐกิจ ทำนองเดียวกับที่เฟดฯยุค นายอลัน กรีนสแปน เคยกดดอกเบี้ยต่ำนานเกิน จนเป็นรากเหง้าของวิกฤตซับไพรม์มาแล้ว
มุมมองของตลาดเงินและตลาดทุนในสหรัฐฯปัจจุบัน ถือว่าขณะนี้ค่าดอลลาร์อ่อนเกินจริง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ เพราะแม้ดอลลาร์ต่ำจะช่วยให้การส่งออกสินค้าของสหรัฐฯดีขึ้นต่ำ แต่ขีดจำกัดในการแข่งขันของภาคการผลิตสินค้า มีคุณูปการต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าความได้เปรียบในสินค้าบริการทางการเงินในตลาดโลก
ค่าดอลลาร์ที่ต่ำเกิน เปิดช่องให้ธุรกิจและชาติต่างๆ ในโลก โดยเฉพาะญี่ปุ่น และจีน อาศัยประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯต่ำ กู้ยืมเงินจากตลาดในรูปดอลลาร์ทำกำไรผ่านแคร์รี่ เทรด และลดต้นทุนการเงินต่อเนื่องตลอดหลายปีนี้
ทางเลือกที่ดีกว่า ในมุมมองของวอลล์สตรีท และนักเศรษฐศาสตร์การเงิน คือ เฟดฯต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้ดอลลาร์แข็งขึ้น เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มฟื้นตัวจนถึงระดับที่เรียกว่า “มวลวิกฤต” เพื่อทำให้ชาติที่เคยชินกับ “โอกาส” ในการกู้ยืมค้นทุนต่ำในรูปดอลลาร์ มาเผชิญกับ “ภาระ” แทน เพราะต้นทุนกู้เงินดอลลาร์จะแพงเกินจนไม่คุ้มอีกต่อไป แล้วจากนั้นชาติเหล่านั้น จะต้องเปลี่ยนสถานะของการถือเงินสกุลดอลลาร์ มาเป็นการเก็งกำไรแทน ทำให้สหรัฐฯสามารถครอบงำตลาดโลกได้เต็มที่
นางเยลเลนยามนี้ จึงกลายเป็นเป้าเรดาร์ที่ถูกจับตามมองว่า อาจจะเป็นคนส่งสัญญาณในการประชุมประจำปีของเฟดฯ ที่เมืองแจ็กสัน โฮล ที่เป็นการยกธงขาวของสายพิราบในเฟดฯ และ ทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดฯในเดือนกันยายนเป็นไปได้
เมื่อวานนี้ ค่าดอลลาร์ดีดตัวแข้งค่าสูงสุดในรอบ 1 สัปดาห์ เทียบกับเงินเยน ทำให้ราคาน้ำมันร่วงลง ท่ามกลางการคาดการณ์เกี่ยวกับช่องว่างด้านนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกันมากขึ้นของสหรัฐฯและญี่ปุ่น โดยนักลงทุนคาดว่าเฟดฯอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไม่ช้า ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยังคงผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อไป
การคาดเดาดังกล่าว มีโอกาสผิดหรือถูกได้ทั้งสิ้น เพราะนางเยลเลนเองก็ยังสงวนท่าทีต่อไป และแม้ว่าการคาดเดาจะผิด แต่สัญญาณการพักฐานหรือปรับฐานของตลาดหุ้นทั่วโลก ได้เกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่ไม่มีใครคาดเดาว่าจะลงแรงหรือลึกเพียงใดเท่านั้นเอง