บทพิสูจน์นางเยลเลนพลวัต 2016

วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคมนี้ จะเป็นวันที่นางเจเน็ท เยลเล็น ซึ่งจะขึ้นปาฐกถาที่รีสอร์ทชื่อดัง แจ็กสัน โฮล ในงานประชุมประจำปีของเฟดฯ จะเปิดเผยท่าทีสำคัญ 2 อย่างพร้อมกันคือ 1) เรื่องของการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยของเฟดฯครั้งใหม่ 2) เรื่องที่สำคัญกว่าคือ นางจะยอมแพ้ต่อแรงกดดันของสายเหยี่ยวในเฟดฯได้หรือไม่


วิษณุ โชลิตกุล

วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคมนี้ จะเป็นวันที่นางเจเน็ท เยลเล็น ซึ่งจะขึ้นปาฐกถาที่รีสอร์ทชื่อดัง แจ็กสัน โฮล ในงานประชุมประจำปีของเฟดฯ จะเปิดเผยท่าทีสำคัญ 2 อย่างพร้อมกันคือ 1) เรื่องของการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยของเฟดฯครั้งใหม่ 2) เรื่องที่สำคัญกว่าคือ นางจะยอมแพ้ต่อแรงกดดันของสายเหยี่ยวในเฟดฯได้หรือไม่

ปูมหลังของนางเยลเลนนั้น เป็นนักเศรษฐศาสตร์การเงินอเมริกันเชื้อสายยิวจากนิวยอร์ก เป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์การเงินและแรงงาน ยาวนานในฮาร์วาร์ด สลับ LSE ในลอนดอน เคยทำงานในฐานะกรรมการเฟดฯหนึ่งสมัย เข้าๆออกๆในเฟดฯมายาวนานในฐานะนักเศรษฐศาสตร์สาย “พิราบ” ทั้งจากงานวิจัยและการสอนของเธอ ที่เน้นเป้าหมายการจ้างงานสูงสุดสำคัญกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยเฉพาะการเป็นผู้ชำนัญการในกฎของโอคุน(Okun’s Law) ซึ่งว่าด้วยสหสัมพันธ์ระหว่างการจ้างงานกับจีดีพีที่สอดรับกัน ซึ่งทำให้เธอเป็นเสียงข้างน้อยที่ทรงพลังในคณะกรรมการ FOMC ของเฟดฯมาตลอด

จุดเด่นของนางเยลเลนที่เน้นการจ้างงาน การกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน และการส่งเสริม SMEs ให้เข้าถึงแหล่งทุนในการแข่งขัน สอดรับกับปมประเด็นปวดหัวที่แก้ไม่ตกของโอบามามานานหลายปี เพราะ 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน การแก้ปัญหาว่างงานของเบอร์นันเก้ทำได้เพียงแค่ 0.1% เท่านั้น

หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งเป็นต้นมา นางเยลเลน สามารถสร้างผลงานสำคัญที่ทำให้ตัวเลขการว่างานดีขึ้นชัดเจน จากอัตรากรว่างงานระดับ 7.5 % มาเหลือเพียงแค่ 4.8%ในปัจจุบัน ถือเป็นงผลงานชิ้นโบว์แดงที่สำคัญยิ่ง ไม่สามารถปฏิเสธได้ แต่ความสำเร็จก็มีด้านมืดให้เห็นเมื่อการใช้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำนานเกินไปในขณะที่ตัวเลขการจ้างงานและเงินเฟ้อของสหรัฐกำลังดีขึ้นใกล้เป้าหมายมากขึ้นทุกขณะ ได้รื้อฟื้นในยุคของนายอลัน กรีนสแปนกลับมาหลอกหลอนนักลงทุนอีกครั้งว่า อาจจะทำให้เกิดฟองสบู่ระลอกใหม่ แบบเดียวกันกับในช่วงค.ศ. 2008 ได้อีก

ดังที่ทราบกันดี ฝันร้ายจากวิกฤตซับไพรม์เมือ 8 ปีก่อน เกิดขึ้นเนื่องจากความผิดพลาดของเฟดฯยุคปลายของนายอลัน กรีนสแปน ที่ยืนหยัดใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำนานเกินไป จนกระทั่งวิศวกรรมการเงินของตลาดตราสารอนุพันธ์ได้ทำให้เกิดมายาคติขึ้นมาว่า ตลาดเงินจะปลอดภัยจากวิศวกรรมการเงินที่เล่นกับความเสี่ยง จนเชื่อว่าตลาดสามารถมีความเสี่ยงใกล้เคียงกับ 0

มายาคติดังกล่าว ได้รับการพิสูจน์จากช่วงวิกฤตซับไพรม์มาแล้วว่า ไม่เป็นความจริง ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดการย่ำรอยเดิมที่ผิดพลาดอีก จึงเกิดเป็นข้อสรุปใหม่ว่า เมื่อใดที่เฟดฯยอมให้ตลาดมึนชากับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำติดพื้นนานเกินไป ความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่จะเกิดวิกฤตรุนแรงมากเพียงนั้น เมื่อใดก็ตามที่อัตราการจ้างงาน และเงินเฟ้อ เข้าใกล้เป้าหมายที่กำหนด เฟดฯต้องใช้ความกล้าหาญเพื่อพร้อมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เว้นเสียแต่ว่า จะมีข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯย่ำแย่อย่างรุนแรงมาก

การออกมาของบรรดา “หน้าม้า” และหัวหน้าทีมของสายเหยี่ยวในคณะกรรมการเฟดฯพร้อมเพรียงกันในสองสัปดาห์นี้ ทำให้เกิดปรากฏการณ์สร้างกระแสขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเดือนกันยายนนี้ว่า มีความเป็นไปได้ เพราะการจ้างงาน และอัตราเงินเฟ้อใกล้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้เต็มที

เอกภาพของกระแสเหยี่ยวในเฟดฯที่ดาหน้ากันออกมาโยนก้อนหินถามทาง ส่งผลให้ค่าดอลลาร์เริ่มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากคืนวันศุกร์ที่ผ่านมาชัดเจน ทำให้ค่าสกุลสำคัญของโลกอ่อนลงเทียบกับค่าดอลลาร์อีกครั้ง

ภารกิจของนาง เยลเลน ในฐานะประธานเฟดฯ และหัวหน้าของสายพิราบในเฟดฯ จึงต้องแสดงออกในการปกป้องท่าทีดังกล่าว ซึ่งในสถานการณ์ยามนี้ ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก

แล้วก็ดังที่ได้กล่าวมาหลายครั้งว่า หลายเดือนมานี้ คณะกรรมการเฟดฯที่เป็นสายพิราบ พยายามยื้อเวลาเพื่อให้มั่นใจว่า การจ้างงานและเป้าหมายเงินเฟ้อจะบรรลุเป้า ท่ามกลางแรงกดดันของคนที่รู้สึกว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำติดพื้นระดับ 0% ของเฟดฯนานเกิน ฝืนธรรมชาติของกลไกตลาด อาจนำไปสู่สภาวะฟองสบู่ของเศรษฐกิจ ทำนองเดียวกับที่เฟดฯยุค นายอลัน กรีนสแปน เคยกดดอกเบี้ยต่ำนานเกิน จนเป็นรากเหง้าของวิกฤตซับไพรม์มาแล้ว

ในมุมมองของนักการเงินในตลาดเงินและตลาดทุนในสหรัฐฯปัจจุบัน ถือว่าขณะนี้ค่าดอลลาร์อ่อนเกินจริง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ เพราะแม้ดอลลาร์ต่ำจะช่วยให้การส่งออกสินค้าของสหรัฐฯดีขึ้นต่ำ แต่ขีดจำกัดในการแข่งขันของภาคการผลิตสินค้า มีคุณูปการต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าความได้เปรียบในสินค้าบริการทางการเงินในตลาดโลก

ทางเลือกที่ดีกว่า ในมุมมองของวอลล์สตรีท และนักเศรษฐศาสตร์การเงิน คือ เฟดฯต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้ดอลลาร์แข็งขึ้น เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มฟื้นตัวจนถึงระดับที่เรียกว่า “มวลวิกฤต” เพื่อทำให้ชาติที่เคยชินกับ “โอกาส” ในการกู้ยืมต้นทุนต่ำในรูปดอลลาร์ มาเผชิญกับ “ภาระ” แทน เพราะต้นทุนกู้เงินดอลลาร์จะแพงเกินจนไม่คุ้มอีกต่อไป แล้วจากนั้นชาติเหล่านั้น จะต้องเปลี่ยนสถานะของการถือเงินสกุลดอลลาร์ มาเป็นการเก็งกำไรแทน ทำให้สหรัฐฯสามารถครอบงำตลาดโลกได้เต็มที่

ความสำคัญของนางเยลเลนยามนี้ จึงมีหลายนัยอย่างมาก แต่ไม่ว่าจะเป็นนัยยะไหน ล้วนไม่ใช่ข่าวดีสำหรับตลาดหุ้นที่กำลังหาทางลง หลังจากเข้าสู่ภาวะกระทิงมานานกว่า 2 เดือน

Back to top button