พาราสาวะถี อรชุน
จับอาการของบรรดาคนอยากมีอำนาจทั้งหลายที่เรียกร้องให้ มีชัย ฤชุพันธุ์ และกรธ.ปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงด้วยการให้อำนาจส.ว.ลากตั้งทั้ง 250 คน นอกจากจะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้แล้ว ยังสามารถเสนอชื่อคนที่จะมาเป็นผู้นำประเทศได้ด้วย ในเมื่อเปิดหน้าเล่นกันเช่นนี้ ก็คงไม่ต้องมีเหตุอันใดที่จะมากระมิดกระเมี้ยนอีกต่อไปว่า ไม่ได้ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดการสืบทอดอำนาจ
จับอาการของบรรดาคนอยากมีอำนาจทั้งหลายที่เรียกร้องให้ มีชัย ฤชุพันธุ์ และกรธ.ปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงด้วยการให้อำนาจส.ว.ลากตั้งทั้ง 250 คน นอกจากจะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้แล้ว ยังสามารถเสนอชื่อคนที่จะมาเป็นผู้นำประเทศได้ด้วย ในเมื่อเปิดหน้าเล่นกันเช่นนี้ ก็คงไม่ต้องมีเหตุอันใดที่จะมากระมิดกระเมี้ยนอีกต่อไปว่า ไม่ได้ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดการสืบทอดอำนาจ
เอาเฉพาะตัวของมีชัยเอง เมื่อสัปดาห์ก่อนเพิ่งลั่นวาจาส.ว.ลากตั้งมีสิทธิ์แค่ร่วมยกมือเลือกนายกฯ เท่านั้น แต่พอวันนี้มีคนไปถามใหม่ด้วยปุจฉาเดิม หากสุดท้ายกรธ.ยอมตามคำร้องขอของสนช.คือให้ส.ว.ลากตั้งเสนอชื่อนายกฯ ได้มันจะหมายความว่าคำถามพ่วงที่ใช้ในการทำประชามติเป็นการหลอกลวงประชาชนหรือไม่
คำตอบที่ได้เล่นเอาหงายหลังกันเป็นแถบ เมื่อประธานคณะร่างรัฐธรรมนูญบอกว่าหากเป็นเช่นนั้นก็ไม่ใช่ความอยากของกรธ. มันหมายความว่าอย่างไร ความอยากจะเสนอชื่อนายกฯ เป็นเรื่องของสนช.ที่ชอบสอพลอหรือมีชัยต้องการจะสื่อสารว่าเป็นความอยากของประชาชนเองที่โง่ให้ความเห็นชอบคำถามพ่วงผ่านมาได้
ยิ่งได้ฟัง พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.งัดเอาต้นทุนของตัวเองในฐานะอดีตผู้พิพากษามาการันตีว่า คำถามพ่วงคือให้ส.ว.ลากตั้งเข้าไปมีส่วนในกระบวนการเลือกนายกฯ นั่นหมายความว่าไม่ได้มีแต่การโหวตเท่านั้น แต่หมายถึงการเสนอชื่อได้ด้วย เล่นเอาสีข้างเข้าถูแบบนี้ ไม่รู้ว่ามีชัยในฐานะเนติบริกรใหญ่จะรู้สึกอย่างไร เพราะเหมือนเป็นการกดดันกันแบบโต้งๆ
มิหนำซ้ำ พรเพชรยังอ้างอีกว่าการตั้งคำถามพ่วงของสนช.ต้องยึดตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 คือให้ถามได้แค่คำถามเดียว โถ! ถ้าอดีตผู้พิพากษามีปัญญาคิดได้เท่านี้ประเทศนี้คงอยู่กันยากแล้ว หากเป็นเช่นนั้น ถามต่อว่า จะถามคำถามให้มันกำกวมเพื่อจะนำมาเล่นแร่แปรธาตุมันทำไม ทำไมไม่ถามว่า ท่านเห็นชอบที่จะให้ส.ว.ร่วมเสนอชื่อนายกฯ และโหวตเลือกนายกฯ หรือไม่
เท่านี้ก็จบแล้ว เป็นคำถามเดียวหรือไม่ หรือที่ไม่ยอมตั้งคำถามเช่นนี้เพราะกลัวว่าประชาชนจะจับได้ไล่ทันแล้วเป็นผลให้คำถามพ่วงไม่ผ่านประชามติ สรุปแล้วที่บอกว่าจะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นฉบับปราบโกง แต่แค่คำถามพ่วงก็ใช้วิธีสามานย์หมกเม็ดกันแบบนี้แล้ว มันจะทำให้คนส่วนใหญ่เชื่อได้อย่างไรว่า ทุกกระบวนการจากนี้ไปเป็นการดำเนินการด้วยความสุจริตใจ
เหมือนอย่างที่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช.บอกไว้ สรุปแล้วคณะรัฐมนตรีชุดนี้ฉีกรัฐธรรมนูญถึง 2 ฉบับซ้อน คือฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญหน้าแหลมฟันดำไปแล้ว พอร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยยังไม่ได้ประกาศใช้ ก็ถูกฉีกในทันที เพื่อสนองความต้องการสืบทอดอำนาจ หากไม่มีนัยแอบแฝงใดๆ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรจะประกาศให้ชัดและเด็ดขาด ห้ามส.ว.ไปยุ่งกับการเสนอชื่อแค่ยกมือโหวตได้ก็ถือว่ากำไรแล้ว
แต่หากไม่ทำแล้วอ้างเรื่องความชอบธรรมทางกฎหมาย ตรงนี้ก็ต้องย้อนกลับไปยังคำเตือนของ วัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ที่ออกมาสะกิดว่า การที่หัวหน้าคสช.ยังไม่ยอมให้นักการเมืองแต่งตัวเพราะยังไม่ถึงเวลาเลือกตั้งนั้น เป็นเพราะท่านผู้มีอำนาจไม่เคยมองนักการเมืองอยู่ในสายตา ฟังแต่คำสรรเสริญเยินยอ
เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงอยากให้บิ๊กตู่ทบทวนประวัติศาสตร์การเมืองเกี่ยวกับ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร และแม้กระทั่ง ทักษิณ ชินวัตร ที่เคยได้รับเสียงแซ่ซ้องเช่นนี้มาก่อนว่า คนเหล่านี้มีสถานะเป็นอย่างไรหลังหมดอำนาจ ไม่อยากให้ฟังแต่คนที่ไม่อยากเลือกตั้งแต่อยากเป็นส.ว.ที่คอยเอาใจท่านผู้นำจนเกินพอดี เพราะอาจจะนำพลเอกประยุทธ์ไปสู่หายนะได้
ไม่เพียงแต่ว่าต้องศึกษาประวัติศาสตร์ส่วนบุคคลของผู้นำเผด็จการหรือแม้แต่ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งแต่เหลิงอำนาจ เอาแค่ระยะเวลาแค่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งท่านผู้นำพูดต่อหน้าบรรดารัฐมนตรีและผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งหลายแหล่ ส.ว.ไม่มีอำนาจไปเสนอชื่อนายกฯ เป็นเรื่องส.ส.โน่น ดังนั้น อย่าไปตีความหมายผิด หรือท่านจะแก้ต่างว่าที่พูดตอนนั้นเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงมันผ่านประชามติไปก่อน
พร้อมกับการแก้ตัวต่อว่า ในเมื่อส.ส.หาข้อยุติไม่ได้ส.ว.ก็ต้องเข้าไปมีส่วนร่วม หากจะเล่นบทศรีธนญชัยกันอย่างนี้ก็เชิญตามสบาย หากเป็นเช่นนั้นก็จะเข้าข่ายตามที่ สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนาว่าไว้ เรื่องนี้จะทำให้เรื่องที่จบไปแล้วไม่จบ เพราะว่าร่างรัฐธรรมนูญและการทำประชามติดำเนินการเสร็จสิ้น แต่การที่สนช.บางคนพยายามและเปิดประเด็นใหม่ เชื่อว่าจะมีคนไปฟ้องร้องศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน
สนช.กำลังจะจัดการอะไรที่นอกเหนือจากรัฐธรรมนูญหรือไม่ การเสนอให้มีนายกฯ คนนอกจะไม่สามารถตอบโจทย์การปฏิรูปทางการเมืองได้เลย อีกทั้งยังเป็นการเหนี่ยวรั้งต่อกระบวนการประชาธิปไตยให้ถอยหลังกลับไปประมาณ 20 ถึง 30 ปี อยากให้คิดและระลึกถึงว่า การได้นายกฯ คนนอกจะซ้ำรอยเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 หรือไม่
สิ่งที่เป็นคำถามตามมาของเสี่ยตือก็คือ ถ้าเกิดปัญหาแบบพฤษภาทมิฬขึ้นมาแล้ว สนช.บางคนที่เสนอแนวคิดนี้จะรับผิดชอบได้หรือเปล่ากับความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น สนช.สอพลอเหล่านั้นต้องการจะให้สังคมไทยกลับไปเป็นเช่นนั้นอีกใช่หรือไม่ ซึ่งคำตอบมันชัดเจนอยู่ในตัวอยู่แล้ว คนเหล่านั้นไม่ได้คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมอย่างแน่นอน
เพราะอ่านสัญญาณของพวกที่อยากจะอยู่ในอำนาจต่อออกหรือไม่ ในที่สุดที่ประชุมกรธ.ก็มีมติสวนทางกับความต้องการของสนช. โดยยืนยันให้ส.ว.มีสิทธิแค่ร่วมโหวตเลือกนายกฯ เท่านั้น ขณะที่การเสนอชื่อเป็นเรื่องของส.ส.แต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการย้ำเรื่องวาระเริ่มแรกด้วยว่า คือการมีสภาชุดแรกเท่านั้น เคาะกันแบบนี้ไม่รู้ว่าบรรดาพวกหัวหมอและสอพลอทั้งหลายจะดิ้นพล่านกันหรือเปล่า