พาราสาวะถี อรชุน
ความพยายามในการเล่นแร่แปรธาตุคำถามพ่วงเพื่อเพิ่มอำนาจให้กับส.ว.ลากตั้ง 250 คนนั้น คงไม่ได้เหนือความคาดหมาย แต่หลายคนไม่คิดว่าเขาจะเล่นเกมตีความกันแบบมักง่ายเช่นนี้ ซึ่งจะว่าไปแล้ว มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจากเจตนารมณ์ของคนที่ถืออำนาจต่อการมีส.ว.หากมองย้อนกลับไปยังกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญตั้งต้นและความเปลี่ยนแปลงชนิดหักดิบก็น่าจะเห็นภาพที่ชัดเจน
ความพยายามในการเล่นแร่แปรธาตุคำถามพ่วงเพื่อเพิ่มอำนาจให้กับส.ว.ลากตั้ง 250 คนนั้น คงไม่ได้เหนือความคาดหมาย แต่หลายคนไม่คิดว่าเขาจะเล่นเกมตีความกันแบบมักง่ายเช่นนี้ ซึ่งจะว่าไปแล้ว มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจากเจตนารมณ์ของคนที่ถืออำนาจต่อการมีส.ว.หากมองย้อนกลับไปยังกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญตั้งต้นและความเปลี่ยนแปลงชนิดหักดิบก็น่าจะเห็นภาพที่ชัดเจน
ความจริงร่างแรกของร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ซึ่งใช้เวลาถึง 4 เดือนในการจัดทำ ไม่ได้กำหนดให้มีบทเฉพาะกาลที่ให้ส.ว. 250 คนมาจากการสรรหาโดยคสช.แต่อย่างใด แต่กำหนดให้ส.ว. 200 คน มาจากการคัดเลือกกันเองของกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่หลากหลายของสังคม แน่นอนว่าบทเฉพาะกาลที่ว่าด้วยส.ว.ลากตั้งนี้ถูกผลักดันโดยผู้มีอำนาจบางคน
แม้จะมีการกล่าวอ้างว่าเป็นมติของที่ประชุมแม่น้ำ 4 สายอันประกอบไปด้วยคสช.-ครม.-สปท.และสนช. ซึ่งความเป็นจริงแล้วไม่ว่าจะอ้างอย่างไรแม่น้ำทุกสายก็ล้วนแต่เกิดจากต้นน้ำเดียวกันนั่นก็คือคสช. ข้อเสนอดังกล่าวถูกส่งมาก่อนที่กรธ.ของ มีชัย ฤชุพันธุ์ จะปิดหีบรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ไม่เพียงแค่จำนวนส.ว.ที่เพิ่มขึ้นจาก 200 เป็น 250 คนเท่านั้น ยังพ่วงเอาเงื่อนไขให้ส.ว.ทั้งหมดมาจากการสรรหาหรือลากตั้งโดยคสช. พร้อมพ่วงไฟต์บังคับให้ตัวแทนเหล่าทัพ 6 คนเข้าไปดำรงตำแหน่งส.ว.โดยอัตโนมัติด้วย ในครั้งนั้นมีเสียงวิจารณ์กันกระหึ่มถึงข้อเสนอดังกล่าวว่า เป็นการรัฐประหารล่วงหน้าโดยรัฐธรรมนูญนั่นเอง
ข้อเสนอดังกล่าวดูเหมือนว่ากรธ.จะใช้แท็กติกทางข้อกฎหมายทำให้ดูเหมือนว่าไม่รับทั้งหมด แต่ความจริงแล้วไม่ว่าจะใช้ภาษากฎหมายสไตล์เนติบริกรอย่างไร ผลสุดท้ายของข้อกฎหมายที่ว่าด้วยที่มาของส.ว.ก็คือการลากตั้งและเป็นการลากตั้งโดยคสช.ทั้งหมด แม้จะมีการแยกย่อยที่มาเป็น 3 ส่วนเพื่อไว้ให้กรธ.ออกตัวว่าไม่ได้ทำตามใบสั่งคสช.ก็ตาม
ลองไปดูที่มาของส.ว.ที่แบ่งเป็น 3 กลุ่มประกอบด้วย ส.ว.โดยตำแหน่ง 6 คนมาจากเหล่าทัพต่างๆ ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ส.ว.ที่คสช.คัดเลือกจากรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาเสนอมา ไม่เกิน 400 คน โดยจะคัดให้เหลือ 194 คน และส.ว.ที่คสช.คัดเลือกจากรายชื่อตัวแทนกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่คัดเลือกกันเองไม่เกิน 200 คน โดยจะคัดให้เหลือ 50 คน
เมื่อพิจารณาจากที่มาของส.ว.ลากตั้งและความพยายามของการจะให้อำนาจส.ว.เสนอชื่อนายกฯ ได้ของสนช. พ่วงเข้าไปกับคนที่จะมาทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายบริหารที่สังคมเชื่อมั่นกันว่าสุดท้ายหนีไม่พ้น“การสืบทอดอำนาจ” สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ระบุไว้ก่อนการลงประชามติว่า ผลจากคำถามพ่วงยังอาจทำให้อำนาจของคสช.ขยายออกไปอีก 8 ปี ผ่านทางส.ว.เฉพาะกาลที่คสช.เป็นผู้สรรหามาทั้งหมด
เมื่อเป็นเช่นนั้น หากคำนวณระยะเวลาที่คสช.มีอำนาจตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จะรวมเป็นเวลาถึง 11 ปีเศษกันเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้บทสัมภาษณ์ สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงในฐานะนักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ต่อประเด็นของส.ว.ลากตั้ง จึงเป็นมุมมองน่าที่จะใกล้เคียงกับภาพความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน
อาจารย์สุขุมเทียบเคียงให้เห็นของการมีส.ว.ลากตั้งในยุคพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกฯ ที่ในเวลานั้น อำนาจของส.ว.มีอยู่ 2 ช่วง ช่วงแรกมีอำนาจเท่ากับส.ส.คือร่วมโหวตในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี รวมทั้งโหวตกฎหมายสำคัญๆ และการแก้รัฐธรรมนูญ กล่าวได้ว่าเป็นดุลพินิจของรัฐบาลที่จะให้ส.ว.ร่วมโหวตในเกือบทุกเรื่อง ส่วนช่วงที่ 2 ส.ว. เหลือเฉพาะหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายเท่านั้น แต่ส.ว.ก็ยังมีบทบาทสูงในทางการเมือง
ส่วนเรื่องที่น่าจะเป็นสันดานไปแล้วสำหรับผู้อยากมีอำนาจคือ การวิ่งเต้นเป็นส.ว. ที่แม้อาจารย์สุขุมจะปฏิเสธว่าไม่ทราบว่าในยุคนั้นเขาวิ่งเต้นกันยังไง แต่ก็เคยทราบมา อาจารย์บางคนในมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้เป็นอธิการบดีก็ได้เป็นส.ว. โดยมีคนพูดว่า อาจารย์ไม่รู้เหรอว่าเขาทำยังไงถึงได้เป็น เขาไปกราบเมียของนายพลคนหนึ่ง ปวารณาตัวรับใช้ ซึ่งบางทีเราก็นึกไม่ถึงว่าคนเราจะขายศักดิ์ศรีได้ถึงขนาดนั้น
ยิ่งในรอบนี้ซึ่งส.ว.จะมีอำนาจมหาศาล เรื่องการวิ่งเต้นจึงน่าจะหนักหน่วงขึ้นเป็นทวีคูณ ต้องไม่ลืมว่า หลังการเลือกตั้ง มันจะได้รัฐบาลที่ว่านอนสอนง่าย รัฐบาลที่จะถูกควบคุมโดยส.ว. ถ้าส.ว.เห็นว่าการทำงานไม่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่ร่างไว้และกำหนดให้รัฐบาลต้องรายงานทุก 3 เดือน มีการไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญทุกอย่างก็จบ
การเมืองไทยหลังรัฐธรรมนูญ 2559 พรรคส.ว.จะเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุด เพียงแต่ว่าจะใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติและควบคุมไม่ได้ใช้อำนาจบริหาร เป็นไปตามสูตรของคสช.ที่หากตั้งนายกฯ เองอาจจะถูกต่อต้าน จึงมาใช้วิธีคุมด้วยกฎ แล้วเอาองค์กรมากำกับ หน้าตาการเมืองไทยในรูปแบบนี้เท่ากับย้อนหลังกลับไปสู่ปีการปกครองเหมือนปี 2521
ถึงแม้อำนาจหน้าที่ของส.ว.ในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กับในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบจะมีความแตกต่างกันในรายละเอียด แต่หลักการแย่งยื้ออำนาจจากนักการเมืองและการควบคุมการเมืองไม่ได้แตกต่างกัน ทว่า สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนคือบริบทแวดล้อมต่างจากเมื่อ 40 ปีก่อนมาก คำถามคือระบบการเมืองที่ถอยหลังไป 4 ทศวรรษจะตอบโจทย์ประชาชนได้อย่างไร และหากตอบไม่ได้ มันจะนำไปสู่อะไร
เช่นเดียวกับกรณีปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ที่ล่าสุดเกิดเหตุคาร์บอมบ์ในจังหวัดปัตตานี มีคำถามว่าเชื่อมโยงกับกรณีระเบิด 7 จังหวัดใต้หรือไม่ หากฝ่ายเจ้าหน้าที่ยังจับมือใครดมไม่ได้และยังปักใจตั้งเป้าเชื่อว่าผู้ก่อเหตุเป็นคนละกลุ่มกัน จะด้วยเหตุผลเพราะกลัวเสียหน้าหรืออะไรก็สุดแท้แต่ แต่นั่นมันจะเป็นบทพิสูจน์ที่ว่า ไม่ว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลทหารที่ใช้อำนาจเด็ดขาด ก็ไม่สามารถสร้างความสงบให้กับดินแดนปลายด้ามขวานได้แม้แต่น้อย