วันนี้ที่รอคอยพลวัต 2016

คืนวันนี้ นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดเดอรัล รีเสิร์ฟ หรือ ธนาคารกลางสหรัฐ จะทำการปาฐกถาครั้งสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้น ตลาดเงินตราต่างประเทศ ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ และตลาดตราสารหนี้ทั่วโลก โดยเฉพาะวอลล์สตรีทในนิวยอร์ก ต้องเงี่ยหูฟังและตีความเพื่อประเมินท่าทีกันอย่างเอาจริงเอาจัง เฟดฯจะมีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนกันยายนนี้หรือไม่


วิษณุ โชลิตกุล

 

คืนวันนี้ นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดเดอรัล รีเสิร์ฟ หรือ ธนาคารกลางสหรัฐ จะทำการปาฐกถาครั้งสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้น ตลาดเงินตราต่างประเทศ ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ และตลาดตราสารหนี้ทั่วโลก โดยเฉพาะวอลล์สตรีทในนิวยอร์ก ต้องเงี่ยหูฟังและตีความเพื่อประเมินท่าทีกันอย่างเอาจริงเอาจัง เฟดฯจะมีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนกันยายนนี้หรือไม่

การตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยดังกล่าว ถูกเลื่อนมาเพื่อซื้อเวลาตั้งแต่การประชุมเฟดฯเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยอ้างสาเหตุสำคัญ 4 ประการที่รบกวนใจกรรมการเฟดฯจนแบ่งออกเป็นสายเหยี่ยวและสายพิราบมาตลอดคือ 1) ความชัดเจนในเรื่องเศรษฐกิจจีนในการปรับดุลยภาพว่าจะฟื้นตัวมากน้อยแค่ไหนโดยเฉพาะเรื่องปัญหาหนี้สินของรัฐวิสาหกิจ 2) การลงประชามติที่จะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ 3) ความชัดเจนในเรื่องของหนี้สินสาธารณะของกรีซ 4) นายโดนัล ทรัมพ์ จะได้รับเลือกตั้งเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันอย่างเป็นทางการหรือไม่ 

เงื่อนไขทั้ง 4 ข้อ ได้ผ่านมาจนมีความชัดเจน ไม่คลุมเครืออีกต่อไปแล้ว ในขณะที่ตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯเอง ก็แข็งแกร่งขึ้น โดยที่ปัจจัยเปราะบางลดน้อยถอยลงไปมาก ทำให้เสียงของพวกสายเหยี่ยวที่เคยถูกระงับเอาไว้กลับมาดังกังวานอีกระลอก และมีแนวโน้มเป็นเอกภาพเหนือสายพิราบที่นำโดยนางเยลเลนอีกครั้ง

การเลื่อนขึ้นดอกเบี้ยนับแต่เดือมิถุนายนเป็นต้นมาถึงปัจจุบัน มีส่วนทำให้เกิดภาวะกระทิงในตลาดหุ้นทั่วโลก เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำติดพื้นของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้ทำให้ทุนส่วนเกินที่ไม่ลงไปสู่ภาคการผลิต-บริการและจ้างงานที่แท้จริง หมุนเวียนเร่งทำกำไรระยะสั้นในตลาดเก็งกำไรทั่วโลก ดันให้มีโอกาสที่จะเข้าข่ายฟองสบู่ตลาดหุ้นได้ไม่ยาก

การที่เมื่อเร็ววันนี้ดัชนีสำคัญของตลาดหุ้นนิวยอร์ก ทำนิวไฮกันทั่วหน้าเป็นสถิติใหม่ ตอกย้ำโอกาสของฟองสบู่ในตลาดเก็งกำไรที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับช่วงก่อนวิกฤตซับไพรม์เมื่อ 8 ปีก่อนอย่างมาก แม้จะมีรายละเอียดต่างกัน

ในทางกลับกัน ดอกเบี้ยที่ต่ำยาวนานกว่าปกติ ทำให้ตลาดตราสารหนี้ไหวตัววูบวาบในเชิงลบ เพราะอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้น สวนทางราคาพันธบัตรที่ถูกนักงทุนเมินว่า ให้ผลตอบแทนสู้ตลาดหุ้นไม่ได้

 กรรมการสายเหยี่ยวของเฟดฯ ฉวยโอกาสนี้กลับมาเขย่าตลาดอีกครั้ง โดยอ้างถึง “ฝันร้ายจากวิกฤตซับไพรม์” เมื่อ 8 ปีก่อน ที่เกิดจากรากฐานความผิดพลาดของเฟดฯยุคปลายของนายอลัน กรีนสแปน ที่ยืนหยัดใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำนานเกินไป

ข้อเรียกร้องของสายเหยี่ยวในดเฟดฯที่ว่า เพื่อไม่ให้เกิดการย่ำรอยเดิมที่ผิดพลาดแบบซ้ำเดิมเมื่อหลายปีก่อนอีก เฟดฯจะต้องเลือกเอาการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อให้ดอลลาร์กลับแข็งค่าขึ้น โดยในขณะนี้ถือว่า เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มฟื้นตัวจนถึงระดับที่เรียกว่า “มวลวิกฤต” จนกระทั่งการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อใกล้เคียงกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อทำให้บรรดานักเก็งกำไรในชาติที่เคยชินกับ “โอกาส” ในการกู้ยืมต้นทุนต่ำในรูปดอลลาร์โดยไม่ต้องแบกรับภาระอะไรเลย  มาเผชิญกับ “ภาระ” แทนที่เฟดฯ เพราะต้นทุนกู้เงินดอลลาร์จะแพงเกินจนไม่คุ้มที่จะกระทำอีกต่อไป

ผลข้างเคียงของค่าดอลลาร์ที่สูงขึ้น ท่ำให้ทุนไหลกลับเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯครั้งใหม่ จะทำให้ชาติที่เคยหาประโยชน์โดยไร้ต้นทุนจากค่าดอลลาร์อ่อนเหล่านั้น จะต้องเปลี่ยนสถานะของการถือเงินสกุลดอลลาร์ มาเป็นการเก็งกำไรแทน ทำให้สหรัฐฯสามารถครอบงำตลาดโลกได้เต็มที่

ข้อเสนอของสายเหยี่ยวในเฟดฯนั้น แม้จะดู “อหังการ”และแข็งกร้าวอย่างมาก แต่ก็เป็นสิ่งที่นักการเงินและตลาดบางส่วนเห็นพ้องด้วย เพราะว่า โอกาสที่เฟดฯจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายน ยังมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ เพราะการออกมาส่งสัญญาณในลักษณะคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย “อย่างน้อย” 1 ครั้งในปีนี้ แสดงว่า อาจจะมากเกินกว่า 1 ครั้งได้

นัก “อ่านริมฝีปากเฟดฯ” ที่ช่ำชองหลายคนในนวยอร์ก ถึงกับกล้าระบุชนิดไม่กลัวธงหักว่า หากเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ จะต้องทำการปรับในเดือนกันยายนนี้ให้ได้ ไม่เช่นนั้น จะไม่มีการปรับขึ้นอีกเลยตลอดสิ้นปีนี้

เหตุผลที่นำมาสนับสนุนคือ ปัจจัยความเป็นมนุษย์ของนางเยลเลน เพราะหากไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้เลย นักลงทุน “ขาใหญ่” ในตลาดทั่วโลกจะ “ดูเบา” ความน่าเชื่อถือของเฟดฯ และนางเยลเลนลงว่าเป็นกลุ่มคนที่ “ไร้น้ำยา”

คำอธิบายเพิ่มเติมที่น่าสนใจคือ ถ้าเฟดฯรอไปจนถึงเดือนธันวาคมเพื่อขึ้นดอกเบี้ย พวกเขาจะเผชิญกับความไม่แน่นอนที่มากกว่าความเสี่ยง เพราะอาจจะถูกสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้บางประการ ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ย่ำแย่ทางเศรษฐกิจ ทำให้โอกาสของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยล่าช้าออกไปอีก

ทั้งหมดนี้ขมวดปมอยู่ที่ท่าทีของนางเยลเลนคืนนี้เป็นสำคัญ ซึ่งดูเหมือนว่านางเยลเลนเองก็รู้ดี จึงได้ทำตัวเงียบเชียบ ซึ่งในความเงียบเช่นนี้ น่ากลัวเสียยิ่งกว่าความอึกทึกจากการโยนก้อนหินถามทางหรือโต้แย้งระหว่างสายเหยี่ยวกับสายพิราบในช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้

เสียงแห่งความเงียบของนางเยลเลนคืนนี้ จะก้องกังวานแค่ไหน ยากจะคาดเดา แต่เชื่อล่วงหน้าไว้ก่อนว่า ไม่ธรรมดา …และอาจจะเป็นมากกว่าเดอร์ตี้บอมบ์หลายเท่าก็ได้

Back to top button