พาราสาวะถี อรชุน
ชัดเจนกันเสียทีไม่ต้องมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หรือคาดเดากันต่างๆ นานาอีกต่อไป เมื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศ “จะอยู่ต่อ แม้ไม่มีเงินเดือน และจะอยู่ด้วยกลไกประชาธิปไตยที่สง่างาม เพียงแต่ว่าจะมาอย่างไรยังไม่รู้เหมือนกัน” ยืนยันกันอย่างนี้ก็เท่ากับว่ากระบวนการต่างๆ ที่ดำเนินการมาทั้งหมด รวมไปถึงเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ เป็นการทำเพื่อสืบทอดอำนาจนั้นเป็นเรื่องจริง
ชัดเจนกันเสียทีไม่ต้องมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หรือคาดเดากันต่างๆ นานาอีกต่อไป เมื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศ “จะอยู่ต่อ แม้ไม่มีเงินเดือน และจะอยู่ด้วยกลไกประชาธิปไตยที่สง่างาม เพียงแต่ว่าจะมาอย่างไรยังไม่รู้เหมือนกัน” ยืนยันกันอย่างนี้ก็เท่ากับว่ากระบวนการต่างๆ ที่ดำเนินการมาทั้งหมด รวมไปถึงเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ เป็นการทำเพื่อสืบทอดอำนาจนั้นเป็นเรื่องจริง
อย่างที่บอกไว้หลายหนไม่จำเป็นต้องกระมิดกระเมี้ยนอะไรอีก หากคิดว่าไม่มีใครดีเกินกว่านี้อีกแล้ว บิ๊กตู่ประกาศอยู่ต่อไปเลยจะนาน 5 ปีหรือ 20 ปีไม่มีใครว่า ส่วนความสง่างามที่พูดถึงนั้น คงหนีไม่พ้นเรื่องการได้รับเสนอชื่อโดยส.ส.จากพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใด ตรงนี้ก็เป็นการช่วยยืนยันเรื่องเซ็ตซีโร่พรรคการเมืองไม่ใช่เรื่องล้อเล่นหรือโยนหินถามทาง
เป้าหมายของการดำเนินการเช่นนั้น เพื่อตีเป้าหมายทางการเมืองกลุ่มมุ้งต่างๆ ในพรรคการเมืองใหญ่ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยให้แตกกระสานซ่านเซ็นไปหาที่เกาะกันใหม่ แน่นอน ประสานักเลือกตั้งผู้มีความอยาก ย่อมเลือกที่จะยืนอยู่ข้างผู้ถืออำนาจ เพียงแต่ว่าคนเหล่านั้นจะต้องไปร่วมกันในพรรคที่เชื่อว่าน่าจะได้ส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ขึ้นไปเพื่อสิทธิ์ในการเสนอชื่อนายกฯ นั่นเอง
ขณะเดียวกันก็น่าจะเป็นการยืนยันเรื่องการประกาศตั้งพรรคประชาชนปฏิรูปของ ไพบูลย์ นิติตะวัน เพื่อรองรับการก้าวขึ้นสู่อำนาจของบิ๊กตู่และเครือข่ายก่อหวอดโบกมือเรียกคสช.ออกมายึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หากจะให้เกิดความสง่างามอย่างแท้จริงหัวหน้าคสช.ต้องก้าวมาเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองหรือไม่ก็ลงสมัครส.ส.เพื่อจะได้ลดข้อครหาเรื่องการใช้เสียงของส.ว.ลากตั้งเป็นเครื่องค้ำยันในการก้าวสู่เก้าอี้ผู้นำประเทศ
เป็นอันว่า ท่าทีเช่นนี้ของน้องตู่ คงทำให้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องกลับไปเลี้ยงหลานได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องอยากได้ใคร่ดีหรือหวังเก้าอี้ผู้นำประเทศอีกต่อไป ความจริงจะไปกล่าวหาว่าท่านต้องการตำแหน่งนายกฯ ก็คงไม่ถูกต้องนัก เพราะบิ๊กป้อมยืนยันมาโดยตลอดไม่คิดจะเล่นการเมือง ไม่อยากเป็นนายกฯ ที่เข้ามาเพื่อช่วยน้องทำงาน เมื่อคิดอย่างนั้นก็จึงไม่จำเป็นที่จะต้องค้างคาใจอะไรกับการประกาศอยู่ต่อของบิ๊กตู่แต่อย่างใด
จะว่าไปแล้ว หากจะไปสืบค้นหาเหตุผลว่าทำไมพลเอกประยุทธ์จึงมั่นใจและกล้าประกาศที่จะอยู่ต่อ ทั้งๆ ที่ยังเหลือเวลาอีกกว่าปีครึ่งจึงจะมีการเลือกตั้ง ประการหนึ่งน่าจะมาจากการหลงในเสียงประชามติ 16 กว่าล้านเสียงที่เห็นดีเห็นงามกับร่างรัฐธรรมนูญ นั่นถือเป็นความชอบธรรมขั้นแรกที่ทำให้หัวหน้าคสช.คิดว่า คนส่วนใหญ่ชื่นชอบและมั่นใจในตัวเอง
ประการต่อมาคงเป็นแรงหนุนจากบรรดานักวิชาการและภาคเอกชนทั้งหลายแหล่ เหมือนที่รายงานของนิตยสารดิอีโคโนมิสต์เขียนบทความเรื่อง “How not to solve a crisis” หรือ วิธีที่จะไม่ช่วยแก้วิกฤตการเมืองไทย โดยชี้ถึงผลประชามติที่ออกมาเป็นเครื่องเตือนใจว่า ชนชั้นกลางไทยจำนวนมากรับได้กับการปกครองของทหารหากพวกเขาได้ประโยชน์ คนเมืองจำนวนไม่น้อยมีความปรารถนาเดียวกันกับรัฐบาลทหารที่จะขจัดอิทธิพลของ ทักษิณ ชินวัตร
คนเหล่านี้เชื่อว่าทักษิณปกครองโดยทุจริต แต่กลับได้รับความนิยมจากคนยากจนในชนบท จนเป็นเหตุให้เกิดการต่อต้านโดยไม่ได้ยึดหลักเหตุผลใดๆ ใช้แต่ความรู้สึกหรืออคติล้วนๆ อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าจะทำให้พรรคของทักษิณที่ชนะการเลือกตั้งมาตลอดตั้งแต่ปี 2544 เสียเปรียบจากกติกาการเลือกตั้งแบบใหม่
สิ่งที่น่าสนใจจากบทความของดิอีโอโนมิสต์ก็คือ หลังจากผลประชามติ รัฐบาลทหารดูเหมือนว่าจะไม่ตระหนักถึงชัยชนะที่ว่างเปล่า หรือความโกรธที่สะท้อนในผลโหวตท่ามกลางการวิจารณ์ที่ถูกปิดปาก แต่กลับออกแถลงการณ์ว่า ผลโหวตนี้เป็นสัญญาณเดินหน้าประเทศ ทั้งที่จากความเชื่อดังกล่าว ผลของการทำประชามติจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้เพียงระยะสั้นเท่านั้น
โดยสื่อดังกล่าวได้วิเคราะห์ถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยว่า รัฐบาลที่อ่อนแอซึ่งต้องฟังเสียงกลุ่มผลประโยชน์อันทรงอิทธิพลนั้น ยากที่จะหาทางยกระดับประเทศขึ้นมาได้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ มองว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยช้าลงจาก 5 เปอร์เซ็นต์ในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 2000 เป็น 3 เปอร์เซ็นต์ใน 5 ปีที่ผ่านมา
ในขณะที่อุปสงค์ในประเทศอ่อนแอและการส่งออกจะลดลงเป็นปีที่สามติดต่อกันในปีนี้ กำลังแรงงานที่มีอยู่เริ่มสูงอายุและมีค่าแรงแพงขึ้น ขณะที่การพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ กลายเป็นเรื่องน่าขันเพราะมีการเซ็นเซอร์และสอดส่องออนไลน์อย่างหนัก ประเด็นเรื่องชนชั้นกลางหนุนหลังเผด็จการทหารของสื่อต่างชาติรายนี้สอดรับกับมุมมองของ นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ
อดีตรัฐมนตรีไอซีทีของพรรคเพื่อไทย มองว่านักวิชาการ สื่อมวลชน พ่อค้า นักธุรกิจส่วนหนึ่ง ร่วมผสมโรงไปกับผู้มีอำนาจ แม้จะรู้ว่าไม่ใช่เรื่องถูกต้อง แต่การบริหารอำนาจแบบไม่ต้องกลัวการตรวจสอบก็สามารถสร้างแรงจูงใจให้กับคนกลุ่มใหญ่ที่เชื่อได้ว่าอาจได้รับผลประโยชน์หลากหลายรูปแบบที่มีทั้งอำนาจและเงินตรา
ขณะที่คนกลุ่มหนึ่งยังคงปักหลักยืนหยัดต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย เราจะเห็นคนอีกกลุ่มออกมาสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ซึ่งเรื่องทั้งสองไม่น่าจะเกิดขึ้นได้พร้อมๆ กันในประเทศที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ทั้งๆ ที่ความจริงคนไทยส่วนใหญ่น่าจะไม่เห็นด้วยกับเผด็จการ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังการปฏิวัติมีแต่ทำให้ประเทศไทยจนและประชาชนเจ๊งทุกครั้ง
กล่าวโดยสรุปวงจรการเลือกตั้ง การประท้วงและการทำรัฐประหารจะยังคงวนเวียนในการเมืองไทยไปอีกระยะ ในระบบการเมืองภายใต้การนำของรัฐบาลทหารนั้นจะทำให้พวกเขามีอำนาจในการควบคุมการเมืองโดยที่ไม่ต้องเอารถถังออกมา แต่นี่ก็ไม่ใช่แนวทางที่จะแก้ปัญหาต้นตอความขัดแย้งของประเทศ ที่เกิดจากการปกครองแบบรวมศูนย์ซึ่งปล่อยให้คนใหญ่คนโตในกรุงเทพฯ กวาดเอาอำนาจและทรัพยากรไป การทำประชามติทำให้การรัฐประหารครั้งนี้ถาวร โดยที่แค่ซ่อนปัญหาไว้ใต้พรมเท่านั้น