ศิลากลับอ่อนยวบพลวัต 2016
หนึ่งในเรื่องราววรรณคดีไทย ที่รับถ่ายทอดต่อกันมายาวนาน เรื่องหนึ่ง เอ่ยถึงทีไร ย่อมมโนซึมซาบต่อได้ทันทีคือ แท่นบัณฑุกัมพลของพระอินทร์ เทพเจ้าพันตาแห่งนครไตรตรึงษ์หรือดาวดึงส์เมืองสวรรค์ โดยเฉพาะท่อนที่ว่า
วิษณุ โชลิตกุล
หนึ่งในเรื่องราววรรณคดีไทย ที่รับถ่ายทอดต่อกันมายาวนาน เรื่องหนึ่ง เอ่ยถึงทีไร ย่อมมโนซึมซาบต่อได้ทันทีคือ แท่นบัณฑุกัมพลของพระอินทร์ เทพเจ้าพันตาแห่งนครไตรตรึงษ์หรือดาวดึงส์เมืองสวรรค์ โดยเฉพาะท่อนที่ว่า
“…มาจะกล่าวบทไป ถึงท้าวสหัสนัยไตรตรึงษา
ทิพย์อาสน์เคยอ่อนแต่ก่อนมา กระด้างดังศิลาประหลาดใจ
จะมีเหตุมั่นแม้นในแดนดิน อมรินทร์เร่งคิดสงสัย…”
พระแท่นบัณฑุกัมพลของพระอินทร์นั้นทำด้วยศิลา แต่ในยามปกติพระแท่นนี้จะอ่อนนุ่ม คือฟุบลงเมื่อประทับนั่ง และฟูขึ้นเมื่อพระอินทร์ได้ลุกไปแล้ว เสมือนเก้าอี้นวมหรือเก้าอี้มีสปริง แต่ถ้ามีเหตุการณ์ไม่ปกติที่เกิดขึ้นเฉพาะกับตัวพระเอกของวรรณคดีไทย พระแท่นนี้ก็จะแข็งกระด้าง เป็นเครื่องเตือนสัญญาณให้พระอินทร์รู้ว่าต้องมีเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแน่ และเหตุการณ์นั้นจะสงบได้ก็ต้องโดยพระอินทร์ไปช่วยเหลือ
ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา พระแท่นบัณฑุกัมพลของพระอินทร์ กระด้างหรือนิ่ม แต่ที่แน่นอนคือ ค่าดอลลาร์สหรัฐได้พลิกแข็งกระด้างขึ้นท้ายตลาดกะทันหัน หลังจากที่นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดฯสตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ กล่าวสุนทรพจน์เสร็จ
แม้นางเยลเลน จะพยายามรักษาหน้าและฟอร์มของตนเอง ว่าได้ยอมแพ้ให้กับสายเหยี่ยวของกรรมการเฟดฯคนอื่นๆ และส่งสัญญาณยกธงขาวอย่างเป็นทางการ แต่ก็ยังไว้ลายแทงกั๊กเอาไว้ โดยบอกว่า ถ้าจะขึ้นดอกเบี้ยในระยะต่อไป จะต้องค่อยเป็นค่อยไป
บังเอิญ สายเหยี่ยวไม่คิดเช่นนั้น เพราะนาย สแตนลี่ย์ ฟิสเชอร์ที่ปกติเป็นสายกลางมาตลอด ออกมายืนยันได้แปรสภาพเป็นสายเหยี่ยวเต็มตัว ได้ออกมาย้ำอีกครั้งว่า โอกาสขึ้นดอกเบี้ยเดือนกันยายนเป็นไปได้ ถ้าหากตัวเลขจ้างงาน ว่างงาน และขอรับสวัสดิการว่างงาน บ่งชี้ทางเดียวกันว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯมีโอกาสที่จะเงินเฟ้อเพิ่มในระยะต่อไป
ดัชนีตลาดหุ้นนิวยอร์กกลางตลาดที่ทำท่าบวกเพราะท่าทีแทงกั๊กของนางเยลเลน จึงร่วงท้ายตลาดชนิด “เอาไม่อยู่”
ผลลัพธ์ต่อเนื่องที่เลี่ยงไม่พ้นคือ ค่าดอลลาร์ที่เคยอ่อนยวบมานานหลายเดือน เริ่มพลิกกลับ บ่งบอกว่าช่วงเวลาของดอลลาร์ถูกกำลังจะจบสิ้นลงโดยพฤตินัย
รหัสระหว่างบรรทัดของนางเยลเลน ที่มีความหมายมากกว่าคำว่า “ขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป” อยู่ที่ประเด็นสำคัญกว่าว่า จากนี้ไป เฟดฯจะหันกลับมายึดถือจารีต “ปกติ” ของธนาคารกลางในการใช้มาตรการทางการเงินคือ การใส่ใจกับดอกเบี้ย มากกว่าการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มปริมาณเงิน และใช้เฮลิคอปเตอร์มันนี่ ที่เคยกระทำมาในยามวิกฤติซับไพรม์
การกลับคืนสู่สามัญของเฟดฯ ตอกย้ำว่าดอลลาร์ในอนาคตจะถูกกำหนดด้วยอัตราดอกเบี้ยเป็นสำคัญ ไม่ใช่ปริมาณเงินที่ทำมาในช่วงหลังวิกฤตซับไพรม์อีกครั้ง
การแข็งค่าของดอลลาร์มีผลต่อตัวแปรในไทยหลายด้านพร้อมกันคือ 1) ทำให้ค่าบาทที่แข็งมามากที่สุดในรอบ 14 เดือน อ่อนค่าลง 2) ราคาสินค้าส่งออกของไทยที่ย่ำแย่จะดีขึ้นในระยะต่อไป 3) กระฟันด์โฟลว์ต่างชาติที่ดันตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นไทยให้ค่าพี/อีสูงอย่างผิดธรรมชาติมายาวนานกว่า 2 เดือน จะมีโอกาสถอนตัวกลับไปเป็นฟันด์โฟลว์ไหลออกแทน
ปรากฏการณ์เช่นนี้ คนที่โล่งอกมากกว่าใครคือผู้บริหารแบงก์ชาติไทย ที่ไม่ต้องเหนื่อยกับการเข้าแทรกแซงตลาดที่อาจจะเกิดผลข้างเคียงไม่พึงปรารถนาได้
ส่วนคนที่น่ากลุ้มใจคือนักลงทุนระดับ “แมงเม่า” ในตลาดหุ้นไทยนั่นเอง เพราะสองเดือนมานี้ พากันไล่ล่าหาหุ้นแห่งอนาคตและมีกำไรพอประมาณ จากนี้ไปคงต้องเรียนรู้วิธี “ตัดขาดทุน” หรือ “เล่นหุ้นขาลง” กันมากขึ้น
สถานการณ์ทั่วไปที่ถือเป็นปกติคือ ค่าเงินบาทอ่อน จะสัมพันธ์กันอย่างดีกับการที่ต่างชาติกลายเป็นผู้ขายสุทธิในตลาดหุ้น และตราสารหนี้ของไทยอย่างชัดเจน โดยที่คำถามว่าจะกลับมาอีกเมื่อใด จะเป็นปริศนาที่ตลาดต้องติดตามกัน
ท่าทีของกองทุนต่างชาติในการไหลเข้าหรือไหลออก ไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติเพราะเงินทุนเก็งกำไรที่ไหลเข้ามาในเอเชีย 2 ระลอกในปีนี้ ระลอกแรกคือช่วงนับแต่เดือนมกราคมถึงต้นเมษายน ส่วนระลอกสองคือปลายเดือนกรกฎาคมถึงปัจจุบัน โดยมียอดซื้อสะสมสุทธิมากกว่า 1.1 แสนล้านบาทเข้าไปแล้ว มีรากฐานจากการที่ดอลลาร์อ่อน เพราะเฟดฯชะลอการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จนทำให้ตลาดเชื่อว่า การใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำทั่วโลก จะทำให้การลงทุนและจ้างงานในภาคการผลิตและบริการย่ำแย่ต่อไป ในขณะที่ปริมาณเงินล้นเกินจากมาตรการ QE ของชาติใหญ่อย่างสหรัฐฯ ยูโรโซน สหราชอาณาจักร และ ญี่ปุ่น (อาจรวมถึงจีนด้วยในชื่ออื่น) ทำให้การลงทุนในตลาดเก็งกำไร ปลอดภัยมากกว่าการลงทุนตลาดสินค้าและบริการ
หลายเดือนมานี้ ความเชื่อมั่นว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟดฯ) จะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจุดยืนในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ฝังรากลึก ทำให้เงินทุนเก็งกำไรไหลเข้ามาในตลาดหุ้นไทย เพราะมองเห็นว่าแม้ตัวเลขส่งออกของไทยจะย่ำแย่ และ การเมืองยังมีความเสี่ยง แต่ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น (เพราะแบงก์ชาติไทยไม่ยอมทำหน้าที่เข้าแทรกแซงตลาดเพื่อป้องกันบาทแข็ง) ทำให้มั่นใจได้ระดับหนึ่งว่ามีความปลอดภัยและสามารถหากำไรจากตลาดขาขึ้นได้ชั่วคราว
การไหลเข้าของฟันด์โฟลว์ ที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยมีผลตอบแทนระดับหัวแถวในเอเชีย ทำให้ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ไทยประโคมผลงาน (ที่บังเอิญมาเข้าทางพอดี) กันเอิกเกริก ในขณะที่นักลงทุนจำนวนหนึ่งหากำไรจากส่วนต่างราคาหุ้นที่ผลัดกันวิ่งแรงตามจังหวะสัญญาณ ท่ามกลางมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยประจำวันที่คึกคักอย่างมาก
การกลับลำของนโยบายเฟดฯในเรื่องอัตราดอกเบี้ย หลังจากสายพิราบในเฟดฯดึงเกมมานาน จนกระทั่งเฟดฯเสียหายด้านภาพลักษณ์มากพอสมควร จะเป็นจุดพลิกผันสำคัญของตลาดหุ้นไทยจากนี้ไปมากน้อยเพียงใด ยังยากจะประเมินได้ เพราะเงื่อนไขสำคัญอยู่ที่ทุนเก็งกำไรต่างชาติ จะมีมุมมองว่าถึงเวลาจากไปทำกำไรในตลาดอื่นแทนได้หรือยัง เช่น ตลาดญี่ปุ่น หรือยูโรโซน ที่ราคาหุ้นยังต่ำมาก
การแข็งค่าดอลลาร์รอบนี้ มีโอกาสทำให้ค่าบาทอ่อนลงแน่นอน แต่จะนำไปเทียบกับ “ศิลาที่กลับอ่อนยวบ” ของพระแท่นบัณฑุกัมพล คงไม่ได้ เพียงแค่เทียบเพื่อให้เห็นภาพเท่านั้น