เอื้อเอกชนรัฐเสียหาย?ทายท้าวิชามาร
“หมอเลี้ยบ” สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ถูกตัดสินจำคุก 1 ปี ฐานแก้สัญญาสัมปทานไทยคมเอื้อประโยชน์ชินคอร์ป
ใบตองแห้ง
“หมอเลี้ยบ” สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ถูกตัดสินจำคุก 1 ปี ฐานแก้สัญญาสัมปทานไทยคมเอื้อประโยชน์ชินคอร์ป
คดีนี้มีองค์ประกอบ 2 ประเด็น คือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กับทำให้รัฐเสียหาย เหตุเกิดเมื่อปี 47 ชินคอร์ปขอแก้สัญญาสัมปทานลดสัดส่วนถือหุ้นในไทยคมจาก 51% เหลือ 40% เพื่อระดมทุนยิงดาวเทียมไอพีสตาร์ กระทรวงไอซีทีหารือสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการสูงสุดเห็นว่าทำได้ แต่ควรขอมติ ครม.ก่อน จึงเสนอเรื่องผ่านเลขาธิการ ครม. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ แต่บวรศักดิ์ตีกลับ โดยบันทึกว่า “ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ต้องเสนอครม.พิจารณา” กระทรวงไอซีทีหารือสำนักงานอัยการสูงสุดอีกครั้ง เห็นว่าทำได้ หมอเลี้ยบจึงลงนาม
แต่บวรศักดิ์ให้การต่อศาลว่า ตามสัญญาปี 34 ทักษิณเป็นคู่สัญญากับรัฐ จึงไม่อาจเสนอเรื่องเข้า ครม. โดยได้แจ้งทางโทรศัพท์ให้หมอเลี้ยบทราบ และให้ถอนเรื่องกลับ ส่วนที่มีหนังสือตอบ “ไม่เข้าหลักเกณฑ์” เป็นการตอบทางเทคนิค เพื่อรักษาความสัมพันธ์กับทักษิณ และรักษาหน้าหมอเลี้ยบ
ด้วยเหตุนี้ ศาลจึงชี้ว่าหมอเลี้ยบผิด ฐานปกปิดความจริงที่บวรศักดิ์แจ้งทางโทรศัพท์ ไม่บอกให้สำนักงานอัยการสูงสุดทราบ
ประเด็นที่สอง ทำให้รัฐเสียหาย ศาลเห็นว่า การแก้ไขสัญญาทำให้รัฐได้รับความเสี่ยง เป็นการลดทอนความมั่นคงและความมั่นใจในการดำเนินโครงการดาวเทียมของชินคอร์ป ที่จะต้องมีอำนาจการควบคุมบริหารจัดการอย่างเด็ดขาด การลดสัดส่วนอาจทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อย 60% รวมตัวคัดค้านการดำเนินการของบริษัทได้ ฯลฯ
ประเด็นนี้คงมีหลายคนข้องใจ เพราะเวลาผ่านไป 12 ปี เป็นที่เห็นประจักษ์ว่ายังมีความเสี่ยงอยู่ไหม ไอพีสตาร์ผงาดฟ้ามั่นคง รัฐได้ค่าสัมปทาน สาธารณชนได้ประโยชน์ด้านสื่อสารโทรคมนาคม อะไรคือความเสียหาย
เข้าใจว่าศาลยึดคำพิพากษายึดทรัพย์ทักษิณปี 53 เป็นบรรทัดฐาน แล้วคำพิพากษาปี 53 ก็มาจากคำฟ้องของ คตส.ซึ่งเมื่อปี 49-50 คตส.มองว่ารัฐเสียหาย
ต่างกับวันนี้ที่มองย้อนหลังไป ทักษิณ-หมอเลี้ยบ ถูกผิดทุจริตไหมเป็นอีกเรื่อง แต่หลายคนก็มองว่า ถ้าไอพีสตาร์ล่าช้าไป ทั้งรัฐทั้งสาธารณชนก็เสียประโยชน์ ยิ่งเร็วก็ยิ่งได้ประโยชน์ทุกฝ่าย
พูดอย่างนี้ไม่ได้จะมาตะแบงคำพิพากษา ศาลเห็นว่าชินคอร์ปได้ประโยชน์ในยุคทักษิณ ถือเป็นได้ประโยชน์ไม่สมควร ต้องยึดทรัพย์ แต่ปัญหาคือคำว่า “รัฐเสียหาย” ทำให้ตีความกันยุ่งเหยิง
ตัวอย่างเช่น ทศท.เรียกร้อง 72,000 ล้านจาก AIS โดยอ้างว่า พ.ร.ก.แปลงสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต ทำให้เสียหาย ทั้งที่เป็นการส่งเงินเข้าคลังโดยไม่ผ่านปากรัฐวิสาหกิจ หรืออ้างว่าการแก้ไขสัญญาลดส่วนแบ่งรายได้ ลดค่าโรมมิ่ง ทำให้ ทศท.เสียประโยชน์ แต่ผลเป็นจริงคือค่าโทรลดจากนาทีละ 5 บาทเหลือ 1 บาท มีคนใช้เป็นสิบๆ ล้าน แน่ละ AIS โกยมหาศาล แต่ ทศท.ก็ได้ส่วนแบ่งเบิกบาน ประชาชนได้เข้าถึงบริการ
ประเด็นจึงน่าคิดต่อไปว่า คำวินิจฉัย “รัฐเสียหาย” จะวางบรรทัดฐานอย่างไร เพราะโลกยุคปัจจุบัน รัฐบาลเป็น “รัฐบริการ” service state มีหน้าที่ดูแลภาคเศรษฐกิจด้วย มีเรื่องที่ต้องให้ความช่วยเหลือ ทำสัญญา แก้สัญญา กับเอกชนมากมาย ซึ่งหลายเรื่องทำให้เอกชนได้ประโยชน์ แต่รัฐและสาธารณชนก็ได้ประโยชน์ด้วย
รัฐบาลนี้ไม่เป็นไรหรอก เพราะมี ม.44 แต่หมดยุค ม.44 เมื่อไหร่ ก็อาจฟ้องร้องกันวุ่นวาย “เอื้อเอกชน” “ทำให้รัฐเสียหาย” จนไม่มีใครกล้าทำอะไร
ใบตองแห้ง