พาราสาวะถี อรชุน

การประกาศอยู่ต่อของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะเข้ามาสู่ตำแหน่งอีกรอบแบบไหน แค่เท่านี้เสียงวิจารณ์ก็กระฉ่อนกันไปไกลแล้ว ด้านหนึ่งคงเป็นผลจากประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่มีเสียงรับกว่า 16 ล้านเสียง อันเป็นการสอดรับกับผลโพลของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่สำรวจคะแนนนิยมในตัวท่านผู้นำก่อนหน้าที่พบว่าสูงถึงร้อยละ 99.50


การประกาศอยู่ต่อของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะเข้ามาสู่ตำแหน่งอีกรอบแบบไหน แค่เท่านี้เสียงวิจารณ์ก็กระฉ่อนกันไปไกลแล้ว ด้านหนึ่งคงเป็นผลจากประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่มีเสียงรับกว่า 16 ล้านเสียง อันเป็นการสอดรับกับผลโพลของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่สำรวจคะแนนนิยมในตัวท่านผู้นำก่อนหน้าที่พบว่าสูงถึงร้อยละ 99.50

ไม่เพียงเท่านั้นการเข้าอวยพรวันเกิดครบรอบ 96 ปีของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ บิ๊กตู่ก็ได้รับคำชมพร้อมคำยืนยันอันน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เชื่อว่าเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เจ้าตัวกล้าประกาศอยู่ต่อ เพราะป๋าบอกว่า“ทหารแก่อย่างเราจะทำทุกอย่าง เพื่อให้ตู่สามารถทำงานบรรลุภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของชาติ”

ภารกิจดังว่านั้น นอกจากการรัฐประหารจนนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างแล้ว การไล่บี้เอาผิดชนิดถอนรากถอนโคนเครือข่ายระบอบทักษิณ ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ป๋าชอบใจ การไม่ไว้หน้า ไม่สนใจฝ่ายการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ถือเป็นความเด็ดขาดไม่เสียของเหมือนคณะรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

การประกาศอย่างชัดเจนของพลเอกประยุทธ์ ทำให้บรรดาพวกเชลียร์ทั้งหลายถึงกับตีอกชกตัวด้วยความยินดีปรีดา เพราะถือเป็นการไม่เสียเที่ยวที่พรรคพวกตัวเองอุตส่าห์ออกตัวแรงยกมือหนุนกันแบบสุดลิ่มทิ่มประตู ถึงขนาดที่ วันชัย สอนศิริ นำเอาคำประกาศอยู่ต่อของบิ๊กตู่ไปเปรียบเทียบกับป๋า ซึ่งสามารถอยู่บริหารประเทศยาวนาน 8 ปีโดยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

สงสัยวันชัยคงลืมไปว่า การเข้ามาสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศของพลเอกเปรมนั้นไม่ได้เกิดจากการรัฐประหาร หากแต่เป็นความยินยอมพร้อมใจของพรรคการเมือง เรียกได้ว่าป๋าอยู่ได้เพราะนักการเมืองและพรรคการเมืองให้การสนับสนุน ขณะที่บิ๊กตู่ไม่รู้ว่าหลังการเลือกตั้ง แม้จะมีส.ว.ลากตั้งอยู่ในมือ 250 เสียง และไม่น่าจะยากที่จะหาเสียงจากนักการเมืองผู้หิวโหยมาหนุน แต่นั่นหาใช่การการันตีความจีรังยั่งยืนไม่

ต้องไม่ลืมว่า หากมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว อำนาจตามมาตรา 44 จะต้องหมดไป เมื่อเป็นผู้นำที่ไร้ยาวิเศษหรืออำนาจอันเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ท่านจะบริหารงานโดยไร้ภาวะต่อต้านอย่างไร เสียงท้วงติงที่น่าสนใจต่อกรณีการจะใช้ฐานส.ว.ลากตั้ง 250 เสียงเป็นฐานค้ำยันอำนาจนั้น “เสธ.อู้” พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแสดงทัศนะไว้น่ารับฟัง

ผู้ที่จะมาเป็นนายกฯ แม้ว่าจะมีบทเฉพาะกาลให้ส.ว.มีส่วนร่วมในการเลือกนายกฯ แม้จะได้รับเสียงสนับสนุนให้เป็นนายกฯ ก็ไม่เพียงพอ ตนเห็นว่าจะต้องมีเสียงสนับสนุนจากส.ส.ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ไม่เช่นนั้นเชื่อว่าจะไม่สามารถเดินหน้าบริหารงานได้ หรืออยู่ได้ก็ไม่นาน เพราะการขับเคลื่อนการบริหารประเทศต้องอาศัยส.ส.ที่จะต้องขับเคลื่อนทั้งกฎหมายและการทำงานด้านต่างๆ

ดังนั้นนายกฯ คนต่อไป ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับจากทั้งรัฐสภาและสภาผู้แทนราษฎร ไม่เพียงเท่านั้น ผลพวงจากกระบวนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ที่เต็มไปด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เห็นเด่นชัดคือจากต่างประเทศ นั่นจะเป็นอีกปัจจัยที่บิ๊กตู่ต้องเผชิญหากก้าวเข้ามารับตำแหน่งอีกกระทอก เพราะจะต้องเผชิญกับเสียงต่อต้านของนานาประเทศ

การทำประชามติที่ปิดกั้นความเห็นต่างนั่นถือเป็นเหตุปลายทางที่มีเสียงทักท้วงรอบทิศ แต่สิ่งที่จะต้องคิดกันให้หนัก การอ้างว่ากลับมาสู่ตำแหน่งอย่างสง่างามตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยนั้น การได้รับเสียงโหวตหลังเลือกตั้งให้เป็นนายกฯ คนนอกของบิ๊กตู่ ไม่ได้หมายความว่ามาตามกลไกของประชาธิปไตย แต่เป็นการเข้าสู่อำนาจตามกลไกที่คนยึดอำนาจสร้างขึ้น ซึ่งเรียกว่าชงเองกินเอง นั่นเอง

หนึ่งคนที่ตั้งข้อสังเกตในประเด็นนี้คือ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. ที่บอกว่าบิ๊กตู่ทำรัฐประหาร ตั้งคนมาร่างรัฐธรรมนูญ ออกกติกาประชามติไม่เหมือนใครในโลก ใช้อำนาจรัฐปิดกั้นคนเห็นต่าง จับกุมคุมขังดำเนินคดีจนรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ แล้วตั้งส.ว.250 คนไปรอยกมือให้เป็นนายกฯ ในสภา แบบนี้เรียกว่ากลไกประชาธิปไตยไม่ได้

สิ่งสำคัญต้องไม่ลืมว่า บิ๊กตู่ยังถืออำนาจมาตรา 44 อยู่จนกว่าจะมีครม.ชุดใหม่ เท่ากับว่าการเข้าสู่ตำแหน่งนายกฯ เป็นไปโดยอำนาจของคณะรัฐประหาร ไม่ใช่อำนาจของประชาชน จะอ้างความสง่างามได้อย่างไร และต้องอธิบายให้ได้ว่าการเป็นนายกฯ ของท่านต่างกับการเป็นนายกฯ ของ พลเอกสุจินดา คราประยูร อันเป็นชนวนเหตุพฤษภาทมิฬหรือไม่

แต่ก็อีกนั่นแหละ ไม่ว่าจะมีเสียงสะท้อนอย่างไร ในมุมของกลุ่มคนที่ลงทุนสร้างวิกฤติเทียมขึ้นมาเพื่อเปิดทางให้รัฐประหาร ย่อมไม่อินังขังขอบต่อข้อครหาเหล่านั้นอยู่แล้ว ที่จะลืมไม่ได้คืออีกด้านก็มีการเล่นงานนักการเมืองในเครือข่ายทักษิณอย่างต่อเนื่อง กระบวนการถอดถอนนับตั้งแต่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนมีคดีความเรื่องรับจำนำข้าวนั่นเป็นตัวชี้วัดสำคัญ

นอกจากนั้น ยังมีรายทางที่ดำเนินการในเรื่องถอดถอนอย่างต่อเนื่องล่าสุด ประชา ประสพดี อดีตรัฐมนตรีมหาดไทยก็ถูกสำเร็จโทษไปแล้ว ยังมีคิวของ พลอากาศเอกสุกำพล สุวรรณทัต อดีตรัฐมนตรีกลาโหมที่อยู่ในขั้นตอนการถอดถอนของสนช. ที่จ่อคิวรออยู่ใกล้ๆ นี้ต้นเดือนกันยายนเป็นอดีตรัฐมนตรีและส.ส.ของพรรคเพื่อไทย 4 คน

ประกอบด้วย อุดมเดช รัตนเสถียร ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร คมเดช ไชยศิวามงคล อดีตส.ส.กาฬสินธุ์ นริศร ทองธิราช อดีตส.ส.สกลนคร ที่ป.ป.ช.จะพิจารณาถอดถอนกรณีกระทำความผิดทางอาญาในระหว่างการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาส.ว.โดยมิชอบ ที่มีข้อกล่าวหาคือเสียบบัตรลงคะแนนแทนกันและสลับร่างแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ

มองดูแล้วโอกาสรอดคงยาก ไม่เพียงเท่านั้นยังมี วรชัย เหมะ พร้อมอดีตส.ส.อีกกว่า 40 คนที่ถูกป.ป.ช.รื้อคดีเล่นงานจากการเข้าชื่อเสนอออกกฎหมายนิรโทษกรรม เรียกได้ว่า ไม่เพียงแต่แต่งตัวรอกลับมาอย่างสง่างาม (ในมุมของผู้มีอำนาจ) อีกด้านก็ใช้องค์กรที่มีอยู่เล่นงานคู่แข่งสำคัญทางการเมือง จึงมองได้ว่าโรดแม็พคืนประชาธิปไตยและการเดินทางเพื่อต่อทอดอำนาจของบิ๊กตู่นั้นไม่ธรรมดาจริงๆ

 

Back to top button