พาราสาวะถี อรชุน
ขณะที่พวกสอพลอยกยอปอปั้นและเห็นดีเห็นงามที่จะผลักดันให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งนายกรัฐมนตรีคนนอกหลังการเลือกตั้งครั้ง โดยมีทั้งที่เสนอให้ตั้งพรรคการเมืองเป็นเรื่องเป็นราวเพื่อความสง่างามและไม่ต้องทำอะไรแค่รักษาทรงอยู่เฉยๆ หลังหย่อนบัตรเดี๋ยวจะจัดให้แบบสง่างามตามที่ท่านปรารถนา
ขณะที่พวกสอพลอยกยอปอปั้นและเห็นดีเห็นงามที่จะผลักดันให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งนายกรัฐมนตรีคนนอกหลังการเลือกตั้งครั้ง โดยมีทั้งที่เสนอให้ตั้งพรรคการเมืองเป็นเรื่องเป็นราวเพื่อความสง่างามและไม่ต้องทำอะไรแค่รักษาทรงอยู่เฉยๆ หลังหย่อนบัตรเดี๋ยวจะจัดให้แบบสง่างามตามที่ท่านปรารถนา
ขณะเดียวกัน นักการเมืองหลายรายก็เรียกร้องให้บิ๊กตู่ตั้งพรรคการเมือง แต่มีคนรีบมาแตะเบรกไม่ให้ท่านผู้นำหลงเหลี่ยมไปตามเกมการเมือง โดย สุริยะใส กตะศิลา อดีตนักเคลื่อนไหวที่วันนี้ไปเอาดีด้านการเป็นอาจารย์ในสังกัดมหาวิทยาลัยรังสิตของ อาทิตย์ อุไรรัตน์ เตือนหัวหน้าคสช.ว่า ข้อเสนอตั้งพรรคการเมืองของนักการเมือง เป็นข้อเสนอหลงโลก ไม่เป็นประโยชน์ และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์
โดยสุริยะใสมั่นใจว่าบิ๊กตู่จะไม่ลุ่มหลงกับโวหารเช่นนี้ เพราะเป็นกับดักทางการเมืองที่ฆ่านายพลมาแล้วหลายคน สิ่งที่หัวหน้าคสช.ควรตระหนักที่สุดในขณะนี้คือ ต้องกล้าวิจารณ์ตนเองและทบทวนว่า 2 ปีกว่าที่ผ่านมา และอีกปีกว่าก่อนเลือกตั้ง คสช.ได้ทำให้สังคมการเมืองเข้าสู่การปฏิรูปได้จริงหรือไม่ และมีหลักประกันได้หรือไม่ว่าการเมืองไทยจะไม่วนกลับไปสู่ความแตกแยกขัดแย้งอีก
ไม่เพียงเท่านั้นสุริยะใสยังมองด้วยว่าหัวหน้าคสช.กำลังถูกกลุ่มก้อนการเมืองหลายกลุ่มรุมล้อม และอาจถูกฉุดกระชากไปอยู่ในวงโคจรของการเมืองที่ไม่ได้แก้ปัญหาประเทศ จนทำให้ความคาดหวังของประชาชนหดหาย และไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม แต่ควรใช้ต้นทุนที่มีในขณะนี้ เป็นผู้นำในการปฏิรูปในเรื่องใหญ่ๆ ให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง
เป็นการแสดงทัศนะที่ไม่รู้ว่าเจ้าตัวมีข้อมูลมากน้อยขนาดไหน เพราะในความเป็นจริงอีกด้าน ไม่ใช่กลุ่มก้อนการเมืองรายล้อมท่านผู้นำ หากแต่มีลิ่วล้อของผู้นำต่างหากที่ไปทาบทามหรือเจรจาให้นักการเมือง แยกตัวออกมาจากพรรคการเมืองที่เคยสังกัด โดยมีเป้าหมายเพื่อตั้งพรรคการเมืองทางเลือก สำหรับผลักดันให้องค์รัฏฐาธิปัตย์ ได้กลับมาเป็นนายกฯ คนนอกอย่างสง่างามตามเจตนารมณ์นั่นเอง
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวคงสอดคล้องกับสิ่งที่ สมพงษ์ สระกวี สมาชิกสปท.ที่ออกมาให้ข่าวจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม กับการบอกว่ามีเพื่อนทหารของบิ๊กตู่มาหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งพรรคการเมือง ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณว่า น่าจะเป็นการวางแนวทางเพื่อการสืบทอดอำนาจตามระบอบประชาธิปไตยที่เจ้าตัวหลุดปากบอกมาเมื่อวันก่อน
นอกจากนี้ การปฏิเสธให้สัมภาษณ์เรื่องการตั้งพรรคการเมืองเพื่อผลักดันพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เมื่อวันวานก่อนการเดินทางไปประเทศมาเลเซีย น่าจะเป็นสัญญาณอะไรบางอย่างได้เหมือนกัน จากเดิมทีที่เคยยืนยันเสียงแข็งปฏิเสธไม่ใช่ ไม่มี แต่หนนี้บอกเพียงว่า ไม่ทราบ ไม่มีอะไร เป็นเพียงกระแสข่าว
คงต้องเข้าใจว่า เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนนับตั้งแต่การพลิกโผของการแต่งตั้งผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ที่ บิ๊กตู่ตัดสินใจปรับโผซึ่งได้รับการยืนยันจากพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ว่าเรียบร้อย จาก “บิ๊กแกละ” พลเอกพิสิทธิ์ สิทธิสาร มาเป็น “บิ๊กเจี๊ยบ” พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท ย่อมเป็นดัชนีบ่งชี้อะไรบางอย่าง นัยว่าภารกิจของหัวหน้าคสช.นั้นไม่ได้จบแค่จัดให้มีการเลือกตั้งตามโรดแม็พเท่านั้น
ยิ่งช่วงนี้ลิ่วล้อและบรรดากองเชียร์มีการพูดถึง “เปรมโมเดล” โดยหมายมั่นปั้นมือว่าต้องการให้พลเอกประยุทธ์เดินตามรอยของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษที่เข้าสู่ตำแหน่งและนั่งบริหารประเทศยาวนานถึง 8 ปี พิจารณาจากบุคลิกและความเชื่อมั่นที่มีต่อตัวหัวหน้าคณะรัฐประหารแล้วน่าจะเกิด “ประยุทธ์โมเดล” ได้ไม่ยาก
แต่คนเหล่านั้นคงลืมไปว่ารากที่มาของป๋ากับบิ๊กตู่นั้นมันคนละเรื่อง พลเอกเปรมได้เป็นนายกรัฐมนตรีเพราะการยินยอมพร้อมใจของบรรดาพรรคการเมืองในขณะนั้น จึงทำให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะเคยมีการยุบสภาถึง 2 หนแต่ก็ยังไร้คนมาทาบรัศมี จนสุดท้ายในช่วงปลายของอำนาจเริ่มมีกระแสกดดันไม่อยากเห็นนายกฯ คนนอก เราจึงได้ยินวลีทอง “ผมพอแล้ว” หลุดออกมาจากปากป๋า
หลังจากนั้นเส้นทางของป๋าอย่างที่ทราบกันได้รับการแต่งตั้งเป็นองคมนตรีและยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ เมื่อหันไปมองที่มาของบิ๊กตู่ความเป็นจริงต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะในวันที่ประกาศอยู่ต่อนั่นเท่ากับเป็นการยอมรับเรื่องการสืบทอดอำนาจจากการรัฐประหาร เหตุการณ์มันคล้ายๆ กับกรณี พลเอกสุจินดา คราประยูร และพรรคสามัคคีธรรม ก่อนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬต่างหาก
ดังนั้น เส้นแบ่งระหว่างทรราชกับรัฐบุรุษจึงต่างกันแค่นิดเดียว อยู่ที่การตัดสินใจว่าจะนำพาประเทศชาติก้าวเดินไปในทิศทางใด ต้องไม่ลืมว่า หลังการเลือกตั้งหากไม่มีการเล่นแร่แปรธาตุในข้อกฎหมายอะไรอีก บิ๊กตู่จะไร้อำนาจวิเศษที่ชื่อมาตรา 44 มาเป็นดาบอาญาสิทธิ์ในการบริหารประเทศ นั่นหมายความว่า บรรดาข้อผิดพลาดจากการบริหารงานทั้งหมดจะต้องพร้อมที่จะน้อมรับเสียงวิจารณ์แบบเต็มๆ โดยไร้กฎหมายไปปิดปากฝ่ายตรงข้าม
สิ่งสำคัญอีกประการคือ บรรดาการทุจริตทั้งหลายแหล่ที่ภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนั้น สามารถสะกดทุกกระบวนการตรวจสอบให้นิ่งสนิท รวมไปถึงเสียงวิจารณ์ต่างๆ ได้ แต่รัฐบาลภายใต้ทหารหรือการคุ้มครองของทหาร พลเอกประยุทธ์จะมีภาระหนัก เพราะต้องแบกพวกทุจริตที่ได้รับการคุ้มครองเอาไว้ด้วย ซึ่งเมื่อไม่มีอำนาจพิเศษ ย่อมยากที่จะไปจัดการคนเห็นต่างหรือฝ่ายตรวจสอบได้
ไม่เพียงเท่านั้น ในระบบรัฐสภาถ้ายึดบทเรียนของรัฐบาล พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เมื่อปี 2522 มาเทียบเคียง ก็จะพบว่ารัฐบาลเวลานั้นอาศัยเสียงหลักจากวุฒิสภาซึ่งผ่านการแต่งตั้งมาจากท่านผู้นำ โดยไปจับมือกันตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างน้อยในสภา เมื่อถูกพรรคที่ได้เสียงส่วนมากในสภาผู้แทนราษฎรต่อต้านด้วยการชูแนวทางไม่เอารัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร จึงทำให้พลเอกเกรียงศักดิ์ตัดสินใจลาออกหลังถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะรู้ดีว่าสู้ไม่ได้
หนนี้ผู้มีอำนาจอาจจะมั่นใจว่า การคุมเกมของตนไม่ได้มีแค่จำนวนส.ส.และส.ว.เท่านั้น หากแต่เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญก็เอื้อประโยชน์ให้อยู่บริหารประเทศได้อย่างมั่นคง ซึ่งคงเป็นอย่างนั้นได้หากสถานการณ์ของบ้านเมืองและความเดือดร้อนของประชาชนไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่ระยะเวลาที่ทอดยาวออกไป ไม่มีใครตอบได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น บทเรียนในอดีตมีให้เห็นทุกยุคทุกสมัย บรรดาผู้นำประเทศมักจะมีเหตุให้สะดุดและตายน้ำตื้นอยู่ร่ำไป