จุดเปลี่ยนของตลาดพลวัต 2016

ความพยายามของกองทุนต่างชาติในการนำเงินเข้ามาถมตลาดหุ้นไทยต่อเนื่องเพื่อดันดัชนีให้พุ่งฝ่าแนวต้านไปยืนเหนือ 1,550 จุดเมื่อวานนี้ ประสบความล้มเหลวอีกครั้งหนึ่ง


วิษณุ โชลิตกุล

 

ความพยายามของกองทุนต่างชาติในการนำเงินเข้ามาถมตลาดหุ้นไทยต่อเนื่องเพื่อดันดัชนีให้พุ่งฝ่าแนวต้านไปยืนเหนือ 1,550 จุดเมื่อวานนี้ ประสบความล้มเหลวอีกครั้งหนึ่ง

ดัชนีตลาดหุ้นไทยตอนที่เปิดตลาดช่วงแรกเมื่อเช้าวานนี้ ถูกแรงซื้อซึ่งน่าจะมาจากต่างชาติดันให้บวกขึ้นไป 9 จุด ถึงจุดสูงสุดของวัน 1,553 จุด ก่อนที่จะย่อตัวลงมาเพราะแรงขายทำกำไร ท้ายสุดเมื่อถึงภาคบ่าย ขณะที่ตลาดเอเชียหลายแห่งรวมทั้งยุโรปบวกขึ้นไป แรงขายจากพลังในประเทศนับแต่กองทุน พอร์ตโบรกเกอร์ และรายย่อยก็ทำให้ดัชนียืนไม่ได้ ร่วงลงมาปิด บวกไปแค่ 1 จุดเศษ ที่ระดับ 1,546.13 จุด

ในแง่สัญญาณเทคนิค การเปิดสูงแล้วปิดต่ำ ไม่ใช่เรื่องที่ดี และความพยายามนาน 3 วันที่จะฝ่าแนวต้านเหนือ 1,550 จุดไปให้ได้ แล้วล้มเหลวทุกครั้ง แสดงว่าแนวต้านดังกล่าวแกร่งเกินจะอนุญาตให้ขึ้นไปต่อได้

ที่สำคัญ มูลค่าการซื้อขายวานนี้ที่ลดฮวบฮาบจากมูลค่าประจำวันเหนือ 5.5 หมื่นล้านบาทมายาวนาน ถดถอยลงมาเหลือเพียง 4.56 หมื่นล้านบาท ไม่เพียงพอสำหรับการสร้างพลัง

นักวิเคราะห์หลายสำนักที่ยืนอยู่กับข้อเท็จจริง ไม่หวังกับเป้าหมาย “เชียร์แขก” มากเกินไป ฟันธงว่า สถานการณ์ตลาดเมื่อวานนี้เข้าสู่ช่วงเวลาที่เรียกได้ว่าเป็น จุดเปลี่ยนของตลาด เพราะเมื่อผ่านแนวต้านไปไม่ได้ โอกาสที่จะปรับตัวเป็นขาลง ได้เริ่มขึ้นชัดเจน จากนี้ไป ต้องมองหาแนวรับ มากกว่าแนวต้าน

แรงเหวี่ยงจากผลพวงของสัญญาณร้ายที่ส่งมาจากสหรัฐฯโดยผู้บริหารของเฟดฯนั้น มีความชัดเจนอยู่แล้วว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป (ในความหมายที่แท้จริงคือขึ้นดอกเบี้ยตามข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายเงินเฟ้อและการจ้างงาน) และยังบอกใบ้ล่วงหน้าว่าภายในการประชุม 3 ครั้งของเฟดฯ ที่เหลืออยู่ อาจจะมีการขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งอย่างหลังนี้ตีความได้ว่า ความเป็นไปได้จะขึ้นดอกเบี้ยถึง 2 ครั้งในการประชุม 3 ครั้งของเฟดฯ ได้ถูกเปิดโล่งเอาไว้

นักวิเคราะห์ระดับ “ติดประมาท” บางคนประเมินอย่างขี้เกียจสันหลังยาวว่า ยังเหลือเวลาอีกนานกว่า 2 สัปดาห์กว่าเฟดฯจะตัดสินใจ ดังนั้น ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ต้องเก็บเกี่ยวจากกระแสฟันด์โฟลว์ไหลเข้าต่อไป โดยหลงลืมไปว่าวันศุกร์ที่ 2 กันยายนนี้แล้ว จะเป็นวันที่มีประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (ซึ่งเป็นจำนวนการจ้างงานเกือบทั้งหมดของสหรัฐฯที่มากกว่าการจ้างงานภาคเกษตรหลายเท่า) ซึ่งจะบ่งชี้ทิศทางการตัดสินใจของเฟดฯได้อย่างดี

ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯที่จะประกาศในวันศุกร์นี้ ถูกตลาดคาดหมายว่าตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้นราว 180,000 ตำแหน่ง ซึ่งถือว่าเกินค่าเฉลี่ยอีกครั้งต่อเนื่องติดกันเป็นปีที่ 3 แล้ว และหากว่าบังเอิญออกมาสูงกว่าคาด โอกาสของการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดฯน่าจะสูงลิ่ว

หากการจ้างงาน ซึ่งเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ของสายพิราบในเฟดฯมายาวนาน บ่งบอกว่า ดีกว่าคาดหรือตามคาด โอกาส ย่อมหมายถึงแรงขับให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ขึ้นไปใกล้เคียงกับ “กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ” ที่กำหนดไว้ล่วงหน้ายิ่งขึ้นไปทุกขณะ เปิดโอกาสให้กับการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดฯชนิดที่กรรมการเฟดฯสายพิราบไม่สามารถขัดขวางได้ เพราะสายกลางและสายเหยี่ยวจะมีแต้มต่อเหนือกว่าอย่างเด็ดขาด

สำหรับคนที่เข้าใจความหมายของนโยบายการเงินที่ธนาคารกลางหลายประเทศนำเอามาใช้ในรอบ 20 ปีนี้ (เริ่มต้นที่นิวซีแลนด์) ว่าด้วย “กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ” หรือ Inflation Targeting แล้วจะค่อนข้างเชื่อมั่นเกิน 100% ว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดฯในเดือนกันยายนนี้ จะต้องเกิดขึ้นแน่นอน

คำว่า กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ เป็นนิยามที่กำหนดว่ากรอบบนและล่างได้ถูกกำหนดไว้เป็นหลักหมุดสำคัญว่า หากอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมายบนสุด และเคลื่อนตัวอยู่ในระหว่างในกรอบที่กำหนดล่วงหน้า ไม่ต่ำเกินไป หรือไม่สูงเกินไปแล้ว ธนาคารกลางจะยินยอมให้กลไกอัตราดอกเบี้ยทำงานเป็นอิสระ ไม่มีการแทรกแซงโดย “มือที่มองเห็น” ของคณะกรรมการการเงิน เว้นเสียแต่จะเกิดสถานการณ์ทำให้จำต้องเข้าแทรกแซงขึ้นมา

คณะกรรมการการเงินของธนาคารกลาง มีโครงสร้างทางนโยบายในการใช้เครื่องมือสำคัญเพื่อแทรกแซงตลาด 3 ส่วน คือ 1)ในกรณีที่อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบ จะใช้เครื่องมือปริมาณเงินเข้าจัดการ เพื่อให้เกิดการปรับตัว ในระยะสั้นสู่ดุลยภาพอย่างสูงและเร็ว โดยที่ความผันผวนจากการใช้เครื่องมือมีค่าต่ำ 2)ในกรณีที่อัตราเงินเฟ้อมากกว่าหรือใกล้เคียงกรอบบนสุดที่กำหนด จะต้องใช้เครื่องมือดอกเบี้ยจัดการ เพื่อให้เกิดการปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพในระยะยาว 3) ในกรณีที่อันตรายเงินเฟ้อต่ำเกินไป หรือสูงเกินไปจากกรอบที่กำหนดทั้งบนและล่าง จะใช้เครื่องมือทั้งปริมาณเงินและอัตราดอกเบี้ยร่วมกันเพื่อให้เกิดการปรับตัวสู่ดุลยภาพในระยะสั้น อย่างค่อนข้างสูงและรวดเร็วมากกว่าปกติ

สัญญาณที่ส่งจากเฟดฯยามนี้ บ่งบอกทิศทางอนาคตชัดเจนว่า การใช้เครื่องมือดอกเบี้ยเมื่อการจ้างงานและเงินเฟ้อใกล้เข้าสู่เป้าหมายกรอบบนที่กำหนด จึงไม่ได้เป็นความเร้นลับที่ต้องคาดเดาอีกต่อไปด้วยความเชื่อหรือคาดเดาอย่างเลื่อนลอย

จุดเปลี่ยนของตลาด จึงเลี่ยงไม่พ้นทั้งเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ ไม่ว่าจะชอบหรือชัง 

Back to top button