ลมแรงที่ขอบเหวพลวัต 2016

สัญญาณจากผู้บริหารของ ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟดฯ ถึงทิศทางขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไม่มีความหมายต่อกระแสฟันด์โฟลว์ของต่างชาติในตลาดเก็งกำไรของไทยหรืออย่างไร


วิษณุ โชลิตกุล

 

สัญญาณจากผู้บริหารของ ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟดฯ ถึงทิศทางขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไม่มีความหมายต่อกระแสฟันด์โฟลว์ของต่างชาติในตลาดเก็งกำไรของไทยหรืออย่างไร

การวางเฉยของผู้จัดการกองทุนเก็งกำไรต่างชาติที่หอบทุนเข้ามาดันราคาหุ้นไทยให้ไม่ยอมลง จะด้วยสาเหตุอันใดก็ตาม แม้จะเป็นที่ชื่นชอบของบรรรดาผู้บริหารตลาดหุ้นไทย และรัฐมนตรีตรีที่กำกับดูแลด้านเศรษฐกิจ ที่พยายามฉกฉวยโอกาสเล็กน้อยๆ จากพฤติกรรมแปลกประหลาดของกองทุนเก็งกำไรที่สร้างฟันด์โฟลว์ไหลเข้าไม่ยอมหยุดในยามนี้ต่อเนื่อง โดยละเลยต่อสัญญาณอันตรายที่กำลังก่อตัวขึ้นมา ไม่ใช่เรื่องแปลก

สิ่งที่นักลงทุนจะต้องพิจารณาก็คือ ตลาดหุ้นไทยมีความแข็งแร่งมากแค่ไหนที่จะฝืนธรรมชาติ มีสภาพเป็นตลาดขาขึ้นเรื่อยไป ท่ามกลางความหวั่นไหวของสถานการณ์รอบด้านที่กำลังก่อตัวจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดฯในอีกไม่เกิน 3 สัปดาห์ข้างหน้า

ล่าสุด สัญญาณลบที่เกิดขึ้นจากสหรัฐฯ ยังคงต่อเนื่องและ “เข้าทาง” ของเฟดฯที่ส่งสัญญาณออกมาก่อนหน้านี้ชัดเจน

เมื่อวานนี้ มีการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐฯประจำเดือนสิงหาคมโดยหน่วยงานรับผิดชอบคือ ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) ที่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ทำให้มีแนวโน้มว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่รัฐบาลสหรัฐฯจะรายงานในวันศุกร์นี้ อาจเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง และเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟดฯ) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในกลางเดือนนี้

ADP ระบุว่า  การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐฯประจำเดือน เพิ่มขึ้น 177,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 175,000 ตำแหน่ง

ขณะเดียวกัน ADP ได้ทบทวนปรับเพิ่มตัวเลขการจ้างงานในเดือนกรกฎาคม สู่ระดับ 194,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่ระดับ 179,000 ตำแหน่ง ซึ่งเหนือกว่าคาดเช่นกัน และตัวเลขดังกล่าวน่าจะรับรู้ในบรรดาผู้บริหารของเฟดฯก่อนแล้ว

ทันทีที่มีตัวเลขดังกล่าวออกมา ราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลงแรง และมีผลโยงใยให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 1.575% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุ 30 ปี อยู่ที่ระดับ 2.238% ด้วยความมั่นใจว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยในวันศุกร์นี้ อันประกอบด้วยตัวเลขการจ้างงานทั้งภาครัฐและเอกชน และจะบ่งชี้แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดฯในการประชุมวันที่ 20-21 กันยายนอย่างมีนัยสำคัญ

ล่าสุด นักวิเคราะห์ระบุว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 185,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. ขณะที่อัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 4.8%

ตลาดหุ้นและตลาดเงินในสหรัฐฯมีความมั่นใจว่า สัญญาณล่วงหน้าของเฟดฯในรอบนี้ จะไม่มีการ “สับขาหลอก” เหมือนในอดีตอีกแล้ว เพราะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าข้อมูลทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่มีทั้งบวกมากกว่าลบยามนี้ มีข้อมูลหลักเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นเองที่จะชี้ขาดว่าต้องขึ้นดอกเบี้ย

ประสบการณ์ของเฟดฯ ย่อมรู้ดีว่า ยุคสมัยของสงครามค่าเงินที่ธนาคารกลางแต่ละชาติพยายามทำให้ค่าเงินของตนเองอ่อนลง ซึ่งเคยเป็นที่วิตกกังวลและตั้งวงถกกันใหญ่โตเมื่อหลายปีก่อน จะจบลงเมื่อเฟดฯตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หรือ เฟด ฟันด์ เรต ในทันที โดยจะต้องมีส่วนผลกระทบข้างเคียงเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่พ้น

การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดฯ ทำให้เกิดการยุติสงครามค่าเงิน และการใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำติดพื้น เพื่อสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ของการบริหารจัดการกับทุนและเศรษฐกิจโลกครั้งใหม่เสียที

สงครามค่าเงินเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจากมาตรการกดค่าดอลลาร์สหรัฐอ่อนในยุคหลังวิกฤตซับไพรม์ และ เฟดฯเริ่มออกมาตรการ QE ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจนานถึง 5 ปี เมื่อรากฐานของสงครามค่าเงินจบสิ้นลงเพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะปกติจนไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินต่อไป จึงต้องหันมาให้ความสำคัญกับ เป้าหมายเงินเฟ้อแทน

แน่นอน ผลข้างเคียงสำคัญหนีไม่พ้นเรื่องของฟันด์โฟลว์ ที่ทำให้ปีนี้ดัชนีตลาดหุ้นเกิดใหม่ทั่วโลกโดยเฉพาะในเอเชียเป็นขาขึ้นยาวนานหลายเดือนในยามนี้

ผู้เล่นในตลาดดังกล่าวทุกกลุ่ม นับแต่ผู้ทำการค้าระหว่างประเทศ นักลงทุนในตลาดสินค้าและบริการ นักเก็งกำไรค่าเงิน เข้ามีบทบาทโยงใยของโลกาภิวัตน์กันด้วยเงินหมุนเวียนประจำวันในตลาดซื้อขาย 5 ตลาด ประกอบด้วย 1) ประมาณวันละ 1.005 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 2) ตลาดป้องกันความเสี่ยงล่วงหน้า 1.714 ล้านล้านดอลาร์สหรัฐ  3) ตลาดล่วงหน้า  3.62 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ 4) ตลาดตราสารหนี้ และเงินกู้ระหว่างประเทศ ประมาณ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 5) ตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าประมาณวันละ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปัญหาฟันด์โฟลว์ไหลเข้า และออกจากชาติต่างๆ เพื่อออกจากและกลับสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดฯ ด้วยการทิ้งสกุลเงินท้องถิ่นต่างๆ ไปถือครองดอลลาร์ในมือ ไม่ใช่เพื่อการลงทุนโดยตรง แต่เพื่อการเก็งกำไรจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้น เป็นผลพวงต่อเนื่องแบบสูตรสำเร็จที่ชัดเจน ไม่มีทางเป็นอย่างอื่น

ผลข้างเคียงที่เลี่ยงไม่พ้นอีกด้านหนึ่งของการขึ้นดอกเบี้ยเฟดฯคือ ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์จะมีราคาตกต่ำลงเมื่อเทียบกับค่าดอลลาร์  ตลาดตราสารหนี้ที่จะปั่นป่วนเพราะบอนด์ยีลด์สูงขึ้น และ ตลาดหุ้นทั่วโลกจะต้องพลิกสถานการณ์เป็นขาลง รวมความถึงเศรษฐกิจของชาติต่างๆ นอกสหรัฐฯจะถดถอยลง

ความจริงแล้ว เฟดฯพูดมาหลายครั้ง แต่คนทั่วโลกเลือกจะไม่จำ นั่นคือ เฟดฯคือธนาคารกลางของสหรัฐ มีภารกิจปกป้องประโยชน์ของสหรัฐฯ ส่วนประโยชน์ของชาติอื่นๆ เป็นรองเสมอ

บนขอบเหวของกระแสฟันด์โฟลว์ที่เคยไหลเข้ามายาวนานนั้น เริ่มมีกระแสลมแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็มีนักลงทุนบางคนตกอยู่ในมายาคติของตนเองและของนักวิเคราะห์บางกลุ่มว่า ลมแรงนั้นคือลมที่มีอากาศแสนบริสุทธิ์ สดชื่น

 

Back to top button