ตลาดหุ้นไทย 4.0 พลวัต 2016

ใครๆ ก็รู้ว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจรัฐบาลปัจจุบัน เป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯของปรมาจารย์ร่วมสมัยทางการตลาดระดับโลก ฟิลลิป คอตเลอร์ แห่งสหรัฐฯ


วิษณุ โชลิตกุล

 

ใครๆ ก็รู้ว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจรัฐบาลปัจจุบัน เป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯของปรมาจารย์ร่วมสมัยทางการตลาดระดับโลก ฟิลลิป คอตเลอร์ แห่งสหรัฐฯ

นายสมคิด จะเป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดหรือเกรดระดับไหนของคอตเลอร์ไม่มีใครรู้ รู้แค่ว่า นายสมคิด ยังคงพยายามกอดติดตำรา และนิสัยของคอตเลอร์ไม่ยอมปล่อย เรียกว่าโคลนนิ่งคอตเลอร์มาเลย ก็ว่าได้

พฤติกรรม “แบบคอตเลอร์” ของนายสมคิดที่โดดเด่นมากสุดคือ การขยันประดิษฐ์ถ้อยคำใหม่ๆ ด้านการตลาดที่พิสดารมานำเสนอ เพื่อชี้นำขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ ที่ผสมผสานเข้ากับแนวคิดการได้เปรียบทางการแข่งขัน (Competitive Advantage) ของปรมาจารย์ด้านการบริหารธุรกิจจากฮาร์วาร์ด อย่าง ไมเคิล พอร์เตอร์

หลังจากที่เคยสร้างความฮือฮากับไอเดียใหม่ในยุครัฐบาลทักษิณในอดีตมาแล้ว นายสมคิด ก็ “ก้าวข้ามทักษิณ” มารับใช้รัฐบาลทหารปัจจุบันด้วยแนวคิดใหม่ๆ ซึ่งมีทั้งที่บรรลุความสำเร็จ และไม่บรรลุอะไรเลย ซึ่งต้องประเมินกันในอนาคต โดยเฉพาะที่โดดเด่นคือ “ประชารัฐ” ที่พยายามบอกใครต่อใครว่าไม่ใช่ “ประชานิยม

ตามมาด้วยแนวคิดเรื่อง Start-Up และล่าสุด เศรษฐกิจ 4.0 ซึ่งนำเสนอเป็นนามธรรมมากกว่ารูปธรรม อย่างไม่เคยเบื่อหน่าย แม้คนฟังจะเอือมระอาอย่างมาก

แนวคิดเรื่อง เศรษฐกิจ 4.0 ของนายสมคิดและพวก ถูกขยายความเป็นลูกโซ่ไปยังส่วนต่างๆ แม้กระทั่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ยังรับเอาไปขยายความต่อยอดเป็นแนวคิด เศรษฐกิจ 4.101 (ซึ่งไม่รู้อีกเช่นกันว่าหมายถึงอะไรแน่ นอกจากทันสมัยและเท่)

ล่าสุด ข้อเสนอเรื่อง Start-Up และ เศรษฐกิจ 4.0 ถูกนำมารุกคืบต่อยอดขยายมาถึงตลาดหุ้นไทยด้วย

เมื่อวานนี้ นายสมคิด ได้ให้สัมภาษณ์ ภายหลังการตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่าได้แนะนำให้ ก.ล.ต. และ ตลท. ทำแผนแม่บทพัฒนาตลาดทุนให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการคิดแผนเชิงรุกจูงใจธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ธุรกิจนวัตกรรมใหม่ๆ อาทิ ธุรกิจอุตสาหกรรมการบิน, เชื้อเพลิงชีวภาพ เคมีชีวภาพ และธุรกิจดิจิตอล เข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯมากขึ้น

พร้อมกันนั้น นายสมคิด ยังต้องการให้พ่วงรวมถึงการสนับสนุนให้ธุรกิจสตาร์ทอัพไทยให้สามารถเข้าถึงการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจากปัจจุบันสตาร์ทอัพไม่สามารถเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แม้จะเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคตเป็นอย่างมาก โดยอาจจัดตั้งหมวดหมู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯขึ้นมาใหม่ หรือการจัดตั้งตลาดใหม่ขึ้นมาเพื่อรองรับโดยเฉพาะ

เพียงแค่นี้ นายสมคิด อาจจะยังรู้สึกว่า ไม่สร้างความงุนงงให้คนรับแนวทางได้มากเพียงพอ จึงเพิ่มไปอีกว่า  เงินกองทุนพัฒนาตลาดทุนที่มีอยู่จำนวนมาก ควรที่นำไปใช้สร้างประโยชน์ให้แก่สตาร์ทอัพ เช่น อาจสร้างระบบที่เป็นแกนกลางเชื่อมโยงการระดมทุนจากมวลชน (คลาวด์ฟันดิ้ง) ซึ่งเป็นการระดมทุนหลักของสตาร์ทอัพ เข้ากับสถาบันการเงิน สถาบันวิจัยต่างๆ รวมถึงมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดเสถียรภาพยิ่งขึ้น

นายสมคิด ยังไปไกลกว่านั้น แนะให้ตลาดหลักทรัพย์ฯเดินทางเพื่อนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) เกี่ยวกับ “ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์” และบริษัทจดทะเบียนคุณภาพในช่วงปีหน้า เนื่องจากในขณะนี้เศรษฐกิจเมืองไทยเริ่มฟื้นตัวแล้ว โดยเฉพาะในช่วงต้นปีหน้า จากการลงทุนรถไฟฟ้า ถนนและทางด่วนต่างๆ รวมถึงรถไฟความเร็วสูง ประกอบกับประโยชน์ที่เริ่มจะได้รับจากเออีซี ทำให้เรามีความพร้อมมากขึ้นในการโรดโชว์

ความสติเฟื่องของนายสมคิดดังกล่าว ต่อมาผู้บริหารของ ก.ล.ต. และ ตลาดหุ้นไทย ก็ได้ทยอยกันออกมาแบ่งรับแบ่งสู้ถึงแนวทางดังกล่าวอย่าง “เป็นงาน” คือ ไม่ปฏิเสธ และไม่ขานรับโดยตรง ซึ่งเข้าใจได้ เพราะว่า อาจจะเป็นได้ 2  ทางด้วยกัน คือ ทางแรก แนวคิดนายสมคิด อาจล้ำสมัยมากเกินไป หรือ ทางหลัง ทั้ง ก.ล.ต. และตลาดหุ้นไทย ยัง “ย่อยไม่ทัน” ว่านายสมคิดต้องการอะไรแน่

หากพิจารณาข้อเท็จจริงของตลาดหุ้นหรือตลาดทุนไทย จะเห็นภาพที่ชัดเจนว่า ในบรรดาบริษัทจดทะเบียนกว่า 650 บริษัท และหลักทรัพย์ในรูปอื่นๆ ที่ซื้อขายกันในตลาดหุ้นไทย จนมีมูลค่าการซื้อขายประจำวันสูงสุดในอาเซียน ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทหัวกะทิของธุรกิจไทยเกือบในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้ง 8 กลุ่ม ในตลาดหลักทรัพย์หลัก และในตลาด mai 

นอกจากนั้น ยังมีบริษัท “ค้างท่อ” และบริษัทที่ “รอแต่งตัว” จำนวนนับร้อยที่บรรดาที่ปรึกษาการเงินทั้งหลาย พากัน “แต่งตัว” เพื่อแปลงสภาพจากการเป็นบริษัทเอกชนธรรมดา ให้เป็นบริษัทมหาชนเพื่อเข้าจดทะเบียนระดมทุนในตลาด

อุปสรรคที่ขัดขวางการที่ธุรกิจไทยแปลงสภาพเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นไทยนั้น ไม่ได้มาจากแค่กฎกติกาของ ก.ล.ต.หรือตลาดหุ้นไทยอย่างเดียว แต่มาจากกรอบความคิด หรือ mindsets ของเจ้าของหรือหุ้นส่วนของบริษัทเอกชนเองด้วยเป็นสำคัญ

ไม่เพียงเท่านั้น ข้อเท็จจริงของการแต่งตัว หรือรักษากติกาการเป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย (เช่น ค่าผู้ตรวจบัญชี หรือ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ) เพื่อให้มีมาตรฐานตามกติกาที่กำหนด ก็เป็น “ภาระ” ที่ปกติสำหรับบริษัทขนาดกลางหรือใหญ่ แต่ก็เป็นต้นทุนที่แสนแพงของบริษัทขนาดเล็ก

คำชี้แนะหรือการมอบนโยบายของนายสมคิด จึงกลายเป็น “ข่าวฮา” แบบ “ฆ่าเวลา” ของตลาดหุ้นไทยในยามนี้โดยปริยาย เพราะหากว่าทั้งก.ล.ต. และตลาดหุ้นไทย เกิดอุตริทำตามคำชี้แนะที่มาจากสติเฟื่องฟุ้งของนายสมคิด ตลาดหุ้นไทย 4.0 ในอนาคต คงจะเป็นตลาดที่เลอเลิศเหนือกว่าตลาดหุ้นใดในโลก กลายเป็น “ตลาดต่างดาว” ไปเลยก็ว่าได้

 คำถามสำคัญคือ ตลาดหุ้น “ต่างดาว” ของนายสมคิดนั้น เหมาะสมกับบริษัทไทย หรือ นักลงทุนไทยมากน้อยแค่ไหน

ยังไม่มีคำตอบ

          

Back to top button