พาราสาวะถี อรชุน

ข้อเสนอว่าด้วยกระบวนการหาเสียงเลือกตั้งอันดังมาจาก ไพบูลย์ นิติตะวัน ข้อเสนอว่าด้วยการเอาผิดผู้ซื้อเสียงเลือกตั้งด้วยการลงโทษจำคุก 10 ปีและการตัดสิทธิ์หัวหน้าพรรคตลอดชีวิตอันเล็ดลอดมาจากปากของ วันชัย สอนศิริ และข้อเสนอว่าด้วยให้กระทรวงมหาดไทยเข้าไปดูแลการเลือกตั้งแทนกกต.จังหวัดอันมาจาก เสรี สุวรรณภานนท์ พ่วงด้วยให้คสช.เข้าไปคุมการจัดการเลือกตั้งทั้งหมด ล้วนเกิดคำถาม


ข้อเสนอว่าด้วยกระบวนการหาเสียงเลือกตั้งอันดังมาจาก ไพบูลย์ นิติตะวัน ข้อเสนอว่าด้วยการเอาผิดผู้ซื้อเสียงเลือกตั้งด้วยการลงโทษจำคุก 10 ปีและการตัดสิทธิ์หัวหน้าพรรคตลอดชีวิตอันเล็ดลอดมาจากปากของ วันชัย สอนศิริ และข้อเสนอว่าด้วยให้กระทรวงมหาดไทยเข้าไปดูแลการเลือกตั้งแทนกกต.จังหวัดอันมาจาก เสรี สุวรรณภานนท์ พ่วงด้วยให้คสช.เข้าไปคุมการจัดการเลือกตั้งทั้งหมด ล้วนเกิดคำถาม

ถามประการหนึ่งคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเห็นดีเห็นงามกับข้อเสนอทั้งสามนี้หรือไม่ เพราะมันย้อนยุคและสุดโต่งสุดๆ ถามประการต่อมาคนพวกนี้คิดอะไรกันถึงได้นำเสนอแนวคิดเหล่านี้ คำตอบมันมีอยู่ในตัวแล้วว่า เป็นการช่วงชิงการเสนอหน้าโดยสองรายหลังหนีไม่พ้นข้อครหาอยากกลับมาเป็นส.ว.ลากตั้งอีกซักรอบ ส่วนรายแรกประกาศไปแล้วไม่รับตำแหน่งแต่งตั้ง ดังนั้น คงหวังผลในแง่ของการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคประชาชนปฏิรูปที่เคยได้แสดงเจตนารมณ์จะจัดตั้งไปก่อนหน้านั้น

แต่ทั้งหมดทั้งมวลคงเกิดขึ้นได้ยาก หากท่านผู้นำยังยืนยันเจตนาเดิมคือ สร้างประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ นั่นหมายความว่า มันต้องเดินไปข้างหน้าแม้อาจจะไม่เป็นสากล เพราะผู้มีอำนาจได้ลั่นวาจาไปแล้วว่า ประเทศยังไม่พร้อมที่จะเดินไปถึงขนาดนั้น แต่คงไม่ต้องให้มันย้อนกลับไปเหมือนในอดีต

ข้อเสนอของไพบูลย์มันย้อนยุคไปตั้งแต่สมัยปี 2495 ในยุคจอมพลป. พิบูลสงคราม และมันก็เหมือนการเลือกตั้งส.ว.ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ให้กกต.จัดเวทีให้หาเสียง แต่นั่นเป็นเพราะส.ว.ไม่ได้คลุกคลีใกล้ชิดกับประชาชน จึงไม่จำเป็นต้องหาเสียงใช้งบประมาณอะไรมากมาย ผิดกับส.ส.ที่จะต้องไปประกาศเจตนารมณ์ของตัวเองให้ประชาชนได้รับทราบ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังต้องแสดงตัวเพื่อที่จะเสนอตัวเป็นตัวแทนในการรับเรื่องร้องทุกข์ต่างๆ เพื่อไปประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือรัฐบาล หรือนำไปสะท้อนผ่านการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องเดินสายหาเสียง ซึ่งวิธีการดังกล่าวก็เป็นการใช้งบประมาณที่ไม่มากนัก จะมีค่าใช้จ่ายมากหน่อยก็ในกรณีที่ต้องทำป้ายหาเสียง

ซึ่งกระบวนการทั้งหมดก็ถูกจำกัดและควบคุมโดยกกต.อยู่แล้ว จึงไม่เป็นที่จะต้องไปดัดจริตว่าพรรคการเมืองต้องปลอดนายทุน ไม่ให้มีค่าใช้จ่ายได้อย่างไร เมื่อมองในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว จึงยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องทำตามข้อเสนอของไพบูลย์แต่อย่างใด เช่นเดียวกันกรณีข้อเสนอของเสรีเรื่องการย้อนกลับไปให้กรมการปกครองเข้ามาดูแลการเลือกตั้งแทนกกต.จังหวัด

เหตุผลที่บอกว่า กกต.จังหวัดถูกฝ่ายการเมืองแทรกแซงได้ คงต้องย้อนกลับไปถามว่าระหว่างกกต.จังหวัดกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองนั้น ใครจะถูกแทรกแซงได้ง่ายกว่ากัน น่าเสียดายที่เจ้าตัวเคยเป็นอดีตส.ส.ร.ซึ่งยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 น่าจะเข้าใจเจตนารมณ์ของการก่อกำเนิดกกต.เพื่อให้มาดูแลเรื่องการเลือกตั้งได้ลึกซึ้งมากกว่าใคร

ส่วนที่อ้างถึงข้อเสนอให้คสช.เข้ามาคุมการเลือกตั้งเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยนั้น ความจริงสถานการณ์การเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมาก็เป็นไปด้วยความสงบมาตลอดอยู่แล้ว ที่เสรีอ้างว่าจะได้ไม่มีคนมาปิดล้อมหน่วยเลือกตั้ง ถ้าไม่บ้องตื้นหรือความจำสั้นจนเกิดไป ถามว่าเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นเคยเกิดขึ้นกี่ครั้งและใครเป็นคนทำ

มีเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้นคือ การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธุ์ 2557 ม็อบกปปส.ภายใต้การนำของ สุเทพ เทือกสุบรรณ นั่นไงที่กระทำการอันเป็นการย่ำยีกระบวนการประชาธิปไตย เพื่อให้เกิดวิกฤติที่เรียกกันว่าวิกฤติเทียม เพื่อนำไปสู่การรัฐประหาร หากมองไปทั้งองคาพยพของเหตุการณ์ในเวลานั้นจนกระทั่งนำไปสู่การวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะมันเกิดภาพของขบวนการโค่นล้มรัฐบาลเลือกตั้งอย่างชัดเจน

ดังนั้น ไม่ว่าจะมองจากมุมไหนข้อเสนอเหล่านี้หากบิ๊กตู่ขืนรับคำทำตามมีแต่พังกับพังเท่านั้น เหมือนอย่างผลโพลสวนดุสิตล่าสุด ที่สะท้อนภาพเรื่องการตั้งพรรคทหาร แม้เสียงส่วนใหญ่จะเห็นว่าสามารถทำได้ เพราะเป็นวิถีของระบอบประชาธิปไตย แต่เสียงส่วนใหญ่เช่นเดียวกันก็เห็นว่า มันเสี่ยงต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์

ไม่ว่าจะเป็นมุมมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ เป็นการเสียคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ และนั่นอาจจะกลายเป็นเหตุทำให้เกิดความขัดแย้ง มีการเคลื่อนไหวที่ส่งผลให้บ้านเมืองวุ่นวาย และสุดท้ายที่จะหนีไม่พ้นเมื่อเป็นพรรคการเมืองของทหาร ย่อมถูกมองว่าจะต้องมีอำนาจ สิทธิพิเศษมากกว่าพรรคอื่น ซึ่งไม่ว่าจะมองมุมไหนก็มีแต่เสียกับเสีย

จะเห็นได้ว่ารายทางในห้วงระยะเวลาปีครึ่งเป็นอย่างน้อยที่บิ๊กตู่จะเดินไปถึงโรดแม็พเลือกตั้งนั้น มีกับดักต่างๆ เยอะแยะไปหมด เหมือนระเบิดเวลาที่รอวันปะทุเพียงแต่ว่าใครจะเป็นผู้จุดชนวนเท่านั้น ที่น่าเป็นห่วงก็หนีไม่พ้นบรรดาลิ่วล้อพวกสอพลอทั้งหลายแหล่ หลายๆ ข้อเสนอที่ผ่านมาเหมือนดูจะหวังดีแต่ดูว่าจะเป็นความประสงค์ร้ายไปเสียฉิบ

อย่างไรก็ตาม บรรดาข้อเสนอทั้งหลายนั้น ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช.มองว่า คสช.คงไม่บ้าจี้ทำตามคนเหล่านั้น เพราะหากจะใช้อำนาจเพื่อหวังผลอย่างหนึ่งอย่างใด เขาจะต้องมีวิธีการที่เนียนกว่านี้ ไม่มีทางที่จะทำอะไรโฉ่งฉ่าง หรืออย่างน้อยก็ใช้วิธีการถูลู่ถูกัง อ้างโน่นอ้างนี้ยื้อให้เวลาผ่านไป เหมือนสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา๑๑

จะว่าไปแล้ว เกมการเมืองที่บิ๊กตู่ปฏิเสธมาโดยตลอดว่า ตัวเองไม่ได้เข้ามาเพื่อเล่นการเมืองกับใครหรือฝ่ายใดนั้น แท้จริงแล้วหลังจากปฏิบัติหน้าที่ไปได้ระยะเดียว ประสาคนที่ผ่านศึกเหนือเสือใต้มามากย่อมรู้ดีว่า การบริหารงานบ้านเมืองและการเมืองนั้นมันไม่ใช่เรื่องง่าย มิหนำซ้ำ ยังมีเกมที่นอกเหนือความคาดหมายเข้ามากระแทกกระทั้นเป็นระยะ เชื่อแน่ว่านาทีนี้หัวหน้าคสช.ที่แม้จะมีอำนาจมาตรา 44 อยู่ในมือแต่ก็ไม่อาจงัดเอามาใช้กับบางเรื่องที่อยู่เหนือการควบคุมได้

Back to top button