เชื้อร้ายในกระแสโลกาภิวัตน์
อาการของโรคติดเชื้อในกระแสโลหิตที่แพร่ระบาดในพื้นที่สื่อของไทยหลายเดือนมานี้ เริ่มกระจายไปออกอาการในกระแสโลกาภิวัตน์มากขึ้นอย่างน่าประหลาด ทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องกัน และไม่มีสมุหฐานเดียวกัน
พลวัต 2016 : วิษณุ โชลิตกุล
อาการของโรคติดเชื้อในกระแสโลหิตที่แพร่ระบาดในพื้นที่สื่อของไทยหลายเดือนมานี้ เริ่มกระจายไปออกอาการในกระแสโลกาภิวัตน์มากขึ้นอย่างน่าประหลาด ทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องกัน และไม่มีสมุหฐานเดียวกัน
ข่าวใหญ่ระดับโลก แต่เป็นข่าวเล็กในไทย 2 ชิ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาต่อไปนี้ คือตัวอย่างเชื้อร้ายที่แฝงอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ยามนี้ และแสดงอาการปะทุออกมาที่อาจจะลุกลามต่อไปได้
เรื่องแรก คณะกรรมาธิการยุโรป (ซึ่งคือรัฐบาลสูงสุดของสหภาพยุโรป) สั่งให้รัฐบาลไอร์แลนด์ทำการปรับเงินบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอิเล็กทรอนิกส์อันดับหนึ่งของโลก แอปเปิล อิงก์ ของสหรัฐฯ 1.3 หมื่นล้านยูโร และดอกเบี้ยย้อนหลัง ในข้อหาใช้ประโยชน์จากช่องว่างของอัตราภาษีในไอร์แลนด์ให้เป็นประโยชน์กับตนเองเป็นเวลายาวนานถึง 15 ปี ผิดกฎหมายของสหภาพยุโรป
เรื่องสอง บริษัทผู้ประกอบการเรือขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์อันดับ 9 ของโลกสัญชาติเกาหลีใต้ Hanjin Shipping ถูกเจ้าหนี้ที่เจรจาปรับโครงสร้างหนี้มานาน เกือบ 4 เดือน ประกาศลอยแพ เพื่อเปิดทางให้ถูกคู่แข่งอย่าง Hyundai Merchant Marine ที่เป็นคู่แข่งขัน เข้ามาฮุบกิจการในระยะต่อไป
กรณีของแอปเปิล อิงก์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีการสอบสวนดำเนินการโดยคณะกรรมาธิการยุโรป มานานเกือบ 4 ปีแล้ว และคำสั่งปรับดังกล่าว ก็ยังไม่ใช่ข้อยุติอย่างถึงที่สุด เพราะเปิดช่องให้ รัฐบาลไอร์แลนด์ว่า หากไม่พอใจผลการตัดสิน ก็สามารถอุทธรณ์คำสั่งนี้ต่อศาลของ EU ได้
ประเด็นสำคัญของข้อกล่าวหาอยู่ที่ว่ากลุ่มแอปเปิล อิงก์ ได้หาประโยชน์เกินสมควรจาก ข้อตกลงเรื่องการเก็บภาษีพิเศษของสหภาพยุโรปที่ให้กับไอร์แลนด์ เรียกว่า Double Irish Arrangement ที่ผ่อนผันให้ใช้มาตรการภาษีระดับต่ำกว่าปกติเพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ นับตั้งแต่ไอร์แลนด์เข้ามาเป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC) ในปี 1980 เป็นต้นมา และเพิ่งยกเลิกในปี 2013 หรือเมื่อ 3 ปีเศษที่ผ่านมา
ข้อตกลงดังกล่าว อนุญาตให้บริษัทข้ามชาติในไอร์แลนด์สามารถยักย้ายถ่ายเทรายได้จากการที่จะต้องบันทึกในประเทศที่เก็บภาษีแพง มาอยู่ในธุรกิจหรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนในไอร์แลนด์ เพราะไม่ได้มีข้อกำหนดให้เก็บภาษีจากราคาโอนข้ามกิจการ (transfer pricing)
บริษัทย่อยของแอปเปิลในยุโรป 2 ราย ได้แก่ Apple Sales International และ Apple Operations Europe ล้วนตั้งอยู่ในกรุงดับลิน เมืองหลวงของไอร์แลนด์ทั้งคู่ ถูกกำหนดให้ใช้ประโยชน์จากการเป็นผู้ที่ “รับเงิน” จากการขายสินค้าของแอปเปิลทั้งหมดยุโรป (รวมถึงในเขตตะวันออกกลาง แอฟริกา อินเดีย) โดยแยกออกเป็นกลุ่มสินค้าจำพวกอุปกรณ์พกพา ของแอปเปิลจะบันทึกบัญชีที่ Apple Sales International ส่วนสินค้ากลุ่มคอมพิวเตอร์จะบันทึกไว้ในบัญชี Apple Operations Europe เช่นกัน
บริษัททั้งสองรายไม่ได้ซื้อสินค้าจาก Apple Inc. ในสหรัฐอเมริกาโดยตรง แต่ซื้อสินค้าจากผู้รับจ้างผลิตในเอเชียของแอปเปิลแทน เมื่อขายสินค้าได้เงินแล้ว จะส่งเงินกลับไปยัง Apple Inc. ในรูปของเงินค่าจ้างวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกทำให้ถูกกฎหมายครบถ้วน แต่วิธีการลงรายได้กลับพิสดารมาก
ตามหลักทางภาษี ทั้งสองบริษัทย่อยในไอร์แลนด์ จะต้องถูกหักภาษีจากกำไร แต่กลับสามารถเจรจาให้ไอร์แลนด์ยอมแยกบัญชีแบ่งส่วนกำไรตามพื้นที่สาขาของบริษัทเป็น 2 ส่วน คือ กำไรของสำนักงานใหญ่ (head office) และกำไรของสำนักงานสาขาไอร์แลนด์ (Irish branch)
ปัญหาคือ “สำนักงานใหญ่” ของ ASI และ AOE ไม่ถูกระบุชื่อประเทศ ไม่มีสำนักงาน ไม่มีพนักงานใดๆ ซึ่งกำไรส่วนนี้ไม่ต้องเสียภาษีเลยแม้แต่น้อย ส่งผลให้บริษัทลูกแอปเปิลทั้งสองรายลงบัญชีกำไรว่าอยู่ใน head office ไปซะเกือบหมด คือแทบจะไม่ต้องเสียภาษีเลย
ตัวแทนของแอปเปิล เคยให้การต่อสู้ในรัฐสภาอเมริกันเมื่อตอนที่เริ่มมีคดีว่า แอปเปิลได้ชำระภาษีตามกรอบของกฎหมาย (the law) และตามมารยาทของกฎหมาย (the spirit of law) ไปกว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 30% ตามอัตราภาษีองค์กรของสหรัฐฯ และปฏิเสธข้อหาที่มีคนขนานนามปฏิบัติการที่ว่าเป็น “จอกศักดิ์สิทธิ์แห่งการเลี่ยงภาษี” จากรายได้นอกตลาดสหรัฐฯมากถึง 44 พันล้านเหรียญสหรัฐ
กรณีของแอปเปิล ชี้ให้เห็นว่า บริษัทข้ามชาตินั้นชาญฉลาดมากเพียงใดในการหาประโยชน์จากช่องว่างทางภาษีของพื้นที่จำเพาะทั่วโลก โดยที่ไอร์แลนด์ เป็นแค่หนึ่งกรณีตัวอย่างเท่านั้น
ส่วนกรณีบริษัทเรือเกาหลีใต้ สะท้อนกลไกทุนนิยมในการรับมือกระแสโลกาภิวัตน์ขาลงที่ทรงพลังอย่างยิ่ง
8 ปีนับแต่วิกฤตซับไพร์มของสหรัฐฯ ที่ต่อเนื่องมาด้วย ความถดถอยของยูโรโซน เงินฝืดในญี่ปุ่น และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้บริษัทเรือคอนเทนเนอร์ทั่วโลกมีทางเลือก 3 ทางเพื่อเอาตัวรอด คือ 1) เจรจาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่กับเจ้าหนี้ทั้งธนาคาร และผู้ถือหุ้นกู้ 2) สร้างพันธมิตรเครือข่ายเพื่อลดการแข่งขัน 3) ควบรวมกิจการกับคู่แข่งเพื่อลดการแข่งขัน
การลดต้นทุนด้วยการขายทิ้งเรือออกจากมือ เป็นมาตรการที่เจ้าหนี้ของ Hanjin ที่มีสถาบันการเงินเป็นแกนนำ สร้างเงื่อนไขในการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่ง Hanjin พยายามต่อรองสุดฤทธิ์เพราะหากยอมตาม หมายถึงการลดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวลงไป ที่ยอมถอยไม่ได้เลย
การเจรจามาราธอนที่เริ่มตั้งเดือนพฤษภาคมปีนี้ ก่อนที่หุ้นกู้ของบริษัทเรือนี้จะครบกำหนดชำระมาถึงจุดแตกหัก เมื่อบรรดาเจ้าหนี้พบแนวทางใหม่ ด้วยข้อเสนอให้ควบรวมกิจการเข้ากับคู่แข่งขันที่ขับเคี่ยวกันมานานหลายทศวรรษ คือ Hyundai Merchant Marine ผลลัพธ์คือการล้มโต๊ะที่ตามมา เพราะเจ้าหนี้รู้ดีว่า หาก Hanjin จำต้องยอมมอบตัวเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง อันเป็นทางเลือกท้ายสุด คำตอบสุดท้ายย่อมหนีไม่พ้นถูกฮุบกิจการอย่างแน่นอน
เกมนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ใช่เรื่องสุดท้ายอีกเช่นกัน
ทั้งสองกรณี สะท้อนว่า กระแสโลกาภิวัตน์นั้น มีทั้งด้านมืดและสว่างควบคู่กันเสมอ ความจำเป็นสำหรับการทำความเข้าใจให้รอบด้านเท่านั้น ที่จะช่วยให้พ้นจากกับดักของอคติและการกลัดกระดุมผิดเม็ด