หมดยุคสื่อชี้นำทายท้าวิชามาร
วงการสื่อเป็นข่าวฮือฮา เมื่อ 2 ค่ายใหญ่ มติชน เนชั่น ประกาศให้พนักงานสมัครใจเออร์ลีรีไทร์ แม้ไม่ถึงกับเซอร์ไพรส์เพราะรู้กันอยู่ ธุรกิจสื่อวิกฤติหนัก แต่ก็สะท้อนว่า “เลือดยังไหลไม่หยุด”
ใบตองแห้ง
วงการสื่อเป็นข่าวฮือฮา เมื่อ 2 ค่ายใหญ่ มติชน เนชั่น ประกาศให้พนักงานสมัครใจเออร์ลีรีไทร์ แม้ไม่ถึงกับเซอร์ไพรส์เพราะรู้กันอยู่ ธุรกิจสื่อวิกฤติหนัก แต่ก็สะท้อนว่า “เลือดยังไหลไม่หยุด”
ไม่ใช่แค่มติชน เนชั่นบริษัทสื่อในตลาดหลักทรัพย์ฯแจ้งตัวแดงแทบทุกค่าย ทั้งสิ่งพิมพ์ทีวี ขนาด BEC ยังกำไรหดหาย บริษัทนอกตลาดก็ไม่ต่างกัน ไม่ว่าค่ายเล็กค่ายใหญ่ แม้ยังไม่ปลดคนก็ลดเบี้ยเลี้ยงโบนัส ใครออกใครตายไม่รับใหม่ ทำกันไปเท่าที่ยังไหว
ชะตากรรมเด็กจบใหม่สายนิเทศจึงชัดเจน ตกงาน! เว้นแต่พ่อเป็นนายพล ขอบรรจุรับราชการทหาร
วิกฤติสื่อไม่ใช่แค่ปัญหาเฉพาะหน้าจากภาวะเศรษฐกิจเม็ดเงินโฆษณาลด แต่เรื่องใหญ่คือโลกเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน พฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยน คนรุ่นใหม่ไม่ซื้อหนังสือพิมพ์ไม่ดูทีวี ดูข่าวดูคลิปในสมาร์ทโฟนฟรีๆ ดีกว่า เร็วกว่าสดกว่า แถมทุกคนเป็นสื่อได้ ไปเจอเรื่องดราม่าเช่น “เต้าหู้ไข่” ถ่ายภาพถ่ายคลิปแป๊บเดียวแชร์กระจาย เป็นแสนเป็นล้าน สื่อต่างหากต้องตามก้นมาทำข่าว
ย้อนหลังไปปลายปี 56 กสท.เปิดประมูลทีวีดิจิตัล 24 ช่อง ได้ค่าสัมปทาน 50,862 ล้าน วันนั้นใครชนะก็หน้าบาน บางค่ายฟาด 2 ฟาด 3 แข่งขันซื้อตัวนักข่าว พิธีกร ผู้บริหาร แต่ 3 ปีผ่านไป คนพลาดประมูลอย่างค่ายโพสต์กลับเป่าปาก โชคดีเสียกระไร ไม่งั้นปี 58 คงไม่ขาดทุนแค่ 250 ล้าน
เพราะหลังจากนั้นเศรษฐกิจก็ตกวูบ แถม คสช.ทำรัฐประหาร “ขอเวลาอีกไม่นาน” ตอนหกโมงเย็นและคืนวันศุกร์ Prime Time ช่องข่าว ช่อง SD HD ที่เตรียมแข่งขันกันทำข่าว (ใครๆ ก็อยากเป็นสรยุทธ์) เจอประกาศ คสช.ก็กร่อยสนิท ต้องลดภูมิปัญญาไปทำข่าวดราม่า ข่าวดารา ข่าวหมาแมวนอกจาก 4-5 ช่องที่แข่งกันทำละคร เกมโชว์ เรียลลิตี้ หรือมีตังค์หน่อยถ่ายกีฬา ถ่ายมวย ช่องที่เหลือก็มีแต่สารคดี หรือไลฟ์สไตล์ พาเที่ยว พาชิม ชีวิตชิลๆ เปิดช่องไหนก็ชิลจนหลับ
แน่ละ ช่องใหม่บางรายไปโลด เวิร์คพอยท์ แกรมมี่ อาร์เอส โมโน เรตติ้งดี แต่แกรมมี่อาร์เอสก็ติดกับดักธุรกิจเดิมเทปเพลงซีดีหมดยุคต้องทำสงครามลิขสิทธิ์กับร้านกาแฟ (แถมกล่องเคเบิลก็หมดยุค CTH เพิ่งล้มครืน)
ทำนองเดียวกับสื่อกระดาษที่อาจหาญทำทีวี วันนี้อ่วมทั้งสองด้าน หนังสือพิมพ์ นิตยสาร พ็อคเก็ตบุ๊ค ยอดขายหดกระทบถึงร้านหนังสือ ธุรกิจการพิมพ์ เหมือนคนไม่ดูทีวีกระทบยอดขายทีวี
ทุกวันนี้อาจยังมีทีวีใหม่บางช่องทุ่มไม่อั้น เพราะเจ้าของเป็นมหาเศรษฐี ถอนขนหน้าแข้งไม่กี่เส้นได้เป็นเจ้าของสื่อมีหน้ามีตาเสริมบารมี แต่สมมติวันไหน กสท.ยอมให้ยกเลิกสัญญา ไม่เสียค่าปรับ เชื่อได้เลยครับ ทีวีดิจิตัลจะหายไป 10 กว่าช่อง เพราะมีช่องทางอื่นให้เลือก ดูอย่าง “ไดอารีตุ๊ดซี่ส์” ทาง Youtube มีคนดูเป็นล้าน มากกว่าทางทีวีเสียค่าสัมปทานซะอีก
ข่าวสาร ความรู้ ความคิด หรือกระทั่งความบันเทิง กำลังย้ายไปอยู่ในโลกออนไลน์ ในรูปแบบสั้นๆ ง่ายๆ สดๆ ทาง Youtube หรือ facebook live สื่อกระแสหลักก็ต้องย้ายไปแข่งขันในโลกของสื่อใหม่ ทั้งการแย่งชิงคนอ่านคนดู และโฆษณาหารายได้ ซึ่งเด็กจบใหม่สามารถ “สตาร์ทอัพ” แข่งได้โดยไม่ต้องไปสมัครงาน แม้สื่อเก่ายังมีเครดิตกว่า สื่อกระดาษยังมีอิทธิพลอีกหลายปี แต่ก็จะชี้นำสังคมไม่ได้ง่ายๆ อีกต่อไป