STA เปลืองตัว แต่เกินคุ้มแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
ไม่มีใครรู้เจตนาของผู้บริหารบริษัทส่งออกยางขนาดใหญ่สุดของไทยอย่าง นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรัง แอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ในการนำข่าวร้ายสำหรับวงการยางพาราไทยมาเปิดโปง
ไม่มีใครรู้เจตนาของผู้บริหารบริษัทส่งออกยางขนาดใหญ่สุดของไทยอย่าง นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรัง แอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ในการนำข่าวร้ายสำหรับวงการยางพาราไทยมาเปิดโปง
ความหวังดีต่อธุรกิจโดยรวม หรือ การทุบราคารับซื้อยางพาราจากชาวสวน..หรือ ทุบหุ้น STA ของตัวเอง ???????
นายวีรสิทธิ์ ออกมาบอกว่า ได้รับการยืนยันจากบริษัทมิชลิน และบริดจสโตน 2 ค่ายยางล้อรถยนต์ระดับโลก ประกาศไม่รับซื้อผลผลิตยางพาราในพื้นที่ภาคอีสานของไทย และตัดสินใจพับแผนก่อสร้างโรงงานมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาทในภาคอีสาน หลังพบว่า กว่าร้อยละ 80% ของพื้นที่มีการใช้ “กรดซัลฟิวริก” ใส่ในน้ำยาง เพื่อให้น้ำยางเซตตัวเร็ว ซึ่งการกระทำดังกล่าวส่งผลต่อเนื่องถึงคุณภาพและอายุการใช้งานของยางล้อรถยนต์สั้นลง
นอกจากนี้กรดดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่ออายุต้นยาง จากเดิมที่มีอายุการกรีดนาน 30 ปี เหลือแค่ 15 ปีเท่านั้น
ข่าวดังกล่าวแพร่หลายทั่ว โด่งดังเป็นพลุในช่วงข้ามวัน จนถึงขั้นที่นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังต้องออกมามาชี้แจงประเด็นดังกล่าวในเวลาต่อมาว่า ได้รับการชี้แจงว่าเป็นเพียงข้อห่วงใยของผู้ประกอบการ ซึ่งไม่ได้ต้องการให้ราคายางตกแต่อย่างใด “…ไม่ใช่ความผิดของใคร”…จบข่าว
ต่อมานาย วีรสิทธิ์ ออกเฟซบุ๊คมาโพสต์แก้ข่าวว่า “เราพยายามรณรงค์อยู่ แต่ไม่ได้แบนนะครับ ต้องแก้ข่าวหน่อย..”
สรุปคือ ผู้สื่อข่าว …ผิดอีกตามเคย
การใช้กรดในการทำยางแผ่นดิบ ของชาวสวนยางนั้น มีสองแบบ คือ แบบโบราณดั้งเดิม นับตั้งแต่นาย ชาร์ลส กูดเยียร์ จดสิทธิบัตรยางรถยนต์จากยางพาราเมื่อศตวรรษก่อน ด้วยการผสมน้ำกรดซัลฟูริก หรือกรดกำมะถันลงไปในการทำยางแผ่นเพื่อให้น้ำยางเกิดการแข็งตัว แต่ปัจจุบัน มีการค้นพบว่ากรดฟอร์มิก ทำยางแผ่นดิบมีคุณภาพดีกว่า เมื่อนำไปผลิตยางรถยนต์
ปัญหาก็คือ กรดฟอร์มิก มีราคาแพงกว่า กรดซัลฟูริก ดังนั้น การใช้กรดทั้งสองก็จึงดำเนินการควบคู่กันต่อมา โดยผู้รับซื้อจะยังให้ราคายางแผ่นที่ใช้กรดต่างกัน ในราคาเดียวกัน…ทำอย่างนี้ จะให้เลิกใช้กรดซัลฟูริกก็คงยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา
ที่ผ่านมา ทาง สกย.ได้แนะนำชาวสวนยางมาตลอดว่า ให้ผสมน้ำยาง 3 ลิตร และน้ำ 2 ลิตร เข้ากับกรดฟอร์มิก 2 ช้อนแกง ต่อน้ำ 3 กระป๋องนม กวนน้ำยางด้วยใบพาย 1–2 เที่ยว แล้วค่อยเทส่วนผสมของน้ำกรด 1 กระป๋องนม ทิ้งไว้ 30–45 นาที ยางในตะแกรงจะแข็งตัวแล้วนำไปนวด เพื่อให้ท้ายสุดได้ ค่า DRC (เนื้อยางแห้ง) ประมาณ 25–28%…จึงได้ผลต่ำ
การออกมาป่าวประกาศว่า ยักษ์ใหญ่ยางโลก มิชลิน และบริดจสโตนจะไม่ซื้อยางแผ่นที่มีส่วนผสมของกรดซัลฟูริก ของนายวีรสิทธิ์ …โดยที่ทั้งสองบริษัทผลิตยาง ไม่เคยพูดอะไรเลย…จึงเป็นการ “เขียนเสือให้วัวกลัว” ธรรมดา เพื่อหวังผลอย่างไม่มีข้อสงสัย
ถือเป็นการให้ข่าวแบบ “ฮาร์ดคอร์” ที่น่าสนใจ….ท่ามกลางแนวโน้มที่ราคายางกำลังโน้มต่ำลงครั้งใหม่ ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
การออกโรงของนายวีรสิทธิ์ ถือว่า มีผลสะเทือนพอสมควร เพราะถึงขั้นทำให้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เชื้อเชิญบริษัทมิชลิน และ STA มาร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมการพิจารณาผลผลิตทางการเกษตร ของ สนช. โดยที่ทาง มิชลิน ได้ยืนยันว่าไม่ยกเลิกการซื้อยางจากภาคอีสานอย่างแน่นอน…
ส่วน นายธีธัช สุดสะอาด ผู้ว่า กยท. ก็รีบออกมารับลูกต่อจากนายกรัฐมนตรี ว่า จะจัดทำแผนรณรงค์ลดการใช้กรดซัลฟูริกในยางพาราก้นถ้วย ภายใน 3 ปี เพิ่มสัดส่วนของการใช้กรดฟอร์มิกให้มากขึ้น จากปัจจุบันใช้ประมาณ 40% ของทั้งหมด และกำลังพิจารณา “…ให้ภาคเอกชนที่รับซื้อยางพาราก้นถ้วย สนับสนุนเงินบางส่วนให้กับเกษตรกรเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับซื้อกรดฟอร์มิก…” ให้เอกชนกำหนดราคารับซื้อยางพาราที่มีการใช้กรด 2 ประเภทในกระบวนการผลิตให้แตกต่างกันอย่างชัดเจน
การออกโรงของนายวีรสิทธิ์…ที่ดูเว่อร์เกินจริง..ก็ถือว่าไม่สูญเปล่า…อย่างน้อยก็มีคนรับลูก
ย้อนกลับไปดูที่ราคาหุ้นของ STA หลังจากข่าวนี้ออกมา พบว่าน่าสนใจเพราะตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาหุ้นของ STA 12.20 บาท มาอยู่ที่ 11.80 บาท ถือว่าไม่มีนัยสำคัญอะไรเลย เพราะเป็นการเหวี่ยงที่ต่ำกว่าตลาด
ราคาหุ้นที่ร่วงต่ำกว่าตลาด ไม่ถือว่าเป็นปฏิบัติการ “ทุบเอาของ”…ฟังไม่ขึ้น
ที่สำคัญ ปีนี้ STA มีอัตรากำไรสุทธิที่ดีกว่าปีก่อน รู้เพราะว่า ได้กำไรจากการที่ราคายางตกต่ำ หรือเพราะว่าขายยางพาราส่งออกได้ราคาแพงขึ้น ก็สุดคาดเดา …
งานนี้ STA ได้คะแนนจากการออกโรงที่หวังผลได้
กดไลค์ให้ตันเองได้เลย….แม้จะเปลืองตัวเล็กน้อย ก็ไม่สึกหรออะไร
“อิ อิ อิ”