
พาราสาวะถี อรชุน
ไม่รู้ว่าเป็นการยุส่งหรือประชดประชัน แต่ในฐานะที่เคยเป็นอดีตกกต.ความเห็นของ สดศรี สัตยธรรม เกี่ยวกับข้อเสนอของสปท.บางรายที่ให้กระทรวงมหาดไทยเข้ามาดูแลการเลือกตั้งแทนกกต.เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายซึ่งเกี่ยวข้องต้องรับฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกเอากรณีเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 มาเป็นบทเรียนที่ชี้ให้เห็นความเป็นสากกะเบือของกกต.
ไม่รู้ว่าเป็นการยุส่งหรือประชดประชัน แต่ในฐานะที่เคยเป็นอดีตกกต.ความเห็นของ สดศรี สัตยธรรม เกี่ยวกับข้อเสนอของสปท.บางรายที่ให้กระทรวงมหาดไทยเข้ามาดูแลการเลือกตั้งแทนกกต.เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายซึ่งเกี่ยวข้องต้องรับฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกเอากรณีเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 มาเป็นบทเรียนที่ชี้ให้เห็นความเป็นสากกะเบือของกกต.
ครั้งนั้นถือเป็นความอัปยศในระบบการเลือกตั้งของประเทศไทยสุดๆ สดศรีระบุว่า นับเป็นอีกหนึ่งบทเรียนครั้งสำคัญ เพราะการที่มีผู้บุกรุกก่อกวนสถานที่รับสมัครรับเลือกตั้ง สถานที่เลือกตั้ง จนไม่สามารถจัดเลือกตั้งได้กว่า 20 จังหวัด กกต.กลับไม่มีอำนาจหรือเครื่องมือที่จะจัดการอะไรได้เลย จนท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ต้องเสียงบประมาณกว่า 2 พันล้านไปโดยสูญเปล่า
เมื่อย้อนกลับไปกกต.ยุคของ พลตำรวจเอกวาสนา เพิ่มลาภ เป็นประธาน ศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะเช่นกัน เท่ากับว่าตั้งแต่มีกกต.การเลือกตั้งถูกสั่งให้เป็นโมฆะถึง 2 ครั้ง แต่ช่วงที่กระทรวงมหาดไทยดำเนินการนั้นไม่มีการเลือกตั้งครั้งใดเลยเป็นโมฆะ เมื่อมีฝ่ายที่เห็นว่าควรให้คสช.ดูแลการเลือกตั้งและให้กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้ง เพราะมีเครื่องไม้เครื่องมือเต็มที่และมีความชำนาญในการจัดการเลือกตั้ง ก็น่าจะเหมาะสมที่จะทำตามข้อเสนอ
แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น วันนี้กลับมีข่าวเรื่องการทะเลาะกันของกกต.ที่ยังคงยืนยันว่าผลพวงจากการเลือกตั้งเมื่อ 2 กุมภาพันธ์นั้น ภาพลักษณ์คณะกรรมการไม่อยากจัดการเลือกตั้งยังคงติดตาและไม่สามารถที่จะเปลี่ยนความคิดนั้นได้ เมื่อรวมเอากับความไม่ชัดเจนในการปฏิบัติหน้าที่โดยเฉพาะการตีความเรื่องกฎหมายประชามติ มันก็น่าจะถึงเวลาที่หัวหน้าคสช.ต้องใช้มาตรา 44 เข้าไปจัดการ
แน่นอนว่า นับตั้งแต่ผ่านกกต.มา 3 ชุด ไม่เคยมีเรื่องราวความบาดหมางหรือการไม่ลงรอย แม้กระทั่งการทวงเก้าอี้ประธานกกต. กลายเป็นว่าภาพที่คนมองก่อนหน้ากกต.ชุดนี้ไม่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว และมุ่งแต่จะแสวงหาลาภ ยศในตำแหน่ง แค่ความไม่สามัคคีก็น่าที่จะเพียงพอสำหรับองค์รัฏฐาธิปัตย์ต้องพิจารณาว่า สมควรจะให้อยู่ทำหน้าที่ต่อไปหรือไม่
การทะเลาะกันในลักษณะเช่นนี้ ปล่อยให้ทำหน้าที่ต่อไปรังแต่จะสร้างภาพลักษณ์ที่เสียหายต่อองค์กร ซึ่งก็มัวหมองและขาดความน่าเชื่อถือมาระดับหนึ่งแล้ว ดังนั้น ก่อนที่จะถกเถียงกันถึงปมเซตซีโร่พรรคการเมือง น่าจะต้องสังคายนาหรือเซตซีโร่กกต.กันเสียใหม่ทั้งหมด เพราะหลังรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ก็จะต้องเพิ่มกกต.เป็น 7 คนอยู่แล้ว ถือเป็นการล้างไพ่ไปเลยดีกว่า
โดยเวลานี้บรรดาเจ้าหน้าที่กกต.ต่างก็วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนัก ซึ่งเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรใช้ความเด็ดขาดจัดการเรื่องนี้ เนื่องจากการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญก็ผ่านไปแล้ว ขณะที่การร่างกฎหมายลูก 4 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทางฝ่ายสำนักงานก็ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ดังนั้น หากจะไม่มีกกต.ในช่วงเวลาหนึ่งก็ไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างใด
ความขัดแย้งเที่ยวนี้เห็นได้ชัดเจนในเรื่องของการใช้เล่ห์เหลี่ยมทางกฎหมายมาต่อสู้กัน แต่ก็ถือเป็นเรื่องดีที่อย่างน้อยก็ทำให้เราได้เห็นว่า“อำนาจไม่เข้าใครออกใครจริงๆ” แม้แต่ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นองค์กรอิสระที่จะต้องชี้เป็นชี้ตายเรื่องสำคัญยังเป็นเสียอย่างนี้ แล้วจะไปหวังความน่าเชื่อถือมาจากไหน จะว่าไปแล้วความจริงหลังการรัฐประหาร กกต.ชุดนี้ก็ร้อนๆ หนาวๆ กลัวที่จะหลุดจากตำแหน่งไปหนหนึ่งแล้ว เมื่อมาทะเลาะกันให้เห็นก็ไม่จำเป็นที่ผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจะต้องมีความปรานีอีกต่อไป
ไม่รู้ว่าเหตุไม่คาดฝันครั้งนี้ จะเป็นการเดินไปเข้าทางตีนของฝ่ายชงให้คสช.และกระทรวงมหาดไทยเข้ามามีบทบาทในการจัดการเลือกตั้งอย่างสปท.หรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ ฝ่ายกรธ.ในฐานะผู้มีอำนาจเต็มในการเขียนกฎหมายลูก ก็ได้ออกมาแสดงเจตนารมณ์แล้วว่า ไม่จำเป็นต้องรับฟังความเห็นและทำตามสปท.ทั้งหมด ความเป็นจริงคือต้องรับฟังความเห็นทุกฝ่าย
หนักข้อไปกว่านั้น อมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกกรธ.ก็ตอกกลับสปท.เจ้าของความคิดนี้อย่างเจ็บแสบ ด้วยข้อความที่ว่า สปท.เองยังมีเรื่องการปฏิรูปอีกหลายเรื่องที่ควรทำอย่างเร่งด่วน เช่น เรื่องการศึกษาและการบังคับใช้กฎหมาย หากทำสองเรื่องนี้สำเร็จก็จะส่งผลดีกับการปฏิรูปอื่นๆ ด้วย ส่วนเรื่องการเมืองมีคนทำเรื่องนี้มากอยู่แล้ว
ถ้าให้ถอดรหัสบทสัมภาษณ์นี้ของอมรคงประมาณว่า อย่าเสนอหน้ากันให้มากเรื่องการเมือง เพราะมีคนอื่นเขาทำกันอยู่ หรืออาจจะเป็นการส่งสัญญาณกลายๆ ว่า กรธ.รับคำสั่งมาให้ดำเนินการเรื่องนี้อยู่แล้วไม่ต้องเป็นห่วง เหมือนอย่างที่มีคนบอกไว้ก่อนหน้านี้ วิธีการแบบโต้งๆ ที่บรรดาผู้อยากมีอำนาจเสนอมานั้น เชื่อว่าผู้มีอำนาจที่แท้จริงเขาไม่รับ เพราะเขามีวิธีที่แยบยลและแนบเนียนกว่านี้
จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ คงอยู่ที่การเขียนกฎหมายลูก เพราะทั้งกฎหมายที่ว่าด้วยพรรคการเมือง การเลือกตั้งส.ส.และที่เกี่ยวกับกกต. จะต้องมีการระบุในรายละเอียดชัดเจน ซึ่งตรงนั้นจะได้เห็นกันว่า ภาคขยายของกรธ.ที่ขอให้ประชาชนตีเช็คเปล่าจากการผ่านร่างรัฐธรรมนูญในการทำประชามติมาแล้ว จะไปปู้ยี่ปูยำทำให้กฎหมายลูกถูกร้องยี้หรือได้รับการยอมรับ อยู่ที่หัวหน้าทีมศรีธนญชัย เอ้ย! ประธานกรธ.
อย่างไรก็ตาม เหตุผลของคณะผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญที่อ้างว่า แม้จะสามารถร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญได้ตามใจโดยไม่ต้องนำไปทำประชามติ แต่หลังกระบวนการยกร่างก็จะต้องเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบอยู่แล้ว ตรงนั้นโดยหลักการแล้วถูกต้อง แต่ถามว่าให้รับรู้แต่ไม่สามารถโต้แย้งหรือขอให้เปลี่ยนแปลงอะไรได้ มันจะเกิดประโยชน์อะไร
บทเรียนจากการทำประชามติมีให้เห็นกันเด่นชัด ทั้งๆ ที่ควรจะเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายได้วิจารณ์ตามบรรยากาศการทำประชามติที่ควรจะเป็น แต่กลับมีการปิดกั้นทุกทางและอ้างเหตุผลต่างๆ นานา ภาพเช่นนี้มันคงจะหนักหน่วงยิ่งกว่าเมื่อกฎหมายลูกถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ และในเวลานั้นอาจจะมีคนถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคสช.อีกไม่น้อย เมื่อเลือกเส้นทางที่จะปิดปากคนเห็นต่างมาตั้งแต่ต้นแล้ว ปลายทางที่จะอ้างว่าเปิดกว้างให้แสดงความเห็นหรือพร้อมที่จะรับฟัง มันจะเป็นไปได้อย่างไร