POMPUI กับ เจ้าหนี้ใจบุญแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

ตอนแรกสุดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ที่ผ่านมา ใครก็เข้าใจไปว่า การที่ธนาคากรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ได้มาซึ่งหุ้นของบริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) หรือ POMPUI เป็นผลพลอยได้ระดับ “ตาอยู่” จากความขัดแย้งอันยาวนานร่วม 2 ทศวรรษของพี่น้องตระกูล โตทับเที่ยงของจังหวัดตรังที่ร่วมถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว


ตอนแรกสุดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ที่ผ่านมา ใครก็เข้าใจไปว่า การที่ธนาคากรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ได้มาซึ่งหุ้นของบริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) หรือ POMPUI เป็นผลพลอยได้ระดับ “ตาอยู่” จากความขัดแย้งอันยาวนานร่วม 2 ทศวรรษของพี่น้องตระกูล โตทับเที่ยงของจังหวัดตรังที่ร่วมถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว

เอาเข้าจริงกลับไม่ใช่  เพราะเวลาผ่านไปแค่ยังไม่ถึงเดือน หุ้นที่ KTB ได้มาครึ่งหนึ่งฟรี จากการปรับโครงสร้างหนี้ของ POMPUI ก็ถูกขายกลับไปให้กับคนของตระกูลโตทับเที่ยงเสียแล้วด้วยราคาที่ต่ำกว่าการตีราคาที่ได้มาชนิด….ขาดทุนป่นปี้

โดยอ้างว่า เป็นไปตามเงื่อนไขของการปรับโครงสร้างหนี้ที่ทำไว้ก่อนแล้ว

มองย้อนกลับไปในอดีต POMPUI เป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารทะเลกระป๋อง ที่ชื่อเสียงเคยโด่งดังจากจังหวัดตรัง และ เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น

เมื่อแรกเข้าตลาด POMPUI ถือเป็นบริษัทดาวรุ่ง ที่มาจากภูธรภาคใต้ ราคาหุ้นเคยพุ่งสู่จุดสูงสุดถึง 64.00 บาท แต่หลังจากเผชิญมรสุมสำคัญครั้งวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ราคาหุ้นก็วิ่งต่ำลงไปที่ระดับ 3.00 บาท ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาครั้งที่สองในช่วงปี 2546 ที่ตลาดหุ้นไทยกลับมาฟื้นตัวรุนแรง  ราคาวิ่งขึ้นมาถึง 17.60 บาท ทั้งที่ฐานะการเงินเปราะบาง เนื่องจากฐานะการเงินเลวร้ายเรื้อรัง มีส่วนผู้ถือหุ้นติดลบเรื้อรัง และยังตามมาด้วย “ศึกสายเลือด” ระหว่างคนในตระกูลโตทับเที่ยง อันยืดเยื้อ ยังมีขาดทุนสะสมบานเบอะ จนส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ จนถึงขั้นยื่นมอบตัวเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการในปลายปี  2548

ราคาปิดสุดท้ายตอนที่หยุดซื้อขายคือ  2.16 บาท

แม้จะหยุดการซื้อขายนานกว่าเกือบ 11 ปี แต่ POMPUI ก็ยังคงรายงานงบการเงินต่อตลาดและนักลงทุนต่อเนื่อง โดยมีรายได้จากผลประกอบการ ระหว่างปีละ 1,200-1,500 ล้านบาท แต่ละปีมีกำไรสลับขาดทุน แต่ผลประกอบการงวดไตรมาสแรกของปีนี้ มีรายได้ลดฮวบแค่ 279.03 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 5.37 ล้านบาท หรือกำไรต่อหุ้น 0.14 บาท

ปมปัญหาทางการเงินใหญ่สุดของ POMPUI อยู่ที่ยังมีส่วนผู้ถือหุ้นติดลบอยู่เล็กน้อย 257.57  ล้านบาท ทำให้ยากที่จะมีคำตอบว่าจะกลับมาซื้อขายอีกครั้งเมื่อใด โดยไม่ต้องพูดถึงการจ่ายปันผล เพราะตัวเลขขาดทุนสะสมยังมีอยู่ 725.15 ล้านบาท

การฟื้นตัวที่ล่าช้า และยังมีหนี้สินตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้อีก 784.45 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาภายในครอบครัวที่ “ยุ่งเป็นยุงตีกัน” เนื่องจากข้อพิพาท ระหว่างกลุ่มนายสุรินทร์ โตทับเที่ยง ประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ POMPUI กับคนอื่นๆ ที่ร่วมถือหุ้นใน บริษัท กว้างโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็น “กงสี” ของครอบครัว และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ POMPUI ถึงขั้น ไม่เผาผีกัน

ข้อพิพาท “ศึกสายเลือด” ดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะแต่ละฝ่ายของคู่กรณีก็นำเหตุผลมาโจมตีอีกฝ่าย และ ป้องกันตัวเองเต็มที่ เป็นที่โด่งดังไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่จังหวัดตรัง ที่เป็นรากฐานของธุรกิจตระกูลนี้มายาวนาน 2 ชั่วอายุคน นับแต่ยุคผู้ก่อตั้ง นายโต๋ว ง่วนเตียว และนางยิ่ง โตทับเที่ยง ผู้วางรากฐานให้แบรนด์ปลากระป๋อง ปลายิ้ม ที่นายสุรินทร์เสมือนหนึ่งเป็น “ตัวเปิด” ของคนในตระกูล

ข้อพิพาทที่จบไม่ลงระหว่างคนในตระกูลโตทับเที่ยง ที่ถือหุ้นร่วมใน บริษัท กว้างโฮลดิ้ง จำกัด อันเป็นนิติบุคคลที่ถือหุ้นใหญ่สุดในของ POMPUI นับแต่เริ่มต้นจดทะเบียนในตลาดฯมาตั้งแต่ปี  2538 เป็นข่าวออกมาไม่ต่อเนื่อง แต่ก็เกิดขึ้นยาวนาน และเป็นที่ทราบกันดี

 ต้นเดือนสิงหาคม KTB แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุว่าได้เข้าถือหุ้นสามัญของ POMPUI จำนวน 12,429,000 หุ้น หรือ 24.83% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยไม่ได้ใช้เงินสด แต่เกิดจากการตีราคามูลค่าของบริษัทต่อหุ้น เพื่อแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของบริษัท ในราคาหุ้นละ 25.00 บาท สูงกว่าราคาพาร์หุ้นละ 10.00 บาท

แล้วก็จะแพงขึ้นไปอีก หากเทียบกับข้อเท็จจริงที่ว่า  มูลค่าตามบุ๊คแวลู ของ POMPUI ล่าสุด ติดลบถึงหุ้นละ 6.85 บาท…เป็นเจ้าหนี้ที่ใจบุญอย่างยิ่งยวด

นั่นยังไม่พอ เพราะล่าสุด วันที่ 1 กันยายน  โดยนางวลัยรัตน์ เลิสพรอำไพศาล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ได้จำหน่าย หุ้นสามัญจำนวน 6.214 ล้านหุ้นหรือ 12.42% คืนให้กับนายไกรสิน โตทับเที่ยง กรรมการ และผู้ถือหุ้นอันดับที่ 3 ของก POMPUI ในมูลค่ารวม 31.00 ล้านบาท

คิดคำนวณแล้ว ขายไปในราคา 4..988 บาท ต่อหุ้น ..หรือคิดง่ายๆ ก็คือ 5.00 บาท

เหลือหุ้นที่ KTB จะต้องถือต่อไปที่ 6,214,500 หุ้น หรือ 12.42% ซึ่งส่วนที่เหลือนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าจะขายต่อไปใหใคร

ประเด็นสำคัญคือ KTB ได้เงินคืน จากหนี้เรียบร้อยแล้ว 31.00 ล้านบาท

การได้มาในราคาที่แพงเกินมูลค่าอย่างมีนัยสำคัญแม้จะไม่ได้จ่ายเงินสด แต่กกลับขายออกๆ ไปเพื่อได้เงินสดกลับมาเพียงน้อยนิด ถือเป็นความเมตตากรุณาอย่างยิ่งยวด

หาไม่ได้ง่ายๆ อีกแล้ว

งานนี้ คนบางคนในตระกูล โตทับเที่ยง คงจะลืมชื่อ KTB ไม่ได้เลย

“อิ อิ อิ” 

Back to top button