พาราสาวะถี อรชุน

มันเป็นเรื่องของกรรมที่เกิดจากการกระทำ ในที่สุด สนธิ ลิ้มทองกุล ก็ต้องเดินเข้าสู่กรงขัง หลังศาลฎีกามีคำพิพากษายืนให้จำคุกผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและอดีตแกนนำม็อบพันธมิตร เป็นเวลา 20 ปี ในคดีร่วมกันลงข้อความในเอกสารเท็จของบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ขัดพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ในการค้ำประกันกู้เงินธนาคารกรุงไทยกว่าพันล้านบาท


มันเป็นเรื่องของกรรมที่เกิดจากการกระทำ ในที่สุด สนธิ ลิ้มทองกุล ก็ต้องเดินเข้าสู่กรงขัง หลังศาลฎีกามีคำพิพากษายืนให้จำคุกผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและอดีตแกนนำม็อบพันธมิตร เป็นเวลา 20 ปี ในคดีร่วมกันลงข้อความในเอกสารเท็จของบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ขัดพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ในการค้ำประกันกู้เงินธนาคารกรุงไทยกว่าพันล้านบาท

หลังจากที่ร่วมกับระบอบสนธิ-จำลองล้มรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร โดยอาศัยปมขายหุ้นชินคอร์ปมาปลุกเร้าจนสามารถโบกมือดักกวักมือเรียกคมช.ออกมายึดอำนาจสำเร็จ วันนี้ในฐานะอดีตคนเคยรักโกตั๊บน่าจะเข้าใจหัวอกของผู้ที่ถูกกระทำได้เป็นอย่างดี เรื่องนี้เป็นสิ่งที่คงไม่อาจไปซ้ำเติมเพราะครอบครัวของผู้ถูกคุมขังก็น่าจะสะเทือนใจมากพออยู่แล้ว

บทสรุปของสนธิละม้ายคล้ายกับทักษิณที่ต้องคดี เพียงแต่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในกรณีที่ฝ่ายแรกดำเนินการธุรกิจอย่างมีเงื่อนงำมาโดยตลอด ขณะที่ฝ่ายหลังถูกเล่นงานหลังจากเข้ามาเล่นการเมืองและหนักหน่วงมากขึ้น เมื่อพรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งโดยคะแนนเสียงถล่มทลายในปี 2548 ก่อนจะมาล้มครืนหลังการขายหุ้นชินคอร์ปให้สิงคโปร์

นั่นถือเป็นชะตากรรมของผู้มากชั้นเชิงทางธุรกิจและการเมือง เมื่อหันมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงว่าด้วยการเมืองในมิติปัจจุบัน ยังคงเชือดเฉือนกันด้วยประเด็นความเป็นประชาธิปไตยและการไล่ตรวจสอบกระบวนการหมกเม็ดหรือซ่อนปมเผด็จการไว้ในร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกที่กำลังจะยกร่างกันขึ้น ขณะที่ผู้อยู่ตรงข้ามกับผู้มีอำนาจก็ถูกจัดการอย่างต่อเนื่อง

ก่อนหน้านั้นเป็นการดำเนินคดีกับบุคคลหรือกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญในช่วงของการทำประชามติ แต่หลังจากผ่านขั้นตอนนั้นมาแล้ว ดูเหมือนว่าผู้มีอำนาจจะพุ่งเป้าไปที่การจัดการกับกลุ่มการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์มาอย่างยาวนานนับตั้งแต่สมัยที่ฝ่ายหนึ่งยังเป็นข้าราชการ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่ไปตั้งกันในค่ายทหาร

การที่พนักงานอัยการคดีพิเศษไปยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาเพิกถอนการปล่อยชั่วคราว จตุพร พรหมพันธุ์ วีระกานต์ มุสิกพงศ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายแพทย์เหวง โตจิราการ และ นิสิต สินธุไพร เเกนนำนปช.ที่ตกเป็นจำเลยคดีก่อการร้ายนั้น มันสะท้อนเจตนาบางสิ่งบางอย่างได้ชัดเจน ไล่ตั้งแต่การไปยื่นร้องหลายครั้งหลายหนของพุทธะอิสระ คนที่ก็รู้ว่าใครบ้างนับถืออย่างสุดใจ

ถ้อยแถลงของโฆษกอัยการสูงสุดอาจไม่ได้ระบุถึงเหตุผลที่ดำเนินการดังกล่าว แต่ก็มีแหล่งข่าวระบุว่า การยื่นถอนประกันในครั้งนี้ เนื่องจากจตุพรและพวก ให้สัมภาษณ์ออกรายการทางสถานีโทรทัศน์พีซทีวีและจัดรายการมองไกล มีลักษณะก่อให้เกิดความวุ่นวาย ผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนดไว้ในการปล่อยชั่วคราว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่แปลก

แม้จะไม่บอกว่ากรณีการเปิดศูนย์ปราบโกงก่อนทำประชามติก็เป็นเหตุผลหนึ่งของการถอนประกันตัว รวมทั้งอ้างว่าเป็นหลายๆ เรื่องรวมกัน มีผู้ร้องเรียนเข้ามาและพนักงานอัยการรวบรวมคลิปการสัมภาษณ์ดังกล่าว เป็นหลักฐานยื่นต่อศาล เพื่อขอถอนประกันจำเลยทั้ง 5 คน ในเบื้องต้นศาลได้รับคำร้องไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้กำหนดวันนัดไต่สวน

เหตุที่บอกว่าเป็นเรื่องแปลกนั้น ถ้าย้อนกลับไปตรวจสอบการออกอากาศรายการผ่านทางโทรทัศน์ของแกนนำที่ว่ามาทั้งหมด รวมทั้งกรณีการเปิดศูนย์ปราบโกง ไม่ปรากฏว่ามีการสร้างความเดือดร้อนวุ่นวายใดๆ หรือมีข่าวว่ามีการปลุกระดมให้แนวร่วมไปต่อต้านรัฐบาล ในทางตรงข้ามเรากลับได้ยินการให้สัมภาษณ์หรือจัดรายการหลายๆ หน ห้ามปรามไม่ให้คนที่ให้การสนับสนุนไปเคลื่อนไหวใดๆ ที่จะเป็นการสร้างความวุ่นวาย

นั่นเป็นเพราะแกนนำเหล่านั้น ต่างรู้กันดีว่า การที่จะไประดมคนเพื่อต่อสู้กับอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีใดๆ ต่อกลุ่มก้อนของตนเอง มิหนำซ้ำ ยังจะตกเป็นจำเลยของสังคม ในภาวะที่ถูกกล่าวหาและจับจ้องจากพวกที่ไม่หวังดี ยิ่งอัยการบอกว่ามีคนร้องมาถ้าเป็นพุทธะอิสระ ก็จะเกิดคำถามว่า แล้วเหตุไฉนอดีตแกนนำม็อบกปปส.กับพวกที่มีคดีกบฏติดตัวนั้น อัยการถึงยังไม่สั่งฟ้องคดีใดๆ

โดยจตุพร ถึงกับโวยว่าการดำเนินคดีของแกนนำกปปส.ที่เหลืออีก 54 คน ผ่านมากว่า 3 ปีแล้วยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ย่อมแสดงถึงกระบวนการยุติธรรมในสังคมมี 2 มาตรฐาน การดำเนินคดีของอสส.กว่า 3 ปีนั้น ยังไม่มีความคืบหน้าที่จะสั่งฟ้อง สุเทพ เทือกสุบรรณ และพุทธะอิสระกับพวก ซึ่งดีเอสไอส่งสำนวน รวม 31 คนด้วย แต่กลับจะยื่นถอนประกันตัวคดีนปช. 5 คน

ดังนั้น อสส.จึงแสดงถึงการทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมแบบสองมาตรฐาน ส่อถึงการไม่ยึดมั่นในความยุติธรรม และไม่ให้ความเสมอภาคกับประชาชนด้วยความเท่าเทียมกัน เมื่อกระบวนการเดินทางมาถึงขั้นนี้ กองเชียร์เสื้อแดงคงเฝ้าลุ้นระทึก ขณะที่กองแช่งก็ภาวนาให้เข้าทางที่พวกตนอยากให้เป็น บทสรุปสุดท้ายอยู่ที่ศาลว่าจะมีดุลพินิจอย่างไร

เป็นอันว่าหากยึดเอากฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมืองของกกต.เป็นหลัก ปมเรื่องเซตซีโร่พรรคการเมืองนั้นไม่มี เนื่องจาก สมชัย ศรีสุทธิยากร ออกมาแถลงที่ประชุมกกต.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. …. และได้นำส่งร่างดังกล่าวให้กรธ.แล้วเมื่อเวลาบ่ายสามโมงวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา

เนื้อหาสาระสำคัญคงเป็นไปตามที่ฝ่ายสำนักงานและทางกกต.บางรายได้บอกไว้ก่อนหน้านี้ พรรคการเมืองภายใต้กฎหมายใหม่จะต้อง ตั้งยาก อยู่ยากและยุบยาก โดยอย่างแรกนั้นจะต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 5,000 คน และมีสาขาพรรคแต่ละภาคอย่างน้อย 1 สาขา จึงจะสามารถตั้งพรรคการเมืองได้ พร้อมยืนยันพรรคการเมืองเดิมยังคงอยู่ไม่มีการเซ็ตซีโร่

ส่วนการอยู่ยากคือ กำหนดให้สาขาพรรคการเมืองมีส่วนร่วมในการพิจารณาและเสนอชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขตและแบบรายชื่อ และการกำหนดนโยบายพรรคจะต้องคำนึงถึงความเห็นของที่ประชุมสาขาพรรค ก่อนประกาศเป็นนโยบาย ขณะที่การยุบยากคือ การยุบพรรคจะกระทำได้เฉพาะเหตุร้ายแรง อาทิ การล้มล้างหรือกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ทั้งนี้ ภายใน 2 ปี นับแต่ประกาศใช้ ยังไม่ให้สมาชิกพรรคร่วมเสนอชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ดูกันว่ากรธ.จะเห็นตามนี้หรือไม่ แต่เบื้องต้นได้ขีดเส้นให้กกต.ต้องทำกฎหมายทั้ง 4 ฉบับให้แล้วเสร็จและส่งให้กรธ.ภายในเดือนนี้ เพื่อที่จะดำเนินการทุกอย่างให้แล้วเสร็จและทันการเลือกตั้งภายในปี 2560 คงไม่อยากให้โรดแม็พของท่านผู้นำเคลื่อนเพราะมันหมายถึงความเชื่อมั่นของต่างชาติที่ท่านได้ไปประกาศเป็นสัญญาประชาคม (โลก) ไว้

Back to top button