พาราสาวะถี อรชุน
หลายคนคงอดจั๊กจี้แทน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้ เมื่อมีคนประกาศ “ขอเลียคนดี” โดยไม่ยี่หระต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ นี่กระมังที่มักจะมีคำเตือนคนใหญ่คนโตอยู่ตลอดเวลา ในยามที่มีอำนาจระวังบริวารจะเป็นภัย ในกรณีนี้อาจไม่ถึงขั้นเป็นลูกน้อง หากแต่คนที่เลียขอทำตัวเป็นลูกไล่เชียร์ผู้นำรัฐประหาร แน่นอนว่า เสนอหน้ากันขนาดนี้ถ้าบอกว่าไม่หวังตำแหน่งใดๆ คงไม่มีใครเชื่อ
หลายคนคงอดจั๊กจี้แทน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้ เมื่อมีคนประกาศ “ขอเลียคนดี” โดยไม่ยี่หระต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ นี่กระมังที่มักจะมีคำเตือนคนใหญ่คนโตอยู่ตลอดเวลา ในยามที่มีอำนาจระวังบริวารจะเป็นภัย ในกรณีนี้อาจไม่ถึงขั้นเป็นลูกน้อง หากแต่คนที่เลียขอทำตัวเป็นลูกไล่เชียร์ผู้นำรัฐประหาร แน่นอนว่า เสนอหน้ากันขนาดนี้ถ้าบอกว่าไม่หวังตำแหน่งใดๆ คงไม่มีใครเชื่อ
ห้วงเวลาที่เหลือก่อนจะจัดการเลือกตั้งตามโรดแม็พ จึงมีเสียงกระซิบเตือนบิ๊กตู่ ระวังพวกสอพลอเหล่านี้ให้ดี หากไม่มีบัญชาหรือสั่งการใดๆ ไปให้ต้องปฏิบัติการณ์ต้องรีบออกมาปฏิเสธ มิเช่นนั้น จะถูกมองว่าบรรดาข้อเสนอทั้งหลายแหล่ที่ฟุ้งกระจายอยู่ในเวลานี้ คนจะเชื่อว่าน่าจะได้รับไฟเขียวมาแล้วจากผู้มีอำนาจ มิเช่นนั้น คงไม่ระห่ำกันถึงเพียงนี้
เป็นไปตามที่คาด ในจังหวะที่ท่านผู้นำไม่อยู่ เรื่องของข่าวสารจากฟากฝั่งรัฐบาลจะไม่มีอะไรหวือหวา เป็นจังหวะเวลาของพวกเชลียร์ทั้งหลายที่จะพากันช่วงชิงให้ข่าว เสนอความเห็นกันสนุกสนาน แต่ที่สะเทือนใจกันสุดๆ คงเป็นเหตุระเบิดที่โรงเรียนตาบา อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ที่ทำให้เด็กน้อยวัย 4 ขวบพร้อมพ่อต้องมาจบชีวิตลง
คงไม่ต้องเรียกร้องใดๆ ทำได้คือประณามพวกลงมือนี่คือวิธีการของพวกที่ไม่ใช่คน ลงมือฆ่าได้แม้กระทั่งเด็กตาดำๆ ไม่ต้องไปเรียกร้องถามหาความชอบธรรมที่ไหน ฝ่ายผู้ดูแลสถานการณ์ในพื้นที่นั่นแหละ ที่จะต้องเร่งดำเนินการไล่ล่าหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีให้ได้ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจอันดีให้กับทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน
ยืนยันจาก พลตำรวจเอกศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ว่าเหตุระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้เกี่ยวพันกับกลุ่มเคลื่อนไหวสร้างสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้ ตรงนี้ต้องเคลียร์กันให้ชัด การขยายพื้นที่ก่อเหตุเพื่อต้องการแสดงถึงศักยภาพ ข่มขู่หรือต่อรองเรื่องอะไร กระบวนการพูดคุยสันติสุขที่ดำเนินการอยู่นั้นมันมีผลดีต่อสถานการณ์ในพื้นที่มากน้อยขนาดไหน
น่าเสียดายอยู่อย่างหนึ่ง หากเป็นในยามปกติป่านนี้ส.ส.ที่อยู่ในพื้นที่คงตั้งกระทู้ถามไปยังรัฐบาลผ่านการประชุมสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วว่า ทำไมช่วงนี้จึงเกิดเหตุถี่ยิบ แต่นี่เป็นสมาชิกสนช.ไม่เห็นมีใครแสดงความรู้สึกกังวลต่อเหตุการณ์ จนถึงขั้นต้องให้ตัวแทนรัฐบาลไปตอบคำถาม ผิดกับช่วงก่อนทำประชามติ ที่จู่ๆ ก็มีกระทู้ถามรัฐบาลเรื่องความคืบหน้าของการเรียกค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวจาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
เมื่อตัดภาพมาในลักษณะนี้ จึงมีคำถามเกิดขึ้นทันที สมาชิกสนช.ซึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนทั้งส.ส.และส.ว. ทำได้แค่เพียงเป็นเครื่องมือหรือตรายางที่คอยประทับ คอยยกมือหนุนเรื่องที่รัฐบาลร้องขอมาเพียงอย่างเดียวอย่างนั้นหรือ การนิ่งเงียบเท่ากับการไม่แยแสต่อชีวิตที่สูญเสียไปของผู้บริสุทธิ์และเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนใต้
น่าเห็นใจและเข้าใจความรู้สึกของ พันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ตั้งคำถามไปถึงบรรดาเอ็นจีโอหรือนักวิชาการทั้งหลายแหล่ ที่คอยเรียกร้องถามหาความยุติธรรมให้กับผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีในพื้นที่ปลายด้ามขวาน แต่กับเหตุการณ์เด็ก 4 ขวบตายและหลายๆ เหตุการณ์ก่อนหน้า ไม่เห็นมีใครหน้าไหนออกมาเรียกร้องความชอบธรรมให้แม้แต่นิดเดียว
นี่คือความรู้สึกของคนที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่นอกเหนือจากต้องเสี่ยงชีวิตแล้ว ยังต้องมาแบกรับความกดดันจากบรรดานักสิทธิมนุษยชนทั้งหลายแหล่ แต่ก็อีกนั่นแหละ ในบางเรื่องมันมีช่องว่างและการกระทำบางอย่างที่สะท้อนถึงการดำเนินการที่ไม่โปร่งใส มีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผู้มีอำนาจกำกับดูแลต้องชี้แจงแถลงไขให้สาธารณชนสิ้นสงสัย
หลังจากส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองไปให้กรธ.แล้ว มีเสียงตามมาจากกกต.ว่าอยากให้พรรคการเมืองช่วยไปเสนอความเห็นต่อกรธ.ด้วย เป็นเหตุให้ ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ต้องออกมาดักคอ กระบวนการดังว่าเป็นแค่พิธีกรรมหรือรับฟังอย่างจริงจังแล้วนำไปสู่การแก้ไข
บทเรียนที่เห็นได้อย่างเด่นชัดคือการร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา แต่ละพรรคการเมืองต่างส่งข้อเสนอกันไปเป็นกระบุงโกย แต่สุดท้ายก็ไร้การตอบสนอง ในที่สุดทุกอย่างก็ถูกร่างให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้มีอำนาจ ในทำนองอยากทำอะไรก็ทำ เมื่อเป็นเสียอย่างนี้การที่จะให้นักการเมืองและพรรคการเมืองเข้าไปมีส่วนร่วมจึงต้องคิดกันให้มากหน่อย
โดยรักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เสนอว่า หากอยากฟังความเห็นและนำไปใช้จริง ควรจัดเวทีอภิปรายฟังความเห็นทุกฝ่ายและให้อภิปรายกันจริงจัง ไม่ใช่แค่เป็นพิธีกรรมเพื่อแสดงให้เห็นว่ารับฟังแล้วก็จบเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งถ้าติดตามการให้สัมภาษณ์และความเห็นของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ผ่านมาน่าจะเป็นไปได้ยาก โดยมักจะอ้างเรื่องของงบประมาณและการหวาดระแวงเรื่องความเห็นต่างและการทะเลาะเบาะแว้ง
ตรงนี้พอจะเข้าใจ ในเมื่ออีกหนึ่งสถานะของมีชัยคือสมาชิกคสช. ย่อมกังวลเรื่องความมั่นคง แต่ต้องถามย้อนกลับไปนับตั้งแต่รัฐประหารมาจนถึงวันนี้ หากไม่นับรวมการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา ถามว่ามีการรวมตัวชุมนุมของฝ่ายต่อต้านคณะรัฐประหารกลุ่มใหญ่เกิดขึ้นหรือไม่ เมื่อไม่มีย่อมใช้เป็นตรรกะเบื้องต้นได้ว่า ทุกคนทุกฝ่ายพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับองคาพยพแม่น้ำ 5 สาย เพื่อไม่ประเทศเดินหน้าต่อไปได้
ใครที่ลุ้นว่าการจัดการเลือกตั้งในปีหน้าจะออกมารูปแบบใด คงไม่ต้องไปคาดเดาสารพัด เพราะ วิษณุ เครืองาม ยืนยันมาชัดชนิดที่ว่า“เชื่อผมเถอะ” สุดท้ายจะจบแบบ 3 โมเดลที่คือ ให้กกต.เป็นคนจัดอำนวยการตั้งแต่ต้นจนจบ ให้กกต.เป็นคนจัดวางระเบียบหรือเรกูเลเตอร์ คือเป็นผู้แจกใบเหลือง ใบแดง ส่วนเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ หรือโอเปอเรเตอร์ ให้ใช้เจ้าหน้าที่ของฝ่ายบริหารปกติ
อีกทางคือ ให้องค์กรอื่นเข้ามาจัดการ หากมีองค์กรอื่นเข้ามาช่วย ไม่ต้องไปนึกว่าเป็นกระทรวงมหาดไทย แต่หากสมมุติว่าจะเอามาก็ได้ อาจจะเป็นครู แพทย์ พยาบาล หรือผู้สื่อข่าวก็ได้ทั้งนั้น มันมาสะดุดตรงทางเลือกสุดท้ายนี่แหละ ซึ่งมันคล้ายๆ กับข้อเสนอของสปท. ดังนั้น ที่ว่ากันว่ากรธ.ไม่น่าจะรับลูกเรื่องที่มันจะพาประเทศถอยหลังก็อาจไม่แน่ ต้องไม่ลืมว่าขนาดร่างรัฐธรรมนูญยังย้อนยุคตกคลองกันมาแล้ว