พาราสาวะถี อรชุน

เป็นเดือดเป็นแค้นขึ้นมาทันที หลังถูกวิจารณ์ว่ากกต.ถือวิสาสะอะไร มาเสนอให้พรรคการเมืองต้องส่งนโยบายให้อนุมัติก่อนนำไปหาเสียง สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง จึงโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค ตอบโต้คนที่กล่าวหาอย่างถึงพริกถึงขิง ด้วยการบอกว่า เอาอีกามาคาบกิ่งใบมะกอก ก็ไม่มีใครเชื่อว่าเป็นนกพิราบ


เป็นเดือดเป็นแค้นขึ้นมาทันที หลังถูกวิจารณ์ว่ากกต.ถือวิสาสะอะไร มาเสนอให้พรรคการเมืองต้องส่งนโยบายให้อนุมัติก่อนนำไปหาเสียง สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง จึงโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค ตอบโต้คนที่กล่าวหาอย่างถึงพริกถึงขิง ด้วยการบอกว่า เอาอีกามาคาบกิ่งใบมะกอก ก็ไม่มีใครเชื่อว่าเป็นนกพิราบ

เมื่ออยากเป็นสื่อควรลงลึกข้อเท็จจริง ก่อนที่จะชี้นิ้วว่าใครไปทั่ว หลักการการเสนอนโยบายของพรรคการเมืองพร้อมการวิเคราะห์ ที่มางบประมาณ ระยะเวลาในการดำเนินการ ประโยชน์ ความคุ้มค่า ผลกระทบและความเสี่ยงต่อกกต. เพื่อให้กกต.นำไปประกาศต่อสาธารณะ ไม่ใช่เพื่ออนุมัติ แต่เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมกันตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์

ก่อนที่จะทิ้งทวนว่า เหตุผลที่ยกเรื่องนี้มาเขียนไว้ในกฎหมายลูกเกี่ยวกับพรรคการเมือง เพื่อไม่ให้ประชาชนถูกฝ่ายการเมืองหลอกโดยเสนอนโยบายที่เป็นไปไม่ได้ หรือเป็นนโยบายนำไปสู่การสร้างหายนะทางเศรษฐกิจแก่ประเทศในอนาคตอีก ก่อนที่จะไปพูดถึงประเด็นหลังนี้ คงต้องบอกก่อนว่าคนที่ถูกสมชัยด่ากราดนั่นก็คือ “คุณปลื้ม” หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้ดำเนินการรายทางช่องวอยซ์ ทีวี นั่นเอง

สิ่งที่เป็นคำถามถามไปยังสมชัยและกกต. กรณีที่บอกว่าเพื่อไม่ให้พรรคการเมืองเสนอนโยบายที่เป็นไปไม่ได้และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศ อยากให้ช่วยยกตัวอย่างมาบ้างว่า ที่ผ่านมามีอะไรที่สร้างความเสียหายบ้าง ถ้าจะบอกว่ากรณีรับจำนำข้าวก็ต้องอธิบายว่า เสียหายอย่างไร ชาวนาไม่ได้รับประโยชน์ และรัฐเสียหายหนักหน่วงเลยใช่หรือไม่

หากเสียหายมากมายมหาศาลขนาดนั้น ทำไมจนป่านนี้จึงยังไม่มีข้อสรุปเรื่องการเรียกค่าเสียหายจาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และบุคคลที่เกี่ยวข้อง จนคนที่ร้อนรนและออกอาการสุดๆ กลายเป็น วรงค์ เดชกิจวิกรม ที่กลับคำพูดแค่ข้ามวัน จากชม อภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หลังไม่รู้ไปรับข้อมูลเรื่องเรียกค่าเสียหายมาจากไหน ทำท่าว่าจะเป็นการถูกหลอก จึงรีบแก้เกี้ยวด้วยการให้ใช้มาตรา 44 ปลดรัฐมนตรีทันที

ด้วยเหตุผลว่า ไม่ยอมเซ็นคำสั่งเรียกค่าเสียหายเสียที ก่อนที่จะตีกันอาการหน้าแหกของตัวเอง ด้วยการอ้างความเป็นห่วงเรื่องราคาสินค้าเกษตรตัวอื่นกำลังมีปัญหาอยู่ในเวลานี้ นี่แหละ พฤติกรรมของนักการเมืองที่สร้างความขัดแย้งแตกแยก แทนที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะใช้มาตรา 44 จัดการรัฐมนตรีพาณิชย์ น่าจะใช้กับนักการเมืองจำพวกนี้ก่อนเป็นอันดับแรก

ย้อนกลับมาที่ปมสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจจากนโยบายของพรรคการเมืองตามคำกล่าวอ้างของสมชัย ยังจำกันได้หรือไม่ สุพจน์ ไข่มุกด์ ในวันที่ปฏิบัติหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาเรื่องเงินกู้ 2 ล้านล้านของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เพื่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ค้านหัวชนฝาและแสดงอาการไดโนเสาร์ให้คนได้ประจักษ์ไปทั้งประเทศ ด้วยการประกาศลั่นให้ถนนลูกรังหมดไปจากประเทศไทยก่อนค่อยสร้าง

มาวันนี้คนที่พูดยังมีตำแหน่งแห่งหนโดยนั่งเป็นรองประธานกรธ.คนที่ 1 ซึ่งก็ได้ดีจากการแต่งตั้งของคสช. เมื่อรัฐบาลคสช.ประกาศเดินหน้าสร้างรถไฟความเร็วสูงและพบว่ามีราคาแพงกว่าในยุคของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เสียด้วยซ้ำ ทำไมคนอย่างสุพจน์หากมีจุดยืนที่แท้จริงไม่ออกมาแสดงการคัดค้านอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู

นี่คือบทพิสูจน์ว่า การจะตีความว่านโยบายใดสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจนั้น จะใช้ใครมาดำเนินการ ลำพังกกต.ถามว่ามีความรู้ความสามารถถึงขั้นที่จะวิเคราะห์แล้วสรุปว่านโยบายของแต่ละพรรคการเมือง เรื่องไหนเรื่องใดใช้ไม่ได้อย่างนั้นหรือ ขนาดองค์กรอิสระที่จะต้องพิจารณาแค่เรื่องเดียวยังแสดงทัศนคติที่เต็มไปด้วยอคติตัดสินเรื่องสำคัญดังว่ามาแล้ว

การอ้างว่าเป็นการนำไปเสนอต่อสาธารณะเพื่อให้ประชาชนได้วิจารณ์ ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะปัญหาที่จะตามมาคือ แล้วกกต.จะฟังเสียงของประชาชนฝ่ายไหนและใช้อะไรเป็นบรรทัดฐาน จะใช้หลักการเหมือนอย่างที่นักวิชาการบางคนใช้ตรรกะวิบัติ เปรียบเทียบคะแนนเสียงของคนต่างจังหวัดกับคนกรุงเทพฯมีคุณค่าต่างกันหรือเปล่า

ไม่ว่ามองในมุมไหน ยังมองไม่เห็นว่า กกต.ที่ทำตัวไม่อยากจัดการเลือกตั้ง จะมีหลักเกณฑ์อะไรมาชี้วัด การไร้ความน่าเชื่อถือจากการจัดการเลือกตั้งเมื่อ 2 กุมภาพันธุ์ 2557 จนมาถึงการตีความข้อห้ามในกฎหมายประชามติที่จนป่านนี้คนยังสงสัยกันทั้งเมืองว่าสรุปแล้วอะไรที่ทำได้และไม่ได้ จึงเชื่อเลยว่าสิ่งที่เสนอไปในกฎหมายพรรคการเมืองนั้น ทางกรธ.คงต้องพิจารณากันให้รอบคอบเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม มีคนเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวของกกต.นั่นก็คือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุว่า การให้พรรคการเมืองมีรายละเอียดของนโยบายที่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณที่จะใช้ดำเนินนโยบายเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่กกต.ไม่ควรอยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้วินิจฉัยได้ หลักการแน่นแต่ประสาพรรคเก่าแก่ พอถึงเวลาจริงหากมีเสียงค้านมากกว่าหนุนก็จะต้องหาทางกลับลำกันอีกรอบ

แต่ที่ต้องขีดเส้นใต้กันคือ ความเห็นในฐานะคนที่พาลูกพรรคบอยคอตเลือกตั้งถึงสองครั้งสองหน แต่กรณีข้อเสนอห้ามพรรคการเมืองบอยคอตการเลือกตั้ง ไม่เช่นนั้นจะสิ้นสภาพพรรคการเมือง โดยที่อภิสิทธิ์ออกตัวว่า พรรคการเมืองมีสิทธิ์พิจารณาว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ โดยไม่ควรถือว่าเป็นความผิด แต่พรรคการเมืองนั้นต้องไม่ขัดขวางการเลือกตั้งด้วย

พูดได้ดีมาก แต่หากความจำไม่สั้นคงต้องกลับไปดูการเลือกตั้งเมื่อปี 2557 ถามว่าใครที่ขัดขวางการเลือกตั้ง อาจจะอ้างได้ว่าแกนนำกปปส.ไม่ใช่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์แล้วและแนวร่วมม็อบก็ไม่ใช่คนของพรรคเก่าแก่ ถ้าเชื่อตามนั้นแล้วสบายใจก็เชิญ ทว่าอย่าคิดว่าคนไทยส่วนใหญ่กินหญ้า การเล่นเกมการเมืองแบบตีสองหน้าถ้ายังไม่เลิก ก็อย่าหวังว่าจะมีโอกาสชนะเลือกตั้งและเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลอย่างสง่างาม

เก็บตกผลการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับนายผล ไม่มีอะไรพลิกโผในตำแหน่งผบ.ทบ. แต่ที่หลายคนอดสงสัยไม่ได้คือการที่น้องชาย 2 คนของ พลเอกธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ.คนปัจจุบันคือ พลโทปิยวัฒน์ นาควานิช ได้เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 และพันเอกวุฒิชัย นาควานิช เป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9 เป็นเรื่องของความรู้ความสามารถหรือปูนบำเหน็จกันโดยสายเลือดกันแน่ ถ้าเป็นอย่างหลังก็ยังแสดงให้เห็นว่า กระบวนการแต่งตั้งในกองทัพยังไม่ได้รับการปฏิรูป ซึ่งบิ๊กตู่ควรจะปฏิรูปเรื่องแบบนี้เป็นอันดับแรก

Back to top button