บัญชีมาร์จิ้นพลวัต 2016

วันพฤหัสบดีหลังปิดตลาดนักวิเคราะห์หลายสำนักบอกว่าได้เวลาของการซื้อรอบใหม่เพราะเข้าเขตขายมากเกินแล้วแต่พอถึงวันศุกร์ก็มีแรงเทขายออกมาอีกทำให้ดัชนีลบแรงต่อไปอีกแม้ว่าต่างชาติยังซื้อต่อเนื่องเกือบทุกวัน


วิษณุ โชลิตกุล

 

วันพฤหัสบดีหลังปิดตลาดนักวิเคราะห์หลายสำนักบอกว่าได้เวลาของการซื้อรอบใหม่เพราะเข้าเขตขายมากเกินแล้วแต่พอถึงวันศุกร์ก็มีแรงเทขายออกมาอีกทำให้ดัชนีลบแรงต่อไปอีกแม้ว่าต่างชาติยังซื้อต่อเนื่องเกือบทุกวัน 

คำอธิบายเพิ่มเติมหลังจากนั้นคือการไหลลงเสมือนไร้แนวรับของดัชนีตลาดเมื่อวันศุกร์มาจากเรื่องของมาร์จิ้นคอลล์ที่นักลงทุนซึ่งซื้อขายบัญชีมาร์จิ้นจำต้องปรับพอร์ตเพื่อหลบเลี่ยงการลดลงของพอร์ตลงทุนที่หดตัวลงเพราะราคาหุ้นร่วงหนัก

ผู้บริหารหลายบริษัทขายหุ้นตัวเองที่ถือไว้โดยอ้างเรื่องปรับพอร์ตอย่างสั้นๆแต่เบื้องลึกที่รู้กันคือต้องขายก่อนที่หุ้นบางตัวจะถูกฟอร์ซเซลในระยะต่อไปเนื่องจากไม่ต้องการเติมเงินหน้าตักใหม่

การร่วงลงอย่างหนักเมื่อวันศุกร์ของดัชนีดาวโจนส์ในสภาพที่เรียกว่า Black Friday 2016 มากถึง 394 จุดทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกได้รับผลสะเทือนที่รุนแรงจากภูมิทัศน์ใหม่เนื่องจากฟันด์โฟลว์ที่เคยไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย (รวมทั้งไทย) จะถอนตัวออกจากตลาดดังกล่าวเพื่อกลับไปคว้าโอกาสทำกำไรในตลาดหุ้นอื่นๆ ที่ดีกว่า

ตลาดหุ้นไทยในรอบ 2 เดือนเศษที่ผ่านมาได้รับอานิสงส์จากเงินทุนเก็งกำไรไหลเข้าหรือฟันด์โฟลว์มากกว่า1.1 แสนล้านบาทเพียงเพราะผลประกอบการไตรมาสสองของบริษัทจดทะเบียนดีกว่าคาดเล็กน้อยในขณะที่เศรษฐกิจในภาพรวมยังย่ำแย่ต่อเนื่องจนนักลงทุนคล้อยตามนักวิเคราะห์ “ขาเชียร์แขก” ที่พากันบอกว่าดัชนีจะพุ่งขึ้นไปเหนือ 1,600 จุดในปีนี้ทั้งที่ค่าพี/อีตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับสูงหัวแถวของโลกบนพื้นฐานที่เปราะบาง

การร่วงลงของดัชนีภายใน 7 วันทำการมากถึง 100 จุดและคาดว่าอาจจะมากกว่า 150 จุด (ในเงื่อนไขว่าทุนต่างชาติถอนตัวแรงเกิดฟันด์โฟลว์ไหลออก) จะเป็นตัวเร่งให้กระแสมาร์จิ้นคอลล์และฟอร์ซเซลร้อนระอุมากขึ้น

ผลพวงที่ตามมาย่อมหนีไม่พ้นการไหลลงแรงของราคาหุ้นและดัชนีตลาดที่ผิดปกติโดยไม่แยแสกับสัญญาณทางเทคนิคมากนัก

บัญชี มาร์จิ้น หรือชื่อทางการว่า บัญชีเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ คือการเปิด “หน้าต่างแห่งโอกาส” ให้นักลงทุนได้ซื้อขายหุ้นเกินวงเงินหน้าตักจริงของตัวเอง แม้ว่าจะไม่สามารถทำได้ทุกคนหรือทุกบัญชีซื้อขาย (เช่น บัญชี TFEX หรือบัญชีอินเทอร์เน็ตเทรดดิ้ง หรือบัญชีลูกค้าเปิดใหม่) โดยหุ้นที่ซื้อขายตามบัญชีมาร์จิ้นจะต้องถือเป็นหุ้นที่จำนำไว้กับโบรกเกอร์ ซึ่งมีต้นทุนสำคัญคือดอกเบี้ยเงินกู้นั่นเอง

ในยามปกติหรือขาขึ้น บัญชีเป็นเรื่องวิน-วินทุกฝ่าย ด้านของโบรกเกอร์ก็สามารถเรียกเพิ่มความภักดีและสร้างรายได้ทั้งจากค่าคอมมิสชั่นซื้อ ขายและดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ยึดลูกค้าขาใหญ่ในกำมือ ส่วนนักลงทุนมีช่องสบโอกาสเพิ่มปริมาณซื้อขายและกำไรมากกว่าจริง

ไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจนในภาพรวมว่า มูลค่าซื้อขายด้วยบัญชีมาร์จิ้นที่เป็นจริงและทางการในตลาดหุ้นไทยล่าสุด อยู่ที่เท่าใด เป็นสัดส่วนเท่าใดแน่ ทำให้ยากประเมินว่าคุณูปการของบัญชีมาร์จิ้นมีอิทธิพลเข้มข้นแค่ไหนต่อการ ซื้อขายรวมของตลาด

ส่วน ผู้บริหารตลาดที่แม้จะไม่มีส่วนได้เสียผลประโยชน์โดยตรง ก็สามารถหลิ่วตาข้างหนึ่งปล่อยให้อุปสงค์เทียม-อุปทานเทียม ดังกล่าวเกิดขึ้นเรื่อยๆ เพราะสามารถหยิบมาอ้างได้ว่า มูลค่าซื้อขายของตลาดคึกคักมากกว่าปกติ ได้หน้าจากการออกมาแย่งซีนว่า ตลาดหุ้นไทยมีเสน่ห์มากกว่าใครในภูมิภาค เพราะผลงานของพวกเขา (ความจริงรู้ๆอยู่ แต่เลือกไม่พูดซะงั้น) เพียงแต่ต้องคอยระวังในกรณีหุ้นที่ร้อนแรงบางรายการที่ต้องงัดเอามาตรการ ห้ามซื้อขายด้วยบัญชีมาร์จิ้น

ยามปกติที่แมงเม่าพากันหลงระเริงกับไฟแสนสวยหลากสีสัน นักเล่นหุ้นด้วยบัญชีมาร์จิ้น มักจะหลงลืมไปว่าการลงทุนด้วยระบบมาร์จิ้นมีความซับซ้อนที่ต้องระวังอยู่ในวง เงินกู้ที่คุณใช้ลงทุนอยู่นั้นสามารถเพิ่มขึ้นหรือลดลงตลอดเวลาและอาจรวดเร็วรุนแรงตามสภาพการณ์ของตลาดฯ และของตัวหุ้นที่นักลงทุนถือด้วยระบบมาร์จิ้นอยู่

ในยามตลาดขาลง กระบวนทัศน์ในยามปกติต่อบัญชีมาร์จิ้นจะแปรเปลี่ยนไป เสมือนหน้ามือกับหลังเท้า เนื่องจากเงื่อนไขของบัญชีมาร์จิ้นในด้านลบจำต้องถูกนำมาใช้อย่างเคร่งคัด ตามกฎของการเอาตัวรอด แบบตัวใครตัวมัน ด้วยเหตุผลสวยหรู เพื่อให้ Maintenance Margin อยู่ในเกณฑ์ตามกำหนด

หน้าต่างแห่งโอกาส ที่หลายคนเชื่อด้วยมายาคติว่า เป็นวิมานในอากาศ จึงกลายสภาพเป็นประตูสู่นรกภูมิได้อย่างแค่พลิกฝ่ามือ

โบรกเกอร์ ที่เป็นนักบุญจะถูกกฎว่าด้วยมาร์จิ้นคอลล์ จำต้องแปลงร่างเป็นนักทวงหนี้แล้งน้ำใจทันที อ้างระเบียบสารพัด เรียกนักลงทุนในบัญชีนี้ เติมเงินหน้าตัก (ทั้งในรูปเงินสดหรือทรัพย์สินอื่นมาวางประกัน) เมื่อพอร์ตลด เกิน 5% หรือ ร้ายสุดก็ฟอร์ซเซล จับของเราขายเลย ถ้ายังไม่พอหน้าตัก ต้องเพิ่มเงินบวกดอกเบี้ยอีก

สำหรับนักลงทุน มาร์จิ้นคอลล์ คือความเจ็บปวด เพราะแม้ในทางทฤษฎี สามารถมองทางบวกว่าเป็นการป้องกันไม่ให้นักลงทุนติดหนี้โบรกเกอร์มากเกินไป ถือเป็นมาตรการป้องกันตนเองแบบหนึ่งแต่อย่างที่ทราบกันดีว่าความผันผวนของตลาด ทำให้เป็นเรื่องยากลำบากมากในการตัดสินใจ เพราะ ราคาหุ้นมีขึ้นมีลงบางครั้งตัดใจขายหุ้นที่ถูกคอลล์ทิ้งไป แต่อีก 10 นาทีถัดมา ราคากลับพลิกเป็นขาขึ้น ก็เป็นการ “ขายหมู” ทันที

สถานการณ์ อันร้อนแรงของ มาร์จิ้นคอลล์หรือฟอร์ซเซล นับจากวันนี้ไป น่าจะอธิบายรากเหง้าของการที่ราคาหุ้น หรือดัชนีของตลาด ถูกเงื่อนบังคับให้ไหลลงแบบไซด์เวย์ดาวน์ โดยมีบางวันรีบาวด์ทางเทคนิคแบบ “แมวตายเด้ง” โดยที่หาคำตอบได้ยากว่าก้นเหวของแนวรับจะอยู่ที่จุดไหน

จนกว่าแรงขายจะหมดหรือเกือบหมด ซึ่งยากจะบอกว่าเมื่อใด

ผู้ช่ำชองกับตลาดหุ้นหลายคน กระซิบถึง คำพูดเก่าแก่ของนาธาน ร็อธไชลด์ที่ว่า “ให้ซื้อเมื่อเลือดนองพื้นถนน” นั้น ไม่ได้หมายความรวมถึงเลือดของนักลงทุนบัญชีมาร์จิ้น แต่อย่างใด

 

 

Back to top button