VGI แผนเพิ่มทุนที่ไม่บังเอิญ

ข่าวบริษัทวีจีไอโกลบอลมีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ VGI ยักษ์ใหญ่โฆษณากลางแจ้งอันดับหนึ่งของไทยประกาศลดทุนและเพิ่มทุนอีกครั้งเพื่อขายพีพี.ให้ใครก็ไม่ทราบไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะเป็นการแต่งตัวใหม่เพื่อจัดพอร์ตภายในให้ลงตัวแม้จะไม่บอกกันตรงๆ ให้เสียความรู้สึกแต่ก็ไม่เหลือเกินจะคาดเดาได้


แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

 

ข่าวบริษัทวีจีไอโกลบอลมีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ VGI ยักษ์ใหญ่โฆษณากลางแจ้งอันดับหนึ่งของไทยประกาศลดทุนและเพิ่มทุนอีกครั้งเพื่อขายพีพี.ให้ใครก็ไม่ทราบไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะเป็นการแต่งตัวใหม่เพื่อจัดพอร์ตภายในให้ลงตัวแม้จะไม่บอกกันตรงๆ ให้เสียความรู้สึกแต่ก็ไม่เหลือเกินจะคาดเดาได้

เพียงแต่การเพิ่มทุนใหม่ที่มากถึง 3.9% ไม่มีนัยสำคัญอะไรเลย

นักวิเคราะห์บางสำนักประเมินว่าการเพิ่มทุนเพื่อขายหุ้นแบบพีพีนี้ท้ายสุดคนซื้อหนีไม่พ้นกลุ่มบีทีเอสนั่นเองเพราะเป็นการต่างตอบแทนเนื่องจาก VGI มีหนี้กับ BTS อยู่ในตอนที่ซื้อบริษัทแรบบิททำธุรกิจไมโครเปย์เมนท์จากบีทีเอสเมื่อเร็วๆนี้โดยให้เหตุผลว่าไม่ต้องก่อหนี้เพิ่มทำให้ค่าดี/อีต่ำลง

ฟังเผินๆน่าเชื่อถือพิลึกแต่อ่านงบการเงินของ VGI แล้วเหตุผลไม่เข้าท่าเลย 

ย้อนดูรายละเอียดก่อน

วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายนที่ประชุมคณะกรรมการ VGI มีมติให้ลดทุนจดทะเบียนจำนวน 2,730 บาทจาก 857,993,253 บาทเป็น 857,990,523 บาทด้วยการตัดหุ้นที่ยังไม่ได้ออกจำหน่ายจำนวน 27,300 หุ้นราคาพาร์ 0.10 บาทจากนั้นให้เพิ่มทุนจดทะเบียนแบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate) เป็น 891,990,523 บาทด้วยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 340,000,000 หุ้นเพื่อจัดสรรเสนอขายแก่บุคคลในวงจำกัด (PP) ซึ่งจะต้องเป็นราคาที่ดีที่สุดตามสภาวะตลาดในช่วงที่เสนอขายหุ้นแต่อาจมีส่วนลดไม่เกิน 10% ของราคาตลาด

มติดังกล่าวเปิดกว้างให้อำนาจตัวแทนบริษัทไปขายในเวลาและช่วงราคาที่ต้องการได้

VGI ขับเคลื่อนทางยุทธศาสตร์ของธุรกิจเมื่อเร็วๆ นี้ด้วยการเข้าซื้อกิจการของเครือบีทีเอส นับแต่ ซื้อหุ้น 90% ในบริษัทบางกอกสมาร์ทการ์ดซิสเทมจำกัดหรือ BSS และ 90% ในบริษัทบีเอสเอสโฮลดิ้งส์จำกัดหรือ BSSH โดยจะใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,956 ล้านบาทเพื่อจัดพอร์ตใหม่ เปิดทางเข้าสู่ 1) ธุรกิจเงินอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งให้บริการบัตรแรบบิทเครื่องมือในการชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS และเครือข่ายร้านค้าชั้นนำทั่วประเทศ 2)ธุรกิจ e-wallet ผ่านการให้บริการ Rabbit LINE Pay และต่อยอดไปใช้ในการชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสในอนาคตด้วยระบบออนไลน์และจะสามารถใช้ในเครือข่ายร้านค้าชั้นนำทั่วประเทศในเครือข่ายของ Rabbit Card ได้ด้วยในอนาคตอันใกล้นี้และ 3) ธุรกิจออนไลน์อื่นๆผ่านแรบบิทอินเตอร์เน็ตซึ่งเป็นเจ้าของเว็บไซต์คอนเทนต์แรบบิทเดลี่ (Rabbit Daily) และเป็นผู้ให้บริการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ทางการเงินออนไลน์ชั้นนำภายใต้ชื่อแรบบิทไฟแนนซ์ (Rabbit Finance) ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจาก ASK Hanuman เดิม

การเข้าซื้อธุรกิจไมโครเปย์เมนท์ดังกล่าวเป็นการต่อยอดเร่งการเติบโตจากการดำเนินงานของบริษัท หลังจากที่การเข้าซื้อกิจการของธุรกิจสื่อทำนองเดียวกันก่อนหน้านับแต่ MACO, เพิ่มสัดส่วนใน Aero Media และเข้าซื้อ Multi Sign ผ่าน MACO ด้วยวงเงินเกือบ 3,000 ล้านบาทในปีนี้ ผลิดอกออกผลต่ำกว่าคาด

ไตรมาสที่ผ่านมา VGI ประกาศตัวเลขกำไรสุทธิที่สวยงาม แต่โดยข้อเท็จจริงเป็นแค่ “มายาของตัวเลข” เนื่องจากกำไรปกติลดลงแต่มีกำไรพิเศษมาแทนที่…..ร้ายกว่านั้นกำไรรวมของ VGI ต่ำกว่าคาด เพราะนักวิเคราะห์เคยประเมินว่ากำไรจากการดำเนินงานจะโต 36% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนและโต 54% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแต่ปรากฏว่าออกมาจริงเทียบกับปีก่อนโตแค่ 5% และติดลบ 6% เทียบไตรมาสก่อนหน้า

กำไรปกติจากการดำเนินงานที่ย่ำแย่ เพราะ 2 ปัจจัยหลักคือ 1) การโฆษณาบนรถไฟฟ้า (78% ของรายได้) อยู่ที่ 429 ล้านบาท ติดลบ  2) รายได้จากการโฆษณาภายในอาคารอยู่ที่ 121 ล้านบาทแม้ดีมากเพราะบวก 16% จากการขยายฐานสื่อโฆษณาไปยังสื่อโฆษณากลางแจ้งผ่านการลงทุนเพิ่มเติม 12.46% แต่ยังไม่สามารถชดเชยหรือขึ้นมาเป็นรายได้หลักได้ดีพอ 

การจ่ายเงินซื้อกิจการด้วยการกู้เงินจากบีทีเอสโฮลดิ้งส์ซึ่งเป็นผู้ขายออกมามีลักษณะ “เอาอัฐยายซื้อขนมยาย” ธรรมดาเพราะความจริงแล้ว…..ไม่จำเป็นเลย

ฐานะการเงินของ VGI ล่าสุดมีค่าดี/อีต่ำมากเพียงแค่ 0.6 เท่าสามารถก่อหนี้ได้สบายๆ อีกหลายพันล้านโดยไม่มีความเสี่ยงทางการเงินแม้แต่น้อยเพราะยังมีกำไรสูงและมีส่วนผู้ถือหุ้นเหลือเฟือ

ปัญหาของ VGI ไม่ใช่เรื่องการเงินเพราะมีเงินสดและกำไรสะสมเหลือเฟือแต่อยู่ที่ว่ากำไรจะโตอย่างไรนอกเส้นทาง “ในอวย” อย่างบีทีเอส

ทุกวันนี้ กำไรจากการดำเนินงานของVGI ถดถอยลงเพื่อต้องพึ่งพารายได้จาก สื่อโฆษณาบนบีทีเอส ที่ยังเป็นสัดส่วนของรายได้ทั้งหมดอยู่ที่ 78%

รายได้หลักลดรายได้ใหม่เพิ่มเป็นปัญหาที่ไม่น่าปวดหัวเอาเสียเลย

ข้ออ้างของ VGI ว่าจะเพิ่มทุนเพื่อไม่ให้ดี/อีเพิ่มอาจจะฟังแล้วดูดีแต่ไม่ตรงประเด็น 

คำโฆษณาชวนเชื่อทางการตลาดที่ว่าเพื่อขยายกิจการของบริษัทในอนาคตอย่างต่อเนื่อง เช่นการเข้าสู่ฐานะ Data-Centric Media Hypermarket อย่างสมบูรณ์แบบซึ่งสามารถวิเคราะห์คลังข้อมูลของธุรกิจ Rabbit ที่ปัจจุบันมีมากกว่า 7.2 ล้านคนโดยจะพิจารณาการลงทุนที่มีความเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของบริษัท จึงฟังแล้วคุ้นๆ…..เหมือนท่องบทชนิดแผ่นเสียงตกร่อง

หากพิจารณาข้อเท็จจริงว่าดีลซื้อกิจการที่จะซื้อหุ้น BSSH และ BSS คาดจะเสร็จสมบูรณ์ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2560 ก็พอเข้าเค้าอยู่ไม่น้อยเพียงแต่มีโจทย์ที่ VGI และ BTS ต้องตอบร่วมกันคือปัจจุบัน BTS ทั้งกลุ่มถือหุ้นใน VGI มากถึง 72% เศษแล้วจะเพิ่มสัดส่วนมากขึ้นไปอีก … สภาพคล่องของหุ้นจะไม่เลวร้ายลงไปกว่าเดิมหรืออย่างไร

ไม่มีใครเถียงว่าอัตรากำไรสุทธิของ VGI นั้นโดดเด่นเหนือคู่แข่งมากแต่การที่หุ้นมีสภาพคล่องลดลงเพราะการถือครองกระจุกตัวมากเกิน …… จะเข้าข่ายบริษัทดีแต่ราคาหุ้นเลว

เป็นไปได้แม้ว่าหุ้นจะมีพาร์แค่ 10 สตางค์ก็ตาม

งานนี้เจ้าสัวคีรีคงต้องตอบให้โปร่งใสว่าอะไรเป็นอะไร

Back to top button