![](https://media.kaohoon.com/wp-content/uploads/2021/06/kaohoon_image_default-1.jpg)
พาราสาวะถี อรชุน
คงเห็นอาการแล้วรู้สึกมันมากเกินไป วัฒนา เมืองสุข จึงออกมาปราม วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พรรคเก่าแก่ที่ออกมาพูดถึงโครงการรับจำนำข้าวแบบรายวัน โดยแกนนำพรรคเพื่อไทยจั่วหัวผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า “อย่าไปแข่งกับไอ้ห้อยไอ้โหน” พฤติกรรมที่เรียกร้องและพุ่งเป้าไปยัง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้นใครๆ ก็มองออกว่าเต็มไปด้วยอคติ
คงเห็นอาการแล้วรู้สึกมันมากเกินไป วัฒนา เมืองสุข จึงออกมาปราม วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พรรคเก่าแก่ที่ออกมาพูดถึงโครงการรับจำนำข้าวแบบรายวัน โดยแกนนำพรรคเพื่อไทยจั่วหัวผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า “อย่าไปแข่งกับไอ้ห้อยไอ้โหน” พฤติกรรมที่เรียกร้องและพุ่งเป้าไปยัง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้นใครๆ ก็มองออกว่าเต็มไปด้วยอคติ
ทั้งๆ ที่กรณีนี้มีผู้รับผิดชอบแล้ว คดีอาญามีอัยการสูงสุดรับผิดชอบ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนคดีแพ่งมีคณะทำงานรับผิดชอบเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ที่เกี่ยวข้องแล้วเช่นกัน แต่ที่วัฒนารับไม่ได้คือ การที่หัวหน้าคสช.ออกคำสั่งที่ 39/2558 นิรโทษกรรมให้กับทุกคนที่ทำหน้าที่เรียกร้องค่าเสียหายไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญาหรือทางวินัย
เพราะนั่นเท่ากับว่าหัวหน้าคสช. เปิดไฟเขียวให้ทุกคนจัดการกับยิ่งลักษณ์กับพวกได้ตามอำเภอใจ แค่นี้ยังไม่สะใจหรือยังไม่กระตุ้นสำนึกความเป็นธรรมของวรงค์อีกหรือ มิหนำซ้ำ เรื่องเอกสารลับที่อดีตนายกฯ หญิงนำไปใช้ต่อสู้ในชั้นศาลว่าด้วยคำสั่งไม่ต้องคำนึงถึงความยุติธรรมให้เร่งดำเนินการ ก็เป็นภาพสะท้อนของการใช้กรณีดังกล่าวเหยียบย่ำฝ่ายตรงข้ามแล้วสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองและพรรคพวก
สิ่งที่วัฒนาตั้งคำถามกับวรงค์ แต่คนโดยทั่วไปคงไม่สงสัยเพราะเข้าใจต่อทัศนคติของคนพวกนี้อยู่แล้ว นั่นก็คือ เป็นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแต่กลับเห็นดีเห็นงามกับกระบวนการของเผด็จการ โดยเฉพาะการนิรโทษกรรมให้กับทุกคนที่เช็กบิลยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นการเอาเปรียบของพวกขี้ขลาดที่หนีความรับผิดชอบ แต่วรงค์กลับไม่เคยออกมาเรียกร้องให้คสช.ปฏิบัติด้วยความเป็นธรรมแต่อย่างใด
คำถามที่น่าสนใจแต่น่าจะรู้คำตอบเช่นกันคือ วรงค์กลัวเผด็จการหรือมีอคติจนบดบังความถูกต้อง โดยวัฒนายกตัวอย่างของตนที่คัดค้านหัวหน้าคสช. ซึ่งใช้อำนาจตามมาตรา 44 พักงานผู้ว่าฯ กทม.คนพรรคเดียวกับวรงค์เพราะคำสั่งขัดต่อหลักนิติธรรม แต่วรงค์ที่ไม่มีหน้าที่ใดๆ กลับออกมากระแนะกระแหนยิ่งลักษณ์ที่ออกมาปกป้องสิทธิของตัวเองจากการถูกเผด็จการใช้วิธีการอันไม่เป็นธรรม
อย่างไรก็ตาม ข้อคำถามของวัฒนาที่มีไปยังวรงค์นั้น คงถูกโต้กลับในทันที เพราะล่าสุดป.ป.ช.กำลังเตรียมที่จะพิจารณาโครงการทุจริตบ้านเอื้ออาทรในสิ้นเดือนนี้หรืออย่างช้าไม่น่าจะเกินเดือนตุลาคม โดยกรณีดังกล่าวมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับวัฒนา ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ค้างมาตั้งแต่คราวคตส.ส่งมาให้ป.ป.ช.หลังการยึดอำนาจของคมช.เมื่อปี 2549
งานนี้หากพิจารณาถึงกระบวนการถอดถอนบุคคลในซีกส่วนของระบอบทักษิณแล้ว ต้องยอมรับความเป็นจริงอย่างหนึ่งว่าเริ่มมีมาอย่างต่อเนื่อง จะเรียกว่าเป็นความบังเอิญหรืออะไรก็สุดแท้แต่ แต่ฝ่ายที่ถูกกระทำคงไม่ได้มองเช่นนั้น ผิดกับประเด็นอุทยานราชภักดิ์ที่ล่าสุดป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง เห็นว่าโครงการอุทยานราชภักดิ์ ไม่พบมีอะไรผิดปกติ จึงถือว่าการแสวงหาข้อเท็จจริงตามที่มีผู้ยื่นคำร้องเสร็จสิ้น
แต่คนที่ยื่นคำร้องอย่าง วีระ สมความคิด จากเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น ยังไม่ยอมรับต่อมติดังกล่าว โดยยืนยันว่าป.ป.ช.ไม่ได้สอบในประเด็นที่ยื่น คือการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ ซึ่งผิดระเบียบ ไม่ใช่เรื่องหัวคิว ซึ่งคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ดังนั้น จึงต้องไปติดตามเฟซบุ๊คของวีระเพราะจะมีการนำคำร้องทั้งหมดที่หนา 16 หน้า รวมถึงเอกสารหลักฐานที่ไปยื่นร้องมาเผยแพร่
อย่างว่านั่นแหละ รัฐบาลคสช.เข้ามาด้วยการประกาศปราบโกง มิหนำซ้ำ ร่างรัฐธรรมนูญยังชูความโดดเด่นว่าเป็นฉบับปราบโกง ดังนั้น ก่อนที่จะไปขับเคลื่อนหรือใช้กฎหมายบังคับใช้กับคนอื่นๆ จึงจำเป็นที่ผู้มีอำนาจจะต้องกวาดบ้านตัวเองให้สะอาดเสียก่อน วันนี้กรณีเรื่องราชภักดิ์จบไปโดยป.ป.ช.ถ้า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดถือว่านี่คือข้อยุติก็ว่ากันไปตามนั้น
เหมือนอย่างกรณีไมโครโฟนทองคำเมื่ออยากให้จบในบริบทที่มีกฎหมายพิเศษค้ำคออยู่เสียงวิจารณ์จึงเบาบาง ยังเหลือกรณีการขุดลอกคลองขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกที่ต้องรอการพิสูจน์ ซึ่งมาจนถึงนาทีนี้ยังไร้วี่แววบทสรุปว่าจะออกมาอย่างไร แต่ต้องไม่ลืมว่า หากมีรัฐบาลใหม่หรืออำนาจเปลี่ยนมือ เรื่องเหล่านี้หากยังมีหลักฐานการจะไล่เช็กบิลกันภายหลังคงไม่ใช่เรื่องยาก
ไม่รู้จะดันทุรังกันไปทำไมปมข้อเสนอว่าด้วยการรีเซตสมาชิกพรรคการเมือง เพราะมองหาเหตุและผลใดๆ แล้ว มันไร้ตรรกะที่จะมารองรับ เว้นเสียแต่มีความพยายามที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองเกิดใหม่ที่มีวาระซ่อนเร้น อันเป็นการวางขุมกำลังไว้เพื่อให้เกิดการสืบทอดอำนาจ นั่นก็อีกเรื่อง แต่เมื่อมองอย่างละเอียดรอบด้านแล้ว การฝืนเดินหน้าต่อไปมีแต่ผลร้ายมากกว่าผลดี
ข้อทักท้วงของ นิกร จำนง สปท.ที่นั่งเป็นกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการเมือง ผู้ชงประเด็นนี้ เป็นสิ่งที่กรรมาธิการร่วมคณะต้องรับฟัง โดยเจ้าตัวระบุว่า การรีเซตบัญชีรายชื่อสมาชิกพรรคการเมือง ไม่เคยมีมาก่อน ในการประชุมกมธ.ตนก็ได้แย้งไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าไม่มีเหตุผลหรือเป็นประโยชน์อะไร แต่กลับจะสร้างปัญหายุ่งยากให้กับประชาชน เผลอๆ อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วยซ้ำ
ปัญหาที่เกรงว่าชื่อสมาชิกพรรคมีการทับซ้อนกันนั้นก็ไม่เป็นความจริง เพราะนิกรอยู่กับพรรคการเมืองมาตลอด ย่อมทราบดีว่าเมื่อ 7-8 ปีที่ผ่านมาได้มีการเซตซีโร่ไปแล้ว โดยทางกกต.ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ได้เคลียร์รายชื่อสมาชิกพรรคการเมือง พร้อมควบคุมด้วยระบบไอที ดังนั้น รายชื่อไม่มีทางซ้ำซ้อนกันได้ อีกทั้งมีการยุบพรรคการเมืองหลายพรรคในเวลาต่อมา ทำให้ขณะนี้สมาชิกพรรคการเมืองเหลือเพียง 4.8 ล้านคนเท่านั้น
โดยในจำนวนนี้เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ถึง 2.8 ล้านคนเพราะไม่ถูกยุบ พรรคเพื่อไทยเหลือ 1.5 แสนคน ดังนั้น หากต้องการสำรวจสมาชิกพรรคการเมืองก็ควรจะดำเนินการเฉพาะในปัจจุบันเท่านั้น ไม่ควรไปย้อนหลังให้เกิดผลกระทบกับคนที่เป็นสมาชิกพรรคมาก่อนหน้านี้ จะสร้างภาระและค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนอีก ด้วยตรรกะที่มันไร้เหตุผลรองรับนี่กระมัง จึงทำให้พวกคุณห้อยคุณโหนยอมถอยในประเด็นนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สมควรอย่างยิ่ง