หนีหุ้น …จะไปไหน?พลวัต 2016
เมื่อวานนี้ สถานการณ์ซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้นไทยเป็นไปตามคาด เพราะดัชนี SET ปิดตลาดช่วงบ่ายที่ระดับ 1,411.85 จุด ลดลง 33.43 จุด (-2.31%) มูลค่าการซื้อขาย 53,983.22 ล้านบาท ถือเป็นระดับปิดต่ำสุดรอบเกือบ 3 เดือน
วิษณุ โชลิตกุล
เมื่อวานนี้ สถานการณ์ซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้นไทยเป็นไปตามคาด เพราะดัชนี SET ปิดตลาดช่วงบ่ายที่ระดับ 1,411.85 จุด ลดลง 33.43 จุด (-2.31%) มูลค่าการซื้อขาย 53,983.22 ล้านบาท ถือเป็นระดับปิดต่ำสุดรอบเกือบ 3 เดือน
คำอธิบายของนักวิเคราะห์ ล้วนเป็นไปตามสูตรสำเร็จคือ ร่วงแรงตามตลาดต่างประเทศ โดยตลาดภูมิภาค-ตลาดในยุโรปที่เทรดบ่ายนี้ต่างปรับตัวลงกันทั่วหน้า หลังกังวลว่าเฟดฯจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายนนี้ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ และค่าดอลลาร์ปรับตัวขึ้นอย่างก้าวกระโดดมาตั้งแต่คืนวันศุกร์ที่ผ่านมา
มีเพียงรัฐมนตรีคลัง นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ที่ออกมายอมรับอย่างเต็มปากเต็มคำว่า การร่วงแรงของดัชนีตลาดหุ้นไทยเกิดจาก “ปัจจัยภายในที่รู้ๆกันอยู่” ซึ่งเท่ากับตอกย้ำและเพิ่มน้ำหนักของบรรดาผู้จัดการกองทุนที่ขายต่อเนื่องอีกเมื่อวานนี้ว่า ปัจจัย “ข่าวลืออันไม่เป็นมงคล” หรือ “ข่าวลือที่ไม่สามารถอธิบายได้” คือปัญหาใหญ่ของตลาดหุ้นไทย ที่บังเอิญมาผสมโรงกับปัจจัยจากอิทธิพลของเฟดฯ
แม้ว่าต่างชาติจะยังคงเข้าซื้อสุทธิต่อเนื่องอีกเมื่อวานนี้ แต่ค่าเงินบาทที่เงินบาทอ่อนค่าลงเทียบกับดอลลาร์ค่อนข้างแรง ก็ถือเป็นการส่งสัญญาณว่าแนวโน้มของค่าเงินบาท เริ่มอ่อนลงจากทุนเก็งกำไรต่างชาติไหลออกมาขึ้น จากตลาดตราสารหนี้
ค่าเงินบาทที่โมเมนตัมเป็นขาลง มาจากปัจจัยสำคัญคือค่าดอลลาร์เป็นสำคัญ โดยที่ในตลาดโลกนั้น มีคนจับตาท่าทีสุดท้ายของกรรมการเฟดฯเมื่อวานนี้ คือ คำปราศรัยของนายลาเอล เบรนนาร์ด หนึ่งในคณะกรรมการของเฟดฯที่มีแนวทางเป็นสายพิราบที่มีสิทธิโหวตเสียง เกี่ยวกับแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐว่า จะมีมุมมองในเชิงที่เฟดฯควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแค่ไหน
ดัชนีดาวโจนส์ล่วงหน้าเมื่อคืนที่ผ่านมา ร่วงลงค่อนข้างแรง ชี้นำว่าโอกาสที่ดัชนีในช่วงเปิดตลาดจะร่วงต่อไปอีก เป็นไปได้มากกว่าระดับปกติ ซึ่งเป็นแรงกดดันให้ตลาดหุ้นไทยออกอาการร่วงต่อ โดยมีแนวรับสำคัญที่ระดับ 1,400 จุด เพราะเฟดฯมีท่าทีชัดเจนว่าต้องป้องกันความเสี่ยงจากเศรษฐกิจสหรัฐฯร้อนแรงเกินไป หากคงนโยบายผ่อนคลายทางการเงินนานเกิน
ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ไทยระบุว่า เมื่อวานนี้ มาร์เก็ตแคปของตลาดหุ้นไทยลดลงไปอีกเหลือแค่ 13.60 ล้านล้านบาท และหายไปเมื่อเทียบกับมาร์เก็ตแคปที่ดัชนีระดับ 1,540 จุด มากถึง 1.3 ล้านล้านบาท
การร่วงลงแรงของตลาดหุ้นเช่นนี้ หากเป็นในอดีต โจทย์ที่นักลงทุนมักจะตั้งคำถามเสมอ คือ จะหนีไปเก็งกำไรในตลาดทองคำ หรือตลาดตราสารหนี้แทน ดีหรือไม่
คำตอบเชิงทฤษฎีอย่างหยาบๆคือ ต้องชั่งน้ำหนักความเสี่ยงและผลตอบแทนหลังจากหักกลบแล้ว ว่าคุ้มค่าหรือไม่กับการย้ายความเสี่ยงและโอกาสไปจากตลาดหุ้น
โดยข้อเท็จจริง อุปสงค์และอุปทานของตลาดอื่นๆเช่นทองคำ และตราสารหนี้ ขึ้นกับอารมณ์ความรู้สึกของนักลงทุนเก็งกำไร โดยมีมูลค่าแลกเปลี่ยนที่มีแรงจูงใจอันจับต้องไม่ได้ เป็นหลักประกันสำหรับป้องกันตัวจากความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในอนาคต
สำหรับตลาดทองคำ เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ความกลัว กับราคาทองคำ เป็นสัดส่วนตรงซึ่งกันและกัน เมื่อคนกลัวมาก ราคาทองคำจะวิ่งขึ้นมาก คนกลัวน้อยราคาจะถดถอยลง และในกรณีที่คน ไม่กลัวเลย คนจะไม่ถือทองคำเลย
ยามนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ช่วงเงินฝืด และปริมาณเงินท่วมโลก แต่ราคาทองคำกลับไม่สูงขึ้นมากนัก แถมยังผกผันง่ายก่อนกว่าจะคุ้มค่าในการลงทุน การเก็งกำไรในตลาดทองคำ เมื่อเทียบกับกลไกหรือเครื่องมือใหม่ของตลาดทุนเอง คือ ตลาดตราสารอนุพันธ์ จากการเล่นเก็งกำไรในตลาดล่วงหน้าของดัชนีต่างๆ ก็เริ่มมีข้อเปรียบเทียบว่า การหนีออกจากตลาดหุ้น ไปสู่ตลาดที่ดีกว่า ไม่ต้องไปไหนไกล แต่ย้ายพอร์ตไปอยู่ในตลาดตราสารอนุพันธ์นั่นเอง
ในตลาดทุนของไทย เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า แนวโน้มของตลาดตราสารอนุพันธ์ในฐานะเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากตลาดหุ้น ได้รับความนิยมมากขึ้นต่อเนื่อง และดูเหมือนว่า จะไม่หยุดยั้งเพียงแค่การป้องกันความเสี่ยง เพราะในบางกรณีสามารถที่จะหากำไรจากตลาดได้ด้วย
การออกแบบของตลาดตราสารอนุพันธ์ มีความยืดหยุ่นให้สามารถเล่นเก็งกำไรได้ทั้งขาลงและขาขึ้นของตลาด ดีกว่าตลาดหุ้นที่จะมีโอกาสทำกำไรได้จากตลาดขาขึ้นทางเดียว (การทำกำไรจากตลาดหุ้นในยามขาลงนั้น เป็นเพียงแค่ข้อเสนอทางทฤษฎีเท่านั้น ในทางปฏิบัติแล้วทำได้ยากมาก หรือไม่ได้เลย)
ตัวอย่างของความนิยมใน SET50 FUTRUES ที่เพิ่มสูงขึ้นชัดเจนในหลายปีมานี้ ที่มียอดซื้อขายหลายหมื่นสัญญาต่อวัน (สัญญาละ 5 พันบาท แต่มีวงเงินค้ำประกันเป็นเงินสดอีกใกล้เคียงกัน) เป็นแบบที่น่าสนใจ เพราะภายใต้กติกาที่ยืดหยุ่นของการเก็งกำไร ได้ทั้งขาขึ้นและขาลง สามารถทำให้ผู้เล่นเก็งกำไรรู้สึกถึงความปลอดภัยในตลาดทุนได้ดีมากกว่าเดิม และไม่ต้องกังวลมากนักในยามที่ตลาดเป็นขาลง
ความสามารถทำกำไรได้ทั้งขาขึ้นและขาลง หากจัดการกับพอร์ตลงทุนได้ถูกต้องตามจังหวะสัญญาณของตลาด คือเสน่ห์เพิ่มขึ้น ทำให้การหนีจากตลาดหุ้นไปหาตลาดทองคำ หรือตลาดอื่นๆ ที่มีสภาพคล่องต่ำกว่า ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป แม้อาจจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงในความผันผวนไม่แพ้ตลาดหุ้นเท่าใดนัก
เสน่ห์ของตลาดตราสารอนุพันธ์ ช่วยลดความหยาบกระด้างของตลาดหุ้นขาลงได้มาก และในบางกรณี หมายถึงโอกาสทำกำไรที่มากกว่าตลาดหุ้นขาขึ้นเสียด้วยซ้ำ ทำให้เห็นชัดว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯในปัจจุบัน มีเครื่องมือที่เพียงพอในการลดความเสี่ยงของนักลงทุนมากขึ้น
ประเด็นสำคัญอยู่ที่นักลงทุนจะสามารถหยิบฉวยและทำความเข้าใจกับเครื่องมือที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ที่เหนือกว่าการเล่นหุ้นแบบเดิมได้ดี หรือมากน้อยเพียงใด ภายใต้คำเตือนที่คลาสสิกว่า “การลงทุนทุกชนิดมีความเสี่ยง”