พาราสาวะถี อรชุน

ดูตื่นเต้นกันอยู่ไม่น้อยกรณีที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจหัวหน้าคสช.ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ยกเลิกการนำตัวผู้ที่กระทำผิดด้านความมั่นคงขึ้นศาลทหาร โดยเฉพาะถ้อยคำที่ปรากฏในคำสั่งดังกล่าวที่ดูสละสลวย โดยที่บัดนี้ปรากฏว่าสถานการณ์บ้านเมืองในรอบสองปีที่ผ่านมามีความสงบเรียบร้อยเป็นลำดับ


ดูตื่นเต้นกันอยู่ไม่น้อยกรณีที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจหัวหน้าคสช.ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ยกเลิกการนำตัวผู้ที่กระทำผิดด้านความมั่นคงขึ้นศาลทหาร โดยเฉพาะถ้อยคำที่ปรากฏในคำสั่งดังกล่าวที่ดูสละสลวย โดยที่บัดนี้ปรากฏว่าสถานการณ์บ้านเมืองในรอบสองปีที่ผ่านมามีความสงบเรียบร้อยเป็นลำดับ

ประชาชนต่างมีเจตนารมณ์และให้ความร่วมมือที่ดีในการนำประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน การปฏิรูปประเทศตามขั้นตอน และการสร้างความสามัคคีปรองดองที่ถูกต้องเป็นธรรม ดังเห็นได้จากกระบวนการลงประชามติ ที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้รับความเห็นชอบจากประชาชนด้วยมติท่วมท้น

จึงสมควรผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลงอีก เพื่อที่ทุกฝ่ายจะได้ใช้สิทธิ ปฏิบัติหน้าที่ของตน และได้รับความคุ้มครองตามกลไกของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งกำลังจะประกาศใช้ในเร็ววัน ตลอดจน ตามหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน คนส่วนใหญ่เห็นท่วงทำนองนี้แล้วต่างฝันไปถึงสะพานแห่งความปรองดองกำลังถูกทอดลงมาแล้ว

แต่แท้ที่จริงเมื่อพิจารณาตามคำสั่งโดยละเอียด จะเห็นได้ว่าคดีด้านความมั่นคงที่ว่าไม่ใช่คดีที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ หมายถึงคดีที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่วันที่คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ นั่นหมายความว่า บรรดาคดีที่มีคนตกเป็นผู้ต้องหามาก่อนหน้าทั้งหมด ทุกคนยังต้องไปขึ้นศาลทหารอยู่ดี เหมือนที่ อานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนได้ตั้งข้อสังเกตไว้

กรณีดังกล่าวให้คดีที่เดิมกำหนดให้ขึ้นศาลทหารกลับไปขึ้นศาลพลเรือน โดยหลายคนสงสัยว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นผลย้อนหลัง ให้กับคนที่มีคดีในศาลทหารหรือไม่ ยืนยันว่า คำสั่งดังกล่าวไม่มีผลไปเปลี่ยนแปลงคดีเดิมที่เคยมีอยู่ในศาลทหารทั้งคดีที่ยังอยู่ตอนนี้ อาทิ คดีนักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ คดีกลุ่มพลเมืองโต้กลับ บก.ลายจุด คดี วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คดีศูนย์ปราบโกง คดี 116 คดี 112 คดีเกี่ยวกับอาวุธอีกหลายคดียังต้องพิจารณาคดีในศาลทหารเช่นเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ส่วนคดีที่ยังไม่อยู่ในศาลทหาร แต่การกระทำความผิดเกิดขึ้นในช่วงคำสั่งที่ 37-38 ของคสช.บังคับใช้หากถูกจับก็ต้องไปขึ้นศาลทหารเช่นเดิม โดยคนที่จะไม่ต้องไปขึ้นศาลทหารคือผู้ที่กระทำความผิดนับแต่วันนี้เป็นต้นไป ดังนั้น ที่หลายคนบอกว่าสถานการณ์คลี่คลาย คสช.เริ่มผ่อนคลายนั้นไม่เป็นความจริง ทุกอย่างยังเหมือนเดิม

ทหารที่ใช้อำนาจตามคำสั่งคสช.ที่ใช้อำนาจจับกุมคน ก็ยังไม่ถูกยกเลิกไป จึงไม่ควรดีใจว่าคำสั่งดังกล่าวจะทำให้ทุกคนดีขึ้น หากมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองเกิดขึ้นก็จะมีทหารไปหาอีกเช่นเดิม ทั้งนี้ ทุกวันนี้ยังมีคดีที่ต้องขึ้นศาลทหารอีกหลายคดี สิ่งที่ถูกต้องคือ ต้องโอนคดีที่พิจารณาโดยศาลทหารทุกคดีตอนนี้ ไปยังศาลพลเรือน ส่วนคดีที่ตัดสินไปแล้วก็ให้มีการชำระใหม่โดยศาลที่มีความชอบธรรมคือศาลพลเรือน ซึ่งคำสั่งดังกล่าวไม่ได้เขียนเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม หากมีคนไปถามบิ๊กตู่ในลักษณะตั้งข้อกังขาเช่นนี้ ก็จะถูกย้อนกลับมาว่า แล้วจะเอาอะไรอีก ต้องให้ถอยถึงขนาดไหนเชียว แต่ก็อีกนั่นแหละ เมื่อมีคนค้านย่อมมีคนหนุนเป็นเรื่องธรรมดา ทว่าหากมองอย่างมีนัยทางการเมืองแล้ว การยกเลิกนำตัวผู้ทำผิดคดีความมั่นคงไปขึ้นศาลทหาร ก็เพียงเพื่อหวังผลต่อการเดินตามโรดแม็พที่ท่านผู้นำได้ไปเที่ยวประกาศเป็นสัญญาประชาคมในระดับนานาชาติมาก่อนหน้านี้

ไม่ต่างจากกรณีการประกาศปราบโกงที่ท้องสนามหลวง เป็นการสร้างภาพในความจริงใจและจริงจังต่อเสียงเรียกร้องของทุกฝ่าย หากแต่แท้ที่จริงแล้ว ถ้ามองไปถึงกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยสิ่งที่คนไทยจะได้กลับมา เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกที่กำลังพิจารณากันอยู่ โดยเฉพาะข้อเสนออันสุดโต่ง เห็นได้ชัดเจนว่าล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ทำให้ประเทศเดินถอยหลังทั้งสิ้น

ประเด็นเซตซีโร่พรรคการเมือง นักวิชาการหลายคนยังเชื่อว่ากติกานี้ถูกเขียนขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้มีการรวมกลุ่มการเมืองใหม่ โดยผู้มีอำนาจรัฐอาจใช้ช่องว่างนี้เสนอผลประโยชน์ต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องมือดูดนักการเมืองมารวมขั้วใหม่และสลายขั้วเก่า เป็นการย้อนยุคการเมืองไทยกลับไปสู่ยุครัฐบาลเลือกตั้งที่ไม่สามารถเลือกส.ส.ของตนเข้ามาทำหน้าที่นายกฯ ได้ นอกจากไปเชิญ“ผู้มากบารมีคนนอก” ให้มาทำหน้าที่แทนด้วยความจำใจ

ในกรณีดังกล่าว นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ แกนนำพรรคเพื่อไทยได้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจ เมื่อมีเสียงคัดค้านก็ย่อมมีเสียงสนับสนุน จะพบว่านักวิชาการที่ชื่นชอบการรัฐประหาร ตลอดจนชนชั้นนำของประเทศจำนวนหนึ่ง ต่างออกมาประสานเสียงสนับสนุนการเซตซีโร่พรรคการเมือง เพราะเชื่อว่าจะส่งผลให้พรรคการเมืองอ่อนแอและถูกควบคุมจัดระเบียบได้ง่าย

เมื่อพรรคการเมืองไม่มีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จย่อมทำให้แนวคิดการบริหารประเทศแบบรัฐราชการเป็นไปได้สูง ทำให้การบริหารอำนาจถูกรวมไว้ที่ศูนย์กลางโดยง่ายและปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง การออกกติกาเพื่อทำให้พรรคการเมืองและนักการเมืองอ่อนแอ จึงเป็นแนวทางที่ขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างกลไกเพื่อสืบทอดอำนาจของฝ่ายรัฐประหารเพื่อเข้ามาควบคุมอำนาจอันชอบธรรมของประชาชนต้องถือว่าเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจและเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

ทฤษฎีที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ ในระบอบประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายและเป็นความจริง โดยมีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ พรรคการเมืองและนักการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชนไม่มีสิทธิที่จะทำเลวหรือคิดร้ายกับประชาชนได้เลย เพราะพวกเขาจะประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งแต่ละครั้งหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความไว้วางใจของประชาชน

กติกาที่ประเทศไทยมีมาก่อนจะถูกรัฐประหารนั้นเป็นกติกาที่ถูกต้องเหมาะสมและเป็นประชาธิปไตย เพราะอำนาจอธิปไตยอยู่ในมือของเราและสามารถนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกๆ 4 ปี เมื่อคนส่วนใหญ่ตัดสินใจเลือกตัวแทนของเขาผ่านพรรคการเมืองที่เขามั่นใจ พรรคการเมืองนั้นก็จะเข้าไปทำงานขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ตามที่หาเสียงไว้กับประชาชน

การสืบทอดอำนาจของเผด็จการมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้ฝ่ายการเมืองอ่อนแอ แต่ต้องไม่ลืมเช่นกันว่า อำนาจที่ท่านปล้นเขามานั้นไม่ใช่ของท่าน ไม่ใช่ของพรรคการเมืองและนักการเมือง แต่เป็นอำนาจอันชอบธรรมของปวงชนชาวไทยทุกคน นี่ต่างหากที่แม้จะมีผลโพลกี่สำนักมาช่วยรับรองความชอบธรรมให้คณะรัฐประหาร แต่เมื่อถามถึงความสง่างามแล้วมันพูดได้ไม่เต็มปากเต็มคำ

Back to top button