2 ปี ของ ประสิทธิ์ ศรีสุวรรณพลวัต 2016
จากนี้ไป ตำนานแห่งการก่อร่างสร้างตัวอย่างรวดเร็วของประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ที่ชอบให้ใครเรียกตัวเองว่า ดร.นำหน้าชื่อ ในส่วนที่เกี่ยวกับตลาดทุน ก็อาจจะเหลือแต่ประวัติศาสตร์และความทรงจำอันแหว่งวิ่น
วิษณุ โชลิตุกุล
จากนี้ไป ตำนานแห่งการก่อร่างสร้างตัวอย่างรวดเร็วของประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ที่ชอบให้ใครเรียกตัวเองว่า ดร.นำหน้าชื่อ ในส่วนที่เกี่ยวกับตลาดทุน ก็อาจจะเหลือแต่ประวัติศาสตร์และความทรงจำอันแหว่งวิ่น
ข้อกล่าวหา ทำให้ประสิทธิ์ถูก ก.ล.ต.สั่งพักงาน หรือ พ้นจากปฏิบัติหน้าที่นาน 2 ปี อาจจะไม่นานสำหรับใครบางคน แต่สำหรับธุรกิจหลักทรัพย์และตลาดทุนที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ถือว่านานเกินสมควร จะเรียกว่า ทำให้คนในวงการลืมไปเลยก็ว่าได้
เรื่องดูจะซ้ำร้ายหนักขึ้นไป เมื่อ บริษัทหลักทรัพย์ แอพเพิล เวลธ์ จำกัด (มหาชน) ที่ประสิทธิ์มีส่วนร่วมบุกเบิกมาเกือบ 3 ปี กำลังอยู่ในช่วงของการแต่งตัวเพื่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯด้วย ทำให้โอกาสที่ประสิทธิ์ได้กลับมาในฐานะเดิมยากยิ่งขึ้น แม้ว่าคำกล่าวโทษของ ก.ล.ต. จะยังไม่ถึงที่สุดของกระบวนการยุติธรรม และยังไม่รวมถึงกรณีที่คณะกรรมการเปรียบเทียบจะต้องทำการพิจารณาเปรียบเทียบความผิดอีก
ข้อกล่าวโทษของ ก.ล.ต. ที่มีต่อประสิทธิ์คือ ทำการละเลยการตรวจสอบดูแลระบบงาน ในการทำความรู้จักลูกค้าและตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า และการกำกับดูแลการทำธุรกรรมของลูกค้า (Know Your Customer / Customer Due Diligence : KYC/CDD) ซึ่งเป็นระบบงานหลักที่สำคัญและมีผลต่อความเชื่อมั่นในตลาดทุนโดยรวม
KYC/CDD นั้นเป็นกติกาที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยป้องกันการฟอกเงินและต่อต้านการก่อการร้ายระดับโลกในหลายธุรกรรม ซึ่ง ก.ล.ต.ต้องให้ความร่วมมือ กับ ปปง. เพื่อเป็นไปตามกติกาที่กำหนด ซึ่งผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ทุกคนคุ้นเคยกันอย่างดี
ก.ล.ต. อ้างว่า จากการเข้าตรวจสอบบริษัทหลักทรัพย์ แอพเพิล เวลธ์ จำกัด (มหาชน) ตามแผนงานตรวจสอบตามปกติ (routine inspection) โดยพบความบกพร่องในระบบงาน รวมทั้งการกำกับดูแลการทำธุรกรรมของลูกค้าที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอจะระบุตัวตนหรือผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงของลูกค้า และยังไม่สามารถป้องกันการกระทำที่อาจไม่เหมาะสมของลูกค้าได้ และหากลูกค้าดังกล่าวมีการกระทำที่ผิดกฎหมาย บริษัทอาจมีความเสี่ยงที่จะถูกพิจารณาได้ว่ามีส่วนสนับสนุนหรือมีส่วนร่วมในการกระทำดังกล่าวของลูกค้า
ประเด็นสำคัญอยู่ที่รายการโอนหุ้นข้ามชื่อ (ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ก็ยังเป็นแค่หลักที่หลวม เพราะเกณฑ์หรือมาตรการปฏิบัติ ยังมีการทำประชาพิจารณ์กันในสมาคมบริษัทหลักทรัพย์มานานนับปีโดยไม่ข้อยุติ) ซึ่งเปิดช่องโหว่ให้มีการกระทำได้ ตามความประสงค์ของลูกค้า เพียงแต่มีข้อกำหนดว่าในฝ่ายตรวจสอบของบริษัทหลักทรัพย์ หากพบว่ามีการกระทำเข้าข่ายธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย ก็จะรายงาน STR (รายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย) ต่อ ปปง. ตามขั้นตอน
ก.ล.ต.ระบุว่า ประสิทธิ์ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการป้องกันการฟอกเงินของบริษัท มีส่วนในการกระทำผิด โดยเป็นผู้อนุมัติการเปิดบัญชีและเพิ่มวงเงินให้กับลูกค้าหลายราย ทั้งที่ลูกค้าดังกล่าวมีเอกสารทางการเงินไม่ครบถ้วน ข้อมูลไม่สอดคล้องกับมูลค่าธุรกรรมของลูกค้าอย่างมีนัยสำคัญ และไม่เพียงพอที่จะรู้ข้อเท็จจริงของลูกค้า
นอกจากนั้น ยังมิได้สั่งการให้มีการกระทำการใดเพิ่มเติม เมื่อพบว่าลูกค้ามีการทำธุรกรรมที่ไม่สอดคล้องกับศักยภาพทางการเงินอย่างมีสาระสำคัญ หรือพบลูกค้าทำรายการที่โดยปกติแล้วต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเชิงลึกกับลูกค้า แต่ไม่ได้มีการสั่งการให้ต้องดำเนินการดังกล่าว โดยการกระทำผิดเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก
ก.ล.ต.ระบุว่า เคยพบความผิดในลักษณะนี้และได้ดำเนินการตามกฎหมาย รวมทั้งสั่งการให้บริษัทระมัดระวังและแก้ไขให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบปี 2557 มาแล้ว แต่ยังมีการกระทำซ้ำอีก
กรณีนี้ ประสิทธิ์ได้ออกแถลงการณ์เบื้องต้น (ก่อนจะมีการแถลงข่าวในสายวันนี้) ยืนยันว่า หลักการทำงานตนเองครบถ้วน ในหน้าที่ของ CEO ที่พึงกระทำ ธุรกรรมใดที่น่าสงสัยก็ได้ส่งให้ ปปง. ครบถ้วน และยังปฏิบัติการเพิ่มเติม ห้ามโอนหุ้นข้ามชื่อเกิน 5 รายต่อวัน ซึ่งแม้ว่าจะทำให้การทำงานเสียเปรียบคู่แข่ง ก็ยังถูกหยิบยกมาลงโทษตนเองจนได้ พร้อมกับตั้งคำถามกลับว่า “เมื่อได้รับจดหมายจาก ก.ล.ต. ถึงกับ งง ? ทำโทษหนักไปมั้ย ?”
ประสิทธิ์ระบุว่า ตลอด 15 ปี ได้กระทำเรื่องการโอนหุ้นข้ามชื่อมาตามระเบียบทุกประการ มากกว่าทุกบริษัทหลักทรัพย์ และทุกวันนี้ บริษัทหลักทรัพย์ทุกรายก็ยังสามารถโอนหุ้นข้ามชื่อได้ ดังนั้นจึงต้องการเรียกร้องให้ ก.ล.ต. หรือ สมาคม (บริษัทหลักทรัพย์) ประกาศห้ามโอนหุ้นข้ามชื่อ ซึ่งตนเองและทุกคนจะได้ทำตาม มีสิทธิเสรีภาพ เท่ากันในการแข่งขันทางธุรกิจ
ก.ล.ต.ระบุว่า คำกล่าวโทษทำให้ประสิทธิ์มีลักษณะต้องห้ามในการเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน จึงสั่งพักการให้ความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนของเขาเป็นเวลา 2 ปี มีผลตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2559 และในช่วงดังกล่าว ประสิทธิ์จะไม่สามารถปฏิบัติงานเกี่ยวกับการบริหารงาน หรือการเป็นที่ปรึกษาของบริษัท และการปฏิบัติงานอื่นที่อยู่ในขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน
คำกล่าวโทษที่รุนแรงดังกล่าว ประสิทธิ์ระบุว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม ดังนั้นจึง “…ขอต่อสู้กับคณะกรรมการพิจารณาลงโทษของก.ล.ต. โดยเข้าสู่กระบวนการยื่นอุทธรณ์ และกระบวนการในชั้นศาลทุกชั้นศาล เพื่อเรียกร้องศักดิ์ศรีและความยุติธรรมของผม พร้อมให้ทนายเตรียมขอใช้สิทธิ์ทราบรายชื่อ คณะกรรมการที่พิจารณาลงโทษผม ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ให้สิทธิ์กับผู้ถูกกล่าวหา…”
ยังเร็วเกินไปสำหรับข้อมูลที่จะบอกว่าคำกล่าวโทษของ ก.ล.ต.นั้นรุนแรงเกินไปหรือไม่ และประสิทธิ์จะได้รับความยุติธรรมตามกฎหมายสำหรับความผิดจากการปฏิบัติตามเกณฑ์ “ซึ่งยังไม่มีความชัดเจน” มากน้อยเพียงใด
เพียงแต่ 2 ปีนับจากวันนี้ไปของประสิทธิ์ ถือว่าเป็น “นรกภูมิ” สำหรับเขาและคนใกล้ชิดอย่างแท้จริง
หากเราเชื่อกันตามคติเก่าแก่ว่า “คนดีตกน้ำ ไม่ไหล ตกไฟ ไม่ไหม้” ชะตากรรมของดร.ประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ก็สมควรได้รับการจับตาว่า จะเป็นเช่นว่านั้น …หรือจะเป็นอย่างอื่น