พาราสาวะถี อรชุน
ไหนๆ ช่วงนี้ก็มีการพูดถึงมาตรา 44 กรณีที่ยกเลิกพลเรือนขึ้นศาลทหาร ถ้าเช่นนั้นอยากจะเสนอ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้มาตรายาวิเศษไปจัดการอีกเรื่องน่าจะดี นั่นก็คือ ประเด็นที่เป็นเรื่องคุยกันสนั่นเมืองเวลานี้ พิพิธภัณฑ์กรุงเทพมหานครหรือวิมานพระอินทร์ แลนด์มาร์คเจ้าพระยา ที่สงสัยว่าจะไปลอกแบบมาจากเดอะ คริสตัล ไอแลนด์ ของรัสเซีย
ไหนๆ ช่วงนี้ก็มีการพูดถึงมาตรา 44 กรณีที่ยกเลิกพลเรือนขึ้นศาลทหาร ถ้าเช่นนั้นอยากจะเสนอ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้มาตรายาวิเศษไปจัดการอีกเรื่องน่าจะดี นั่นก็คือ ประเด็นที่เป็นเรื่องคุยกันสนั่นเมืองเวลานี้ พิพิธภัณฑ์กรุงเทพมหานครหรือวิมานพระอินทร์ แลนด์มาร์คเจ้าพระยา ที่สงสัยว่าจะไปลอกแบบมาจากเดอะ คริสตัล ไอแลนด์ ของรัสเซีย
ลำพังโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาก็มีกระแสเสียงต่อต้านอยู่แล้ว กลับมาพบว่าจุดสร้างความสนใจให้กับแขกบ้านแขกเมือง ไม่ได้แสดงถึงอัตลักษณ์อันโดดเด่นของความเป็นไทย ดันไปคล้ายกับของเมืองนอกที่มีอยู่แล้ว จะเรียกว่าเป็นแลนด์มาร์คมันก็คงจะกระดากปาก ประเด็นนี้ยังไม่ต้องพูดถึงว่าไปลอกเขามาหรือไม่
แต่ในเมื่อสิ่งที่รัฐกำลังจะใช้เงินลงทุนจำนวนไม่น้อย เพื่อสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญมีปัญหาอาจไม่ถึงขั้นที่ว่าเป็นการทุจริตคอร์รัปชั่น ตามที่บิ๊กตู่ไปเปิดไฟไล่โกงมา แต่ก็น่าจะมีน้ำหนักมากพอที่ควรจะสั่งให้ชะลอโครงการนี้ออกไปก่อน แต่เห็นพิธีกรสาว ชลรัศมี งาทวีสุข จัดรายการเดินหน้าประเทศไทยวันก่อนอธิบายเรื่องนี้เป็นฉากๆ คงจะหยุดกันยาก
มิหนำซ้ำ โครงการนี้ยังอยู่ภายใต้การบัญชาของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ลั่นวาจาไปแล้วว่าจะต้องเริ่มก่อสร้างให้ได้ภายในต้นปี 2560 หากติดขัดปัญหาที่หน่วยงานใด หน่วยงานนั้นต้องรับผิดชอบ ประกาศิตกันมาอย่างนี้ ถามว่าจะมีใครกล้าไปสั่งให้แตะเบรกอีกหรือ หากไม่สนใจเรื่องความเหมือนและยืนยันว่านี่เป็นเอกลักษณ์ไทยก็เชิญเดินหน้ากันได้ตามสบาย
เสียงวิจารณ์ว่าด้วยความเมตตาปรานีขององค์รัฏฐาธิปัตย์ที่ไม่ต้องให้พลเรือนขึ้นศาลทหารในกรณีกระทำผิดกฎหมายด้านความมั่นคง มีทั้งที่เห็นดีเห็นงามอย่างยิ่งและมีที่ยังไม่แน่ใจว่าการผ่อนคลายความเข้มงวดครั้งนี้มีสาเหตุมาจากอะไรและปลายทางมันจะส่งผลดีทำให้สถานการณ์เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยดีขึ้นหรือไม่
มีมุมที่น่าสนใจจาก พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ เจ้าหน้าที่ฝ่ายเอเชียตะวันออก ฟอรั่มเอเชีย ให้ความเห็นว่า เชื่อว่าแรงจูงใจสำคัญของรัฐบาลในการออกคำสั่งนี้เนื่องจากต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในเวทีโลก เนื่องจากวันที่ 23 กันยายนนี้ ในเวที UPR หรือ Universal Periodic Review อันเป็นกลไกหนึ่งของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเพื่อการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ ประเทศไทยจะต้องตอบเรื่องข้อเสนอแนะที่ค้างอยู่ 68 ข้อ หลังผ่านการทบทวนรอบแรกเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
โดยมีประเด็นที่สำคัญที่เป็นข้อเรียกร้องคือ การให้ยกเลิกการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหาร ให้ยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งรัฐบาลได้รับข้อเสนอคร่าวๆ ในเรื่องการพัฒนาสถานการณ์เสรีภาพในการแสดงออก สำหรับประเทศที่เรียกร้องให้ยกเลิกดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารได้แก่ เนเธอร์แลนด์ กรีซ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ สหรัฐอเมริกา ออสเตรีย เบลเยียม แคนาดา คอสตาริกา สาธารณรัฐเช็ก เยอรมนี และลักเซมเบิร์ก
การใช้มาตรา 44 ยกเลิกแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยครั้งนี้ มันเป็นจังหวะที่พอดีกันมาก เมื่อต้องไปพูดอีกครั้งรัฐบาลก็จะบอกได้ว่า ยกเลิกเรื่องนี้แล้ว ซึ่งเป็นข้อเสนอที่หลายประเทศพูดอย่างชัดเจน รัฐบาลคงมองว่าสถานการณ์อยู่ในขั้นที่ควบคุมได้มากขึ้น หลังจากรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านประชามติด้วย คงอยากให้ประเทศอื่นๆ เห็นแนวโน้มว่ากำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลพลเรือน
ขณะที่ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ รู้สึกเฉยๆ ต่อคำสั่งนี้ โดยไม่รู้สึกว่าจะเป็นสัญญาณที่ดีต่อบรรยากาศสิทธิเสรีของสังคม เพราะคดีทางการเมืองจำนวนมากไม่ควรเป็นคดีแต่แรก นักโทษที่ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยสงบ เช่น การชุมนุมเกิน 5 คน ไม่ควรเป็นคดีแต่ต้น
ก่อนจะมีข้อเสนอตามมาว่า สิ่งที่ควรจะเป็นคือต้องยกเลิกคดี ไม่ใช่โอนคดีไปยังศาลยุติธรรม ขณะเดียวกันตัวของยิ่งชีพเองก็ไม่เคยคิดว่าคดีทางการเมืองในศาลยุติธรรมนั้นดำเนินไปได้ตามกฎหมายปกติ เพียงแต่การที่ไม่ถูกดำเนินคดีที่ศาลทหาร อย่างน้อยจำเลยก็รู้สึกดีกว่าว่าคนตัดสินคดีของเขาไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับเขาโดยตรง
ส่วนทัศนะของทนายความที่ดูแลคดีด้านสิทธิมนุษยชนอย่าง วิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ หรือสกสส. มองว่าคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 55/2559 ไม่ทำให้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยดีขึ้น เพราะข้อความในข้อ 2 ของคำสั่งดังกล่าวยังคงให้เจ้าพนักงานตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และ 13/2559 ยังคงมีอำนาจหน้าที่ตามคำสั่งดังกล่าวต่อไป
นั่นหมายความว่าทหารยังเป็นผู้นำตำรวจหรือเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนของหน่วยงานที่เข้าจู่โจมบ้านเรือนประชาชน เพื่อตรวจค้น จับกุมโดยไม่มีหมายของศาล แล้วนำตัวไปคุมขังในสถานที่ซึ่งมักจะเป็นค่ายทหาร สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นการสร้างภาระอันใหญ่ยิ่งให้กับผู้ถูกกล่าวหา เพราะจากการสูญเสียอิสรภาพตั้งแต่วันแรก ถูกสอบสวนมาราธอน ไม่มีทนายความที่ไว้วางใจให้คำปรึกษา
ไม่เพียงเท่านั้นผู้ที่ถูกกล่าวหายังถูกตั้งข้อหาหนักเกินจริง ไม่เพียงเท่านั้นครอบครัวของคนเหล่านั้น ยังได้รับผลกระทบ ชีวิตพวกเขาพังทลาย ไม่มีใครหน้าไหนรับผิดชอบ ดังนั้น หากคสช.มีความจริงใจในการผ่อนแรงกดดัน ลดการคุกคามต่อผู้เห็นต่างทางการเมืองจริงๆ แล้ว คสช.ควรที่จะทบทวนและยกเลิก ประกาศคสช. ที่ให้อำนาจทหารเป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบภายในประเทศ มีอำนาจตามคำสั่งทั้งสองฉบับดังกล่าว
รวมทั้งควรยกเลิกประกาศที่ให้ดำเนินคดีกับพลเรือนในศาลทหารที่ผ่านมาด้วย เพราะบ้านเมืองนี้ควรจะกลับสู่ภาวะปกติ อันจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน ซึ่งเชื่อว่าย่อมจะส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและการปกครองของประเทศชาติได้ แต่สิ่งที่คสช.ควรจะทำก็คือ การนิรโทษกรรมประชาชนที่ถูกดำเนินคดี ถูกบังคับด้วยเงื่อนไขเพื่อจะดำเนินคดีและถูกกล่าวหาเสียทั้งหมดให้จบสิ้นไป จึงจะเรียกว่ามีความสามัคคีปรองดอง เป็นการสร้างความสงบเรียบร้อยอย่างแท้จริง