ข่าวดีที่มีเงื่อนไขกำกับพลวัต 2016
นอกจากมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ในระดับเดิมที่ 1.50% แล้ว ยังมีความเห็นพ่วงเพิ่มเติมจาก คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่หลายคนถือว่าเป็นข่าวดี (อย่างน้อยก็ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นพุ่งขึ้นในท้ายตลาดวานนี้แรงอีกวันหนึ่ง) ด้วยการออกมาระบุว่า ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2559 เป็นเติบโต 3.2% จากเดิมคาดเติบโต 3.1% ดีขึ้นกว่าที่ประเมินไว้เล็กน้อย เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 2 สูงกว่าคาด ส่วนหนึ่งจากปัจจัยชั่วคราวและมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ
วิษณุ โชลิตกุล
นอกจากมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ในระดับเดิมที่ 1.50% แล้ว ยังมีความเห็นพ่วงเพิ่มเติมจาก คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่หลายคนถือว่าเป็นข่าวดี (อย่างน้อยก็ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นพุ่งขึ้นในท้ายตลาดวานนี้แรงอีกวันหนึ่ง) ด้วยการออกมาระบุว่า ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2559 เป็นเติบโต 3.2% จากเดิมคาดเติบโต 3.1% ดีขึ้นกว่าที่ประเมินไว้เล็กน้อย เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 2 สูงกว่าคาด ส่วนหนึ่งจากปัจจัยชั่วคราวและมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ
ขณะที่ปี 2560 กนง.ก็คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเท่ากับที่ประเมินไว้ที่ 3.2% โดยการลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้นช่วยชดเชยการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลง
แม้ว่าจะปรับมุมมองเป็นบวกมากขึ้น แต่ กนง.ก็ยังคงระบุว่า ความเสี่ยงต่อประมาณการโน้มไปด้านต่ำมากขึ้น โดยปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ เช่น ผลการลงประชามติสหราชอาณาจักร (Brexit) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก โดย กนง.ยังคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะคงหดตัว -2.5% ตามเดิม แต่ในปี 2560 ปรับลดลงจากเดิมที่คาดไว้ 0.0% เป็นหดตัว -0.5% ตามแนวโน้มเศรษฐกิจคู่ค้า
ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มต่ำกว่าคาดการณ์หลังจากมีการจัดระเบียบทัวร์ศูนย์เหรียญ โดยคาดว่าปี 2559 นักท่องเที่ยวจีนจะหายไป 2 แสนคน ทำให้ภาพรวมลดลงมาอยู่ที่ 33.6 ล้านคน จากเดิม 34 ล้านคน ส่วนในปี 2560 คาดว่าจะหายไป 1 แสนคน ภาพรวมลดลงเหลือ 36.3 ล้านคน จากเดิม 36.7 ล้านคน แต่ก็จะเป็นผลกระทบระยะสั้นช่วงปลายปี 2559 หรือไม่เกินต้นปี 2560 เท่านั้น
ข้อเท็จจริงจาก กนง.ที่ไม่อาจปิดบังได้เลยคือ เศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะเติบโตแบบ “ลากลู่ถูกัง” จากการใช้จ่ายภาครัฐเป็นหลักเพียงอย่างเดียว ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงยิ่งขึ้นในเศรษฐกิจมหภาค เพราะว่า การใช้จ่ายเงินภาครัฐเพิ่ม คือ การขาดดุลงบประมาณ และการก่อหนี้สาธารณะที่มีสัดส่วนสูงขึ้น
การก่อหนี้สาธารณะไม่ใช่เรื่องน่าห่วง หากมีการควบคุมให้ดี และมีการใช้จ่ายอย่างมีคุณภาพ เพราะหนี้สาธารณะเกี่ยวข้องโดยตรงและมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชนอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเป็นประเด็นว่าด้วย Crowing out Effect
ในทางปฏิบัติ เมื่อรัฐบาลมีค่าใช้จ่ายที่ทำให้งบประมาณติดลบ เช่น เงินเดือนข้าราชการ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินนโยบายต่างๆ มากกว่ารายได้ซึ่งโดยหลักมาจากภาษี รัฐบาลก็ต้องเติมส่วนที่ขาดไปด้วยการกู้ยืมในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล กู้จากธนาคาร ซึ่งจะเป็นหนี้ของภาครัฐ หรือ หนี้สาธารณะ
การก่อหนี้สาธารณะที่ดีจึงต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินมาพัฒนาประเทศให้เกิดผลดีในระยะยาว เช่น การลงทุนในระบบสาธารณูปโภค การศึกษา เป็นต้น ไม่ใช่เพื่อนำมาสนับสนุนการบริโภคในปัจจุบันด้วยการให้รัฐสวัสดิการในรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีเพียงคนในรุ่นปัจจุบันเท่านั้นที่ได้รับผลประโยชน์
ในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น รัฐบาลได้ก่อหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งอัตราการขยายตัวของหนี้สาธารณะสูงกว่าการเติบโตของประชากร ทำให้ภาระหนี้ที่ประชาชนแต่ละคนต้องร่วมกันชดใช้ก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นเดียวกัน
ผลกระทบจากการก่อหนี้สาธารณะ จะเริ่มต้นตั้งแต่ความเสี่ยงที่รัฐบาลจะผิดนัดชำระหนี้ก็เพิ่มขึ้นในสายตาของเจ้าหนี้และนักลงทุน ทำให้การที่รัฐบาลจะกู้ยืมต่อไป ก็ต้องเสนออัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเพื่อชดเชยความเสี่ยงให้แก่เจ้าหนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเงินภาษีที่เราต้องจ่ายให้รัฐบาลทุกปี กลับต้องนำไปจ่ายดอกเบี้ยให้แก่เจ้าหนี้ แทนที่จะถูกนำมาพัฒนาประเทศหรือลงทุนในด้านอื่นๆ
นอกจากนั้น การก่อหนี้สาธารณะเพิ่มเติม ยังเป็นการแย่งชิงทรัพยากรจากภาคประชาชนและเอกชน ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมของบรรดาธุรกิจต่างๆ สูงขึ้น ท้ายสุดภาคธุรกิจจะผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้มาให้ผู้บริโภค ด้วยการเพิ่มราคาสินค้าและบริการ
การก่อหนี้สาธารณะทำให้เงินเฟ้อ และผู้บริโภคเข้าถึงสินเชื่อได้ยาก ส่งผลเสียต่อภาวะอุปสงค์มวลรวมของประเทศ และลดความสามารถใช้จ่ายของผู้บริโภคลง
ผลพวงที่มักจะมีคนมองไม่เห็น จากการก่อหนี้สาธารณะเพิ่ม คือ เมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนหันมาซื้อพันธบัตรรัฐบาลแทนที่จะเลือกลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชน และธุรกิจที่มีความต้องการระดมทุนก็จะมีต้นทุนดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น เพราะต้องบวกค่าชดเชยความเสี่ยงให้มากขึ้นไปอีก ซึ่งอาจทำให้เกิดอุปสรรคในการขยายการลงทุนได้
จริงอยู่ การปรับมุมมองต่อ จีดีพีใหม่ของ กนง.วานนี้ ทำให้ เงินบาทกลับมาแข็งค่าอีกครั้งหนึ่ง แตกต่างจากช่วงเช้า แต่ก็เป็นปฏิกิริยาเฉพาะหน้าเท่านั้น เพราะข้อเท็จจริงของปัจจัยพื้นฐาน ยังต้องรอดูความชัดเจนจากการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์หน้า ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนต่อไป
ความไม่แน่นอนดังกล่าว ทำให้ท่าทีของนักลงทุนต่างชาติยังคงเป็นปริศนาต่อไป เพราะ แม้จะซื้อสุทธิที่ตลาดหุ้น แต่ก็ขายสุทธิในตลาดตราสารอนุพันธ์มากกว่า 6.5 พันสัญญา และ ขายสุทธิที่ตราสารหนี้มากถึง 6,361 ล้านบาท
ข่าวดีจาก กนง. จึงเป็นข่าวดีที่มีเงื่อนไขกำกับด้วย ไม่ใช่ดีอย่างไร้ข้อจำกัด