![](https://media.kaohoon.com/wp-content/uploads/2021/06/kaohoon_image_default-1.jpg)
พาราสาวะถี อรชุน
หนึ่งปีผ่านไปไวเป็นอย่างมาก เผลอแป๊บเดียวหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจก็ก้าวเข้าสู่ปีที่ 23 แล้ว ท่ามกลางสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลง การเมืองไม่ต้องพูดถึงไม่รู้จะออกมาหน้าไหน ส่วนตลาดทุนก็อย่างที่เห็น ดังนั้น จึงเป็นภาระหน้าที่ของกองบรรณาธิการข่าวหุ้น ที่จะต้องยืนอยู่เคียงข้างคุณผู้อ่านเพื่อเป็นกระบอกเสียงอิสระ ในการตรวจสอบทุกเรื่องให้เกิดความกระจ่างและเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม
หนึ่งปีผ่านไปไวเป็นอย่างมาก เผลอแป๊บเดียวหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจก็ก้าวเข้าสู่ปีที่ 23 แล้ว ท่ามกลางสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลง การเมืองไม่ต้องพูดถึงไม่รู้จะออกมาหน้าไหน ส่วนตลาดทุนก็อย่างที่เห็น ดังนั้น จึงเป็นภาระหน้าที่ของกองบรรณาธิการข่าวหุ้น ที่จะต้องยืนอยู่เคียงข้างคุณผู้อ่านเพื่อเป็นกระบอกเสียงอิสระ ในการตรวจสอบทุกเรื่องให้เกิดความกระจ่างและเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม
ช่วงนี้มาตรา 44 ถูกงัดออกมาใช้ถี่ยิบ เพิ่งสั่งยกเลิกพลเรือนขึ้นศาลทหารไปวันก่อน ล่าสุด หัวหน้าคสช.ใช้ดาบอาญาสิทธิ์เพื่อเปิดทางให้กรมบังคับคดีไปดำเนินการยึดทรัพย์ผู้กระทำความเสียหายในโครงการจำนำข้าว โดยมีการพ่วงเอาโครงการแทรกแซงราคามันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เข้าไปด้วย เพื่อจะได้ไม่ถูกมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ
ด้วยความที่รู้ว่าเสียงสะท้อนต่อกรณีนี้จะเป็นอย่างไร พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงให้สัมภาษณ์ดักคอก่อนว่า การใช้อำนาจครั้งนี้ไม่ใช่การไปยึดทรัพย์ ขอให้ทุกคนใช้เหตุผล อย่าใช้แค่ความรู้สึก แต่ท่วงทำนองดังกล่าวก็ถูกหักล้างด้วยคำให้สัมภาษณ์ของ วิษณุ เครืองาม มือกฎหมายประจำรัฐบาลในทันที เพราะเจ้าตัวดันบอกว่า นี่คือการให้อำนาจกรมบังคับคดีไปยึดทรัพย์คนที่เกี่ยวข้องในโครงการจำนำข้าว
พร้อมทั้งอธิบายเป็นฉากๆ ด้วยว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถไปยึดทรัพย์ของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ บุญทรง เตริยาภิรมย์ ได้เนื่องจากมีมูลค่ามหาศาล ดังนั้น จึงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญซึ่งก็มีแต่ปปง.กับกรมบังคับคดี แต่องค์กรแรกจะทำหน้าที่ยึดในกรณีฟอกเงินเท่านั้น ภาระหน้าที่จึงต้องตกเป็นของหน่วยงานหลังไปโดยปริยาย
สรุปแล้ว ไม่ว่าจะอธิบายกันอย่างไร นี่ก็บ่งบอกสูตรสำเร็จของคณะรัฐประหาร เมื่อได้อำนาจมาจากการไปยึดมา ด้วยข้อกล่าวหาอีกฝ่ายว่าทุจริต จึงจำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการไปรองรับเพื่อให้ข้อกล่าวหานั้นมีความชอบธรรม และโครงการรับจำนำข้าวก็เป็นตัวชูโรง ซึ่งก็มีคนตั้งข้อสังเกตอยู่เหมือนกันหากคดีความในศาลที่กำลังพิจารณาอยู่ตัดสินไปคนละทางกับคณะกรรมการเอาผิดทางละเมิด ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายของผู้ถูกกล่าวหาในอนาคต
อาจเป็นเพราะเกรงจะมีปัญหาในอนาคตนี่กระมัง จึงทำให้เจ้าหน้าที่และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องออกอาการเงื้อง่าราคาแพง เคยมีการใช้มาตรา 44 ยกเว้นความผิดให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องในการจัดการปัญหาจำนำข้าวมาหนหนึ่งแล้ว รอบนี้ก็มาซ้ำดาบสอง ต้องลองดูว่า จะเป็นยาวิเศษที่ช่วยกระตุ้นให้คนเหล่านั้น กล้าที่จะฟันและจัดการยิ่งลักษณ์พร้อมพวกทันทีทันใดเลยหรือไม่
เดินกันมาถึงขนาดนี้แล้วคงรอดยาก เพียงแต่ว่าบทสรุปมันจะออกมาในรูปแบบไหนก็เท่านั้นเอง ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องกฎหมาย 7 ชั่วโคตร เพราะคำพูดของวิษณุดันไปบอกว่า ถ้ากฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ ข้าราชการแม้แต่จะเสียบแบตเตอรี่มือถือส่วนตัวในที่ทำงานหรือใช้ซองตราครุฑใส่เงินไปร่วมงานของตัวเอง ก็มีความผิดทันที
เมื่อเป็นเช่นนั้น จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช.จึงออกมาขย่มทันควัน ด้วยการเรียกร้องให้บิ๊กตู่ไปประกาศปราบโกงกลางสนามหลวง ออกมาทวงถามรุ่นพี่ที่เป็นอดีตผบ.ทบ.ซึ่งไปยึดเอาบ้านพักภายในค่ายทหารหรือบ้านพักประจำตำแหน่งไปเป็นที่พักอาศัยส่วนตัว ทั้งที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว คืนมาเป็นของหลวงให้หมด
เพราะนั่นก็ถือเป็นการทุจริตหรือใช้ประโยชน์ในสิ่งของหรือทรัพย์สินของทางราชการอย่างหนึ่ง ทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นได้หมดวาระที่จะปฏิบัติหน้าที่ไปแล้ว ถือเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพียงแต่ว่าท่านผู้นำจะกล้าไปทำเช่นนั้นหรือ สุดท้าย หนีไม่พ้นจะต้องออกมาบอกว่า ผู้อาวุโสทั้งหลายคือคนที่เสียสละเพื่อประเทศชาติ เสี่ยงชีวิตในการสู้ศึกสงครามมาควรจะได้รับการปูนบำเหน็จบ้าง
ทางลงก็มีแค่เท่านี้ นี่แหละคือความลักลั่นในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งก็รวมไปถึงความรอบคอบในการที่จะเสนอข้อกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ที่ฝ่ายเกี่ยวข้องกำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้ ฮือฮาสุดคงเป็นในส่วนของกกต.ที่เป็นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.
มีทั้งจะเพิ่มค่าสมัครจาก 5 พันบาทเป็นหนึ่งหมื่น เพื่อป้องกันพวกอยากโชว์อยากดัง แต่ไม่ยอมไปหาเสียง โดยมีข้อแม้ว่าหากได้คะแนนเลือกตั้งเกินร้อยละ 5 หรือ 5 พันคะแนนขึ้นไปจะคืนเงินให้ครึ่งหนึ่ง ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีอยู่เหมือนกัน แต่ที่ยังเป็นเครื่องหมายคำถามและน่าจะถูกตีตกจากกรธ.คือข้อเสนอที่จะให้แคนดิเดตนายกฯ ของแต่ละพรรคขึ้นเวทีดีเบตกัน
เป็นงานถนัดของ สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ชายเดี่ยวอยู่แล้ว ปัญหาก็คือว่า ในร่างรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้มีนายกฯ คนนอกได้ จึงเป็นที่มาของข้อกังขาจาก ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาฯ นปช.ที่ว่า ถ้าเช่นนั้นคนที่จะเข้ามาเป็นนายกฯ ที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น จะต้องผ่านกระบวนการดังกล่าวนี้ด้วยหรือไม่
เท่านี้ก็ตอบยากแล้ว ไม่รู้ว่าเป็นความไม่รอบคอบของกกต.หรือข้อเสนอยังไม่ตกผลึก เพื่อความเป็นธรรมจึงต้องรอดูเนื้อหาที่เสร็จแล้วทั้งฉบับ กระนั้นก็ตาม ในมุมของเสี่ยเต้นก็เห็นว่าบรรยากาศทางการเมืองในเวลานี้ ผู้มีอำนาจกำลังพยายามที่จะสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อให้เอื้อต่อการมีนายกฯ คนนอก อันจะเห็นได้จากบรรดาผู้อยากมีอำนาจทั้งหลายในองคาพยพแม่น้ำ 5 สายต่างพากันชงข้อเสนอสุดพิสดารอยู่เนืองๆ
แต่เรื่องของท่าทีเช่นนี้ไม่ใช่การส่งสัญญาณมาจากผู้มีอำนาจแต่อย่างใด เป็นความสอพลอของคนพวกนี้ที่อยากมีตำแหน่งแห่งหนอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง โดยเฉพาะเก้าอี้ส.ว.ลากตั้ง ดังนั้น ณัฐวุฒิจึงเรียกร้องไปยังผู้มีอำนาจว่า อย่ามัวแต่ปราบทัวร์ศูนย์เหรียญ ควรที่จะเข้มงวดและจัดการกับการเมืองศูนย์เหรียญของพวกไอ้ห้อยไอ้โหนเหล่านี้ด้วย ซึ่งคงจะเป็นเรื่องยากเพราะคนเหล่านี้ต้องเกื้อกูลกันมาตั้งแต่ต้น คงจะไม่หักหาญน้ำใจกันถึงขนาดนั้น