พาราสาวะถี อรชุน
อาจจะเป็นข่าวเล็กๆ แต่ย่อมเกิดคำถามขึ้นมาได้ในแง่ของ “ธรรมาภิบาล” กรณี ผ่องพรรณ จันทร์โอชา ภรรยา พลเอกปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม น้องสะใภ้ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ไปเป็นประธานเปิดฝายที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ในนามนายกสมาคมภริยาข้าราชการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
อาจจะเป็นข่าวเล็กๆ แต่ย่อมเกิดคำถามขึ้นมาได้ในแง่ของ “ธรรมาภิบาล” กรณี ผ่องพรรณ จันทร์โอชา ภรรยา พลเอกปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม น้องสะใภ้ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ไปเป็นประธานเปิดฝายที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ในนามนายกสมาคมภริยาข้าราชการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
ลำพังการเป็นประธานคงไม่เป็นประเด็นแต่บังเอิญว่า ป้ายผ้าที่ใช้ต้อนรับภรรยาบิ๊กติ๊กนั้น ดันไประบุชื่อฝ่ายดังกล่าวว่า “ฝายแม่ผ่องพรรณพัฒนา” เท่านั้นแหละกระแสวิจารณ์กระหึ่มโลกโซเซียล ตั้งคำถามเรื่องความเหมาะสม เพราะโครงการดังกล่าวระบุเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ ที่หนักข้อไปกว่านั้นคือ ถามถึงที่มาของงบประมาณ
หลังจากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นของกรมกิจการพลเรือน ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ สังกัดศูนย์การปฏิบัติการป้องกันประเทศและพลังงานทหาร ที่มีปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นผู้กำกับดูแลนั่นเอง แต่หลังจากปรากฏเป็นข่าว คนใกล้ชิดของผ่องพรรณก็ออกมาปฏิเสธว่าฝายที่ไปเปิดไม่ได้ชื่อนั้นและได้รับรายงานว่ามีการเก็บป้ายต้อนรับดังกล่าวไปแล้ว
นี่แหละปัญหาของหลังบ้าน หากทำงานแต่พอดีและพองามจะไม่มีปัญหาอะไร แต่หากทำอะไรที่มันเว่อร์ไปจะกลายเป็นผลลบสะท้อนกลับไปยังสามีที่มีตำแหน่งแห่งหนใหญ่โต และความเป็นจริงกรณีน้องชายบิ๊กตู่กับเรื่องฉาวครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะก่อนหน้านั้นก็เคยเกิดเรื่องฮือฮามาแล้ว เมื่อคราวดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 3
ตามการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของป.ป.ช.ที่พบว่า มีการนำเงินของหลวงไปใส่ไว้ในบัญชีของภรรยาที่ช่องผ่องพรรณคนนี้นี่แหละ หากเป็นนักการเมืองหรือคนจากเครือข่ายระบอบทักษิณป่านนี้คงไม่มีพื้นที่ให้ยืนไปแล้ว บังเอิญว่านี่เป็นน้องชายขององค์รัฏฐาธิปัตย์ ทุกอย่างจึงเงียบไป ไม่มีแม้แต่การเรียกร้องถามหาความรับผิดชอบทางจริยธรรมของบรรดาคนดีทั้งหลาย
เมื่อมีการรื้อป้ายไปแล้วก็ถือว่าจบกัน คงไม่ต้องไปตามขุดคุ้ยอะไรอีก แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจะเป็นเสียงสะท้อนย้อนกลับไปยังท่านผู้นำ กับการบ่นน้อยอกน้อยใจว่า มีแต่คนจ้องจับผิด ก็ต้องยกกรณีนี้มาเป็นเครื่องหมายคำถามว่า มันสมควรที่จะถูกจับผิดหรือไม่ ดีนะที่ยังไม่มีการไปกล่าวหาว่า เพราะพื้นที่เกิดเหตุเป็นจังหวัดเชียงใหม่ คงมีผู้ไม่ประสงค์ดีหรือฝ่ายตรงข้ามนำไปเผยแพร่เพื่อดิสเครดิตคนดีที่สุดของประเทศนี้
เห็นการลงมติของสนช.ในการถอดถอน พลอากาศเอกสุกำพล สุวรรณทัต ออกจากการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อปี 2555 โทษฐานไปเสนอชื่อตั้ง พลเอกทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน เป็นปลัดกระทรวงกลาโหมแล้ว ต้องยอมรับว่าชะตากรรมของเครือข่ายระบอบทักษิณน่าจะอยู่กันยาก คิวต่อไปคงหนีไม่พ้น วรชัย เหมะ พร้อมพวกอีกประมาณ 40 คนที่จะโดนเชือดจากการชงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย
ประเด็นถอดถอนพลอากาศเอกสุกำพลนั้น มันไม่รอดตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะความเป็นเพื่อนสนิทร่วมรุ่นกับ ทักษิณ ชินวัตร มันเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้ฝ่ายถอดถอนตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ไม่นับรวมเรื่องของใบสั่ง แต่ก็มีคำถามกลับไปยังผู้พิจารณาตั้งต้นอย่างป.ป.ช.ว่า หากกระบวนการแต่งตั้งปลัดกระทรวงกลาโหมครั้งนั้นผิดจริง แสดงว่าผู้บัญชาการเหล่าทัพที่ไปร่วมโหวตเวลานั้นก็ต้องมีความผิดด้วยใช่หรือไม่
หากคำตอบว่าใช่ คำถามที่ตามมาคือแล้วบิ๊กตู่ และ พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ที่เวลานั้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุด ร่วมโหวตด้วยจะต้องร่วมรับผิดชอบต่อกรณีดังกล่าวด้วยไหม แทบจะไม่ต้องรอให้ใครมาอธิบาย เดาได้เลยว่าไม่มีปัญหาอะไร เพราะผู้ที่สั่งให้มีการประชุมและข้ามขั้นตอนคือพลอากาศเอกสุกำพล ส่วนคนอื่นๆ ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาต้องทำตามหน้าที่
ประเทศนี้มันก็มีการติ๊ดชึ่งแก้ต่างกันเพียงเท่านี้ ไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลอะไรมาอธิบายให้มากความ ยิ่งเป็นฝ่ายที่ถือครองอำนาจแบบเบ็ดเสร็จด้วยแล้ว คงไม่มีใครกล้าแตะ ทีนี้ย้อนกลับไปที่ 40 อดีตส.ส.ที่ดันกฎหมายสุดซอยน่าจะถูกป.ป.ช.สอยแน่ๆ และตามมาด้วยการถอดถอนโดยสนช. สิ่งที่จะเป็นแรงกระเพื่อมลูกใหญ่คือ บรรดาผู้ที่ร่วมโหวตด้วยเวลานั้นอีกกว่า 300 ชีวิตจะมีสิทธิ์โดนหางเลขไปด้วย
หากอ่านทิศทางจากการกระบวนการถอดถอนที่ดำเนินการอยู่เวลานี้ แนวโน้มคงต้องเป็นไปในลักษณะนั้น เว้นเสียแต่ว่าจะมีการเจรจากันนอกรอบ หากอยากอยู่รอดปลอดภัยก็ให้กระโดดหนีจากพรรคนายใหญ่ไปเสีย ถ้าติดตามพฤติกรรมของนักการเมืองแต่ละมุ้งที่ผ่านมา ก็มีความเป็นไปได้ว่า หากมีข้อเสนอที่สมน้ำสมเนื้อคนเหล่านั้นก็พร้อมที่จะตัดสินใจ
ต้องไม่ลืมว่า หากมองจากโรดแม็พหรือแผนที่คณะยึดอำนาจกำหนดไว้ หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า นายกฯ คนนอกมาแน่ และพรรคการเมืองใหญ่คงไม่มีที่ยืนในฝ่ายบริหาร ดังนั้น ประสานักเลือกตั้งที่จะต้องเลือกเอาปากท้องของตัวเองมาก่อนประชาชน จึงต้องหาที่เกาะและทุกครั้งในการแทงหวยทางการเมือง จะต้องเลือกอยู่ข้างผู้มีอำนาจไว้ก่อน
ดังนั้น ประเด็นการเซตซีโร่ทางการเมืองที่โยนหินถามทางมาก่อนหน้านั้น เป้าหมายก็คือการส่งสัญญาณที่จะให้กลุ่มมุ้งต่างๆ ในพรรคใหญ่เตรียมพร้อม ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายความว่ามีแค่พรรคเพื่อไทยเท่านั้น เพราะพรรคประชาธิปัตย์เองก็มีโอกาสที่จะถูกดูดหรือเกิดการแยกตัวไปตั้งพรรคใหม่ ในซีกส่วนของบรรดาอดีตแกนนำม็อบกปปส.ทั้งหลาย
เหมือนอย่างที่มีการคาดหมายกันไว้ก่อนหน้า หลังการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคขนาดกลางและเล็กจะมีอานุภาพในการต่อร้องมหาศาล ถ้าจะอ่านเกมประกอบการมองทิศทางการเมืองอีกประการให้พิจารณาจากถ้อยแถลงของ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยในงานวันคล้ายวันเกิดเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา การประกาศกร้าวว่าผมไม่ใช่ควายและไม่ใช่นอมินีของใคร คงไม่ใช่แค่วาทกรรมธรรมดา
ประสาเสี่ยหนูที่โดยปกติจะเดินเกมทางการเมืองด้วยท่วงทำนองที่สุขุม นุ่มลึก แต่หนนี้ออกอาการดุดัน ประการหนึ่งอาจต้องการสลัดภาพเป็นหัวหน้าพรรคภายใต้บัญชาของ เนวิน ชิดชอบ ซึ่งนั่นว่ากันว่าเวลานี้มันเป็นเรื่องขี้ปะติ๋วไปแล้ว เพราะการนำพรรคทั้งหมดถือว่าอนุทินคุมเกมเบ็ดเสร็จไปแล้ว เมื่อมองข้ามตรงนี้ก็หมายว่า ท่าทีของหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยที่แสดงออกมามันหมายถึงเส้นทางการเมืองหลังเลือกตั้ง ที่ตัวเขาเองและสมาชิกพรรคต้องไม่ได้ทำหน้าที่ในสภาในฐานะพรรคการเมืองฝ่ายค้านแน่นอน