ดุลยภาพของตลาดทุนพลวัต 2016

กรณีก.ล.ต.สั่งลงโทษ ดร.ประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ประธานกรรมการบริหาร บล.แอพเพิล เวลธ์ จำกัด (มหาชน) โดยสั่งพักงานมีกำหนด 2 ปี ในข้อกล่าวหาที่ทาง ก.ล.ต.ระบุเป็นทางการว่าเป็นเรื่อง "โอนหุ้นที่มีการโอนแบบผิดปกติ มูลค่ามากๆ ในผู้ที่บัญชีไม่เคยมีการเคลื่อนไหวมาก่อน และพฤติกรรมโอนหุ้นแตกย่อยรายการโอนหลายๆ วัน"


วิษณุ โชลิตกุล

 

กรณีก.ล.ต.สั่งลงโทษ ดร.ประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ประธานกรรมการบริหาร บล.แอพเพิล เวลธ์ จำกัด (มหาชน) โดยสั่งพักงานมีกำหนด 2 ปี ในข้อกล่าวหาที่ทาง ก.ล.ต.ระบุเป็นทางการว่าเป็นเรื่อง “โอนหุ้นที่มีการโอนแบบผิดปกติ มูลค่ามากๆ ในผู้ที่บัญชีไม่เคยมีการเคลื่อนไหวมาก่อน และพฤติกรรมโอนหุ้นแตกย่อยรายการโอนหลายๆ วัน”

คำชี้แจงของ ก.ล.ต. เป็นการโต้แย้งคำตอบโต้ของ ดร.ประสิทธิ์ก่อนหน้าที่ว่าถูกลงโทษเพราะการ “โอนหุ้นข้ามชื่อ”

คำชี้แจง และคำตอบโต้ทั้งสองฝ่าย ที่มีผลให้ บล.แอพเพิล เวลธ์ จำกัด (มหาชน) ต้องสูญเสียซีอีโอคนสำคัญที่ร่วมก่อตั้งมาอย่างเลี่ยงไม่พ้น มีโจทย์ที่ต้องการความชัดเจนในคำตอบ 2 เรื่องที่เหลื่อมซ้อนกันอยู่เกี่ยวกับตลาดทุนไทยในอนาคต คือ

– พฤติกรรมที่เป็นมาตรฐานของบริษัทหลักทรัพย์ที่พึงกระทำและไม่พึงกระทำในฐานะกลไกสำคัญขับเคลื่อนการซื้อขายในตลาดหุ้น

– การพิจารณาลงโทษผู้ที่กระทำความผิดด้วยมาตรฐานเดียว

ในกรณีของ แอพเพิล เวลธ์นั้น ข้อมูลที่มีอยู่ระบุว่า ธุรกรรมของบล.แอพเพิล เวลธ์ ที่เป็นสาเหตุหลักของการกระความผิด เชื่อมโยงเข้ากับการดำเนินการในดีลซื้อขายกิจการทาง “ประตูหลัง” ของ บริษัท ไซเบอร์ แพลนเน็ต อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด จำกัด (มหาชน) หรือ CYBER ในต้นปี 2557 ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ยูไนเต็ด พาวเวอร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ UPA ซึ่งดีลทั้งหมด กระทำผ่าน บล.แอพเพิล เวลธ์ โดยกลุ่มบุคคลและและนิติบุคคลจำนวนน้อย เข้ามาซื้อหุ้นแบบเฉพาะเจาะจง (พีพี) ตามสูตรเข้าเทกโอเวอร์แบบเข้าประตูหลังตามปกติ

ประเด็นน่าสนใจคือ ในช่วงที่ซื้อขายทางประตูหลังก่อนเปลี่ยนชื่อนั้น ผู้ถือครองสัดส่วนหุ้นที่เข้ามาซื้อกิจการ เป็นบุคคลหรือนิติบุคลจำนวนน้อย แต่หลังจากดีลสำเร็จและมีการเปลี่ยนชื่อแล้ว ได้มีการโอนหุ้นเป็นวงเงินมากกว่า 8 พันล้านบาท จากบุคคลที่ทำเรื่องเข้าซื้อ ไปยังบุคคลอื่นๆ จำนวนมาก

การสั่งโอนหุ้นดังกล่าว มีความซับซ้อนอย่างมาก โดยอ้างว่าเป็นการโอนไปให้คนที่ร่วมลงมือซื้อกิจการ แต่ไม่อยากเปิดเผยชื่อในช่วงแรก ซึ่งทาง แอพเพิล เวลธ์ถือว่าเป็นการกระทำ “ตามคำสั่งลูกค้าปกติ”

คำถามที่ เจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. ซึ่งช่ำชองในการตรวจสอบที่เรียกว่า “การตรวจสอบเชิงลึกเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (Enhanced KYC/CDD) และการกำกับดูแลการทำธุรกรรมของลูกค้าไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ” ตั้งเป็นโจทย์คือ การกระทำของแอพเพิล เวลธ์มีลักษณะ “ผ่อนปรน” ให้ลูกค้าบางกลุ่ม โดยไม่ใช้เกณฑ์ตรวจสอบทั่วไปเหมือนลูกค้ารายอื่นๆ ทั้งที่ธุรกรรมที่เกิดขึ้น ทางผู้บริหารบล.แอพเพิล เวลธ์ ควรที่จะ “เอะใจ” และตั้งคำถามว่าธุรกรรมโอนหุ้นจำนวนมากนี้ มีอะไรที่ควรถือว่าผิดปกติ

ธุรกรรมที่ถูกตั้งคำถามมากที่สุด คือกรณีของการที่บัญชีลูกค้าบางรายที่ตามปกติจะไม่มีการเคลื่อนไหวหรือการซื้อขายหุ้น แต่เกิดธุรกรรมโอนหุ้นมูลค่าสูงเกินฐานะของลูกค้า ซึ่งถือเป็นรายการที่ผิดปกติ และทางบริษัทสมควรจะต้องตรวจสอบข้อมูลก่อนที่จะดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ โดยเหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นหลายครั้ง และทาง ก.ล.ต.ก็ได้เคยตักเตือนไปแล้ว แต่บริษัทกลับเพิกเฉย

ข้อเท็จจริงดังกล่าว ทำให้มีความสมเหตุสมผลกับข้อกล่าวหาว่า ดร.ประสิทธิ์ได้มีส่วนกระทำความผิดจริง ไม่เป็นที่สงสัย

ข้อต่อสู้ของ ดร.ประสิทธิ์ที่บอกว่า “ใครๆ ก็ทำกัน” จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอในการหักล้างข้อกล่าวโทษ

ผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งเป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการซื้อขายหรือธุรกรรมอื่นของตลาดหุ้น ไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่ “ทำตามความต้องการของลูกค้า” อย่างเดียว แต่มีภารกิจอื่นที่ทำให้กระบวนการซื้อขายดำเนินไปบนมาตรฐาน ไม่เบียดบังเอาเปรียบนักลงทุนรายอื่นๆ ด้วยการเลือกปฏิบัติ และไม่ละเมิดต่อกติกาหรือข้อกฎหมายที่กำหนดเอาไว้

ที่สำคัญความผิดที่เกิดขึ้นกับแอพเพิล เวลธ์ที่ดร.ประสิทธิ์เป็นซีอีโอ และนั่งอีกหลายตำแหน่งสำคัญในบริษัท ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เคยเกิดขึ้นมาและถูกแจ้งให้ทราบไปแล้วในการตรวจสอบ เมื่อปี 2557 โดยที่บริษัทรับทราบ และรับปากเป็นหนังสือว่าจะหามาตรการในลักษณะดังกล่าว โดยวิธีการที่แอพเพิล เวลธ์กำหนดให้ลูกค้าลดการโอนหุ้นระหว่างบุคคลไปยังบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าของบัญชี และไม่มีความสัมพันธ์กัน ก็เป็นเพียงแค่การแต่งตัวเลขเชิงปริมาณเท่านั้นเพื่อให้จำนวนเวลาที่ทำธุรกรรมยืดยาวออกไป ไม่มีนัยสำคัญทางด้านสาระของธุรกรรม

ข้อมูลของการเปิดบัญชี 8 บาท ให้ลูกค้าที่รับโอน ที่ทางดร.ประสิทธิ์ชี้แจงเพื่อจะบอกว่า เป็นบัญชีที่มีตัวตนจริง จึงไม่มีสาระสำคัญในการยกมาอ้างอิงเพื่อบอกว่าตนเองไม่ได้กระทำผิด เพราะบัญชี 8 บาท ไม่ต่างอะไรเลยกับบัญชี 0 บาท เพราะไม่สามารถทำธุรกรรมอะไรได้เลยในทางปฏิบัติ

พฤติกรรมของแอพเพิล เวลธ์จึงเป็นความผิดชัดเจนในเรื่องของ KYC

ส่วนการพิจารณาลงโทษของ คณะกรรมการเปรียบเทียบนั้น เป็นคนละกรณีจากการกระทำผิด เพราะเป็นการวินิจฉัยโดยใช้ดุลยพินิจของคณะกรรมการ โจทย์ว่าด้วยการลงโทษรุนแรงไป หรืออ่อนไป สามารถตั้งคำถามได้ตลอดเวลา

ในกรณี ก.ล.ต. ควรจะต้องให้ความชัดเจนว่า บทลงโทษที่ตัดสินออกมา ซึ่งถือว่าค่อนข้างรุนแรงที่สุดอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจาก ภายใน 15 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีผู้บริหารบล.รายใดถูกลงโทษรุนแรงเช่นนี้

ที่ผ่านมา ก.ล.ต. หรือคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามอำนาจใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ อาจเชื่อมั่นตนเองว่า มีความชอบธรรมในการตัดสินลงโทษผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (บจ.) หรือ ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) โดยมีคำชี้แจง อ้างถึงข้อกฎหมายมาตราต่างๆ ยาวเหยียดด้วยภาษา “เหนือสามัญมนุษย์” ที่เข้าใจยาก

ครั้งนี้ กรณีของ ดร.ประสิทธิ์ ก็เช่นเดียวกัน ยังมีคำถามที่ ก.ล.ต. ไม่ได้ตอบเลยคือ การลงโทษที่รุนแรงดังกล่าว ตั้งบนฐานของข้อเท็จจริงอะไรบ้าง เพราะการลงโทษ “พักการปฏิบัติหน้าที่นาน 2 ปี” โดยนัยแล้ว คือการลงโทษตลอดไปโดยปริยาย

ไม่มีใครในโลกนี้ ที่ไม่เคยทำผิด แต่การลงโทษที่เกินกว่าความผิด คือความอยุติธรรมอย่างหนึ่ง

อำนาจในการใช้กฎหมายบังคับของ ก.ล.ต.ที่ผ่านมานั้น มีคนในแวดวงกล่าวนินทามาต่อเนื่อง(ที่ยังไม่มีใครพิสูจน์ได้) ว่า ก.ล.ต.นั้นไม่ชอบให้ใครเถียง คนที่เถียงกับ ก.ล.ต. ในเรื่องที่แม้ไม่ได้กระทำผิด จะถูกจดจำไว้แม่นยำและมักมีผลร้ายในอนาคต

ถ้าหาก ก.ล.ต. ต้องการให้ภาพลักษณ์ทางลบดังกล่าวเจือจางลงหรือหายไป การดำเนินการสื่อสารกับสาธารณะในเรื่องที่ตนเองเชื่อว่า ได้ให้ความยุติธรรมและมีความชอบธรรมเพียงพอในฐานผู้ออกแบบ และกำกับดูแลกฎกติกาของตลาดทุน เพื่อให้เติบโตก้าวหน้าและมีความสมดุล ก็ไม่สายเกินไปที่จะปรับปรุงกระบวนการสื่อสารสาธารณะให้เข้าใจง่ายต่อสามัญมนุษย์มากขึ้น

    

 

     

 

Back to top button