พาราสาวะถี อรชุน
เมื่อวานเป็นวาระเวลาผ่าน 10 ปีของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งฝ่ายอนุรักษนิยมถือเป็นการยึดอำนาจที่ “เสียของ-สูญเปล่า” ดังนั้น จึงมีการซ้ำดาบ 2 เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ห่างกันไม่ถึง 8 ปีมีการล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งถึง 2 หน แน่นอนว่า สาเหตุไม่ได้เกิดจากการคดโกงหรือคอร์รัปชั่น แต่เป็นเรื่องการสร้างวิกฤติเทียมเพื่อให้ท็อปบู๊ตเคลื่อนรถถังมาฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญ
เมื่อวานเป็นวาระเวลาผ่าน 10 ปีของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งฝ่ายอนุรักษนิยมถือเป็นการยึดอำนาจที่ “เสียของ-สูญเปล่า” ดังนั้น จึงมีการซ้ำดาบ 2 เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ห่างกันไม่ถึง 8 ปีมีการล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งถึง 2 หน แน่นอนว่า สาเหตุไม่ได้เกิดจากการคดโกงหรือคอร์รัปชั่น แต่เป็นเรื่องการสร้างวิกฤติเทียมเพื่อให้ท็อปบู๊ตเคลื่อนรถถังมาฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญ
โดยเฉพาะหนล่าสุด จุดตั้งต้นการล่มสลายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เกิดมาจากการเหลิงอำนาจ บ้างก็ว่าเกิดจากการถูกหลอกของ ทักษิณ ชินวัตร จึงกล้าดันทุรังเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย จนเป็นเหตุให้มีการจุดกระแสปลุกม็อบนำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ ครั้นเมื่อผู้นำยอมถอยไม่เสนอกฎหมายดังว่า ก็มีการหาเหตุอื่นมาปลุกม็อบกดดันจนเกิดการรัฐประหารในที่สุด
การโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คของยิ่งลักษณ์ล่าสุดในโอกาส 10 ปีรัฐประหาร 19 กันยา ถือว่าเป็นการแสดงจุดยืนในฐานะนักการเมืองที่มาตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดี แต่กว่าที่จะเรียนรู้และกล้าในการแสดงออกเช่นนี้ เจ้าตัวก็บอบช้ำจนเกินที่จะเยียวยาเสียแล้ว งานนี้คนที่เจ็บปวดใจมากที่สุดหนีไม่พ้นทักษิณ เพราะเป็นพวกไม่ยอมหลาบจำจากการหลงเชื่อน้ำคำทางการเมือง
ความเห็นของอดีตนายกฯ หญิงคือ รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ไม่ต่างจาก 22 พฤษภาคม 2557 แม้เวลาจะผ่านไปหลายปีแล้ว แต่ก็เหมือนวงจรนี้ไม่มีวันจบสิ้นไปจากสังคมไทย การรัฐประหารแต่ละครั้งทำให้ขาดโอกาสในการที่ประเทศจะยืนอยู่ในเวทีโลกอย่างสง่างาม ขาดการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจทั้งการค้าและการลงทุนจากนานาอารยประเทศ รวมถึงสิทธิเสรีภาพของคนไทยก็ถูกลิดรอน ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าจะไม่เกิดขึ้นอีกและขอให้ตนเป็นผู้รับเคราะห์คนสุดท้ายจากเหตุการณ์รัฐประหาร
แน่นอนว่า คำร้องขอดังกล่าวนั้นอาจเป็นจริง หากไม่ใช่เพราะการเมืองจากนี้ไปจะนิ่ง ทหารจะกลับเข้ากรม กองเป็นทหารอาชีพ แต่เนื่องจากผู้มีอำนาจได้วางกฎเกณฑ์ กติกา ผูกมัดไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญและรวมถึงกฎหมายลูกที่กำลังร่างกันอยู่ เหมือนที่พูดกันว่า เขาไม่ได้รัฐประหารด้วยกองกำลังอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นการรัฐประหารด้วยรัฐธรรมนูญ
ความเห็นที่พูดถึงการรัฐประหารครั้งล่าสุด เข้มข้นและตรงใจมากที่สุดคงเป็นของ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ที่พูดบนเวที “ย่ำอยู่กับที่ 10 ปีสังคมไทย” ซึ่งเป็นการจัดโดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ในโอกาสครบรอบ 10 ปีรัฐประหาร 19 กันยายนเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยอาจารย์ยิ้มเกริ่นนำว่า จริงๆ แล้วงานนี้ตั้งชื่อผิด เราไม่ได้ย่ำเท้าอยู่กับที่ 10 ปีนี้มันเป็น 10 ปีของการถอยหลัง
การถอยหลังในมุมมองของสุธาชัยคือ ถอยหลังไปสมัยไม่ต่ำกว่าก่อน 14 ตุลา มันเป็น 10 ปีของการถอยหลังครั้งใหญ่ของประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งมันไม่น่าเป็นไปได้และเราไม่เคยนึกมาก่อน เมื่อทบทวนการรัฐประหารเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมานี้สิ่งที่ควรตั้งคำถามคือ การรัฐประหารที่เกิดขึ้นเป็นการรัฐประหารของใคร หรือใครเป็นคนทำรัฐประหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจเมื่อย้อนไปดูการรัฐประหาร เราพบว่าฝ่ายอนุรักษนิยม จารีตนิยมหรืออนุรักษนิยมกระแสต่ำในสังคมไทย เป็นผู้ผลักดันให้เกิดการรัฐประหาร
ขณะนั้นฝ่ายทหารยังมีความลังเลใจต่อการทำรัฐประหาร พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ไม่ยอมตัดสินใจทำรัฐประหาร แม้ว่าการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทักษิณจะมีมาก่อนหน้านานพอสมควร ซึ่งการต่อต้านนั้นก็เป็นจากความผิดพลาดหลายประการของรัฐบาลทักษิณ ตอนนั้นก็มีการพูดถึงยุทธวิธีในการต่อต้านรัฐบาล โดยยึดการต่อต้านที่ยืนอยู่บนฐานของระบอบประชาธิปไตย
แต่วิธีการนี้ไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายอนุรักษนิยม เพราะเขาต้องการการเปลี่ยนแปลงที่เบ็ดเสร็จซึ่งคือการยึดอำนาจโดยทหาร เพราะคิดว่าตัวเองสามารถจัดการประเทศไทยให้เป็นตามที่ต้องการได้ แต่ทหารก็ลังเลที่จะทำรัฐประหาร เหตุที่ลังเลเป็นเพราะทุกคนรู้ดีตั้งแต่ต้นแล้วว่า การรัฐประหารเป็นวิธีการที่ล้าหลัง และเป็นวิธีการที่ต่างประเทศไม่ยอมรับ
ถึงที่สุดแล้วฝ่ายอนุรักษนิยมก็ผลักดันจนถึงขั้นโทรไปหานายทหารทั้งหลายว่าให้ออกมาทำรัฐประหาร ใครเป็นคนโทรพวกเราคงรู้ดี สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนถึงความไม่พร้อมของฝ่ายทหารคือ การไม่มีแผนการใดๆ หลังจากที่ทำรัฐประหารสำเร็จแล้ว ไม่มีแผนการที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใดๆ เป็นเพียงการรัฐประหารเฉยๆ และให้ฝ่ายอนุรักษนิยมเข้ามาจัดการดำเนินการต่อตามที่พวกเขาต้องการ
ในระยะ 10 ปีที่ผ่านฝ่ายทักษิณชนะเลือกตั้งหมดทุกครั้ง นั่นสะท้อนว่าประชาชนในประเทศนี้ไม่ได้เป็นไปตามที่ฝ่ายอนุรักษนิยมต้องการให้เป็น ฉะนั้น จึงนำไปสู่ความต้องการของฝ่ายอนุรักษนิยมว่า ต้องใช้มาตรการที่หนักแน่นมากยิ่งขึ้นในการจัดการทักษิณ และนอกจากจัดการทักษิณ ยังต้องจัดการกับประชาชนที่เป็นฝ่ายทักษิณอีกด้วย
ด้วยความต้องการในลักษณะนี้ จึงนำไปสู่การรัฐประหารดาบสอง เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 แต่ถามว่าพวกเขาจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ไม่แน่ใจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้ว่าวิกฤตครั้งนี้ยังไม่จบ วิกฤตที่เกิดขึ้นมา 10 ปีจนถึงปัจจุบันยังไม่จบ วิกฤตนี้ยังดำเนินอยู่ต่อไป และจะจบเมื่อไหร่ยังตอบไม่ได้ แต่มันกลายเป็นวิกฤตที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย มันไม่เคยมีวิกฤตการเมืองครั้งไหนที่ยาวนานเท่านี้มาก่อน 14 ตุลา 2516 ใช้เวลาในการคลี่คลาย 9 ปี แต่ครั้งนี้ยังไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่
สิ่งที่สุธาชัยมองได้ตรงที่สุดนั่นก็คือ ความระแวงในผีทักษิณที่สร้างขึ้นมาเอง ทำให้ชนชั้นปกครองไทยหวาดระแวงระบบรัฐสภา หวาดระแวงการเลือกตั้ง และที่สำคัญคือ มองเห็นนักการเมืองทั้งหมดเป็นศัตรู เป็นคนชั่ว ดังนั้น เมื่อคิดว่านักการเมืองเป็นคนชั่ว ระบอบประชาธิปไตยที่เปิดทางให้นักการเมืองเข้ามามีบทบาทก็กลายเป็นระบอบที่ชั่ว และพยายามใช้ระบบราชการเข้ามาบริหารบ้านเมืองมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่รัฐธรรมนูญฉบับมีชัย จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ควบคุมประชาชน ควบคุมการเคลื่อนไหวของประชาชนอย่างทั่วหน้า เป็นเผด็จการที่ไม่ได้ให้สิทธิเสรีภาพอะไรกับประชาชน เป็นฉบับหวาดระแวงประชาชน ซึ่งนั่นมันหมายถึงการจะถูกปฏิเสธจากโลกและนานาชาติ ผลกระทบที่เห็นได้เด่นชัดคือ การชะงักงันของการลงทุน สภาพทางการเมืองที่สับสนไม่แน่นอน นำมาสู่ความตกต่ำอย่างมากและที่สำคัญยังไม่มีสัญญาณที่จะฟื้นตัว