ปราบโกง’ ขรก.ซวยทายท้าวิชามาร
หลังจากยึกยักอยู่นาน รมว.และปลัดกระทรวงพาณิชย์ ก็ลงนามในคำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหาย 2 หมื่นล้านจากการขายข้าวจีทูจี ซึ่งก่อนหน้านี้ มีข่าวว่ารัฐมนตรีไม่เซ็น ปลัดก็ไม่เซ็น ว่าที่ปลัดบอกถ้าบังคับเซ็นก็ลาออกดีกว่า
ใบตองแห้ง
หลังจากยึกยักอยู่นาน รมว.และปลัดกระทรวงพาณิชย์ ก็ลงนามในคำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหาย 2 หมื่นล้านจากการขายข้าวจีทูจี ซึ่งก่อนหน้านี้ มีข่าวว่ารัฐมนตรีไม่เซ็น ปลัดก็ไม่เซ็น ว่าที่ปลัดบอกถ้าบังคับเซ็นก็ลาออกดีกว่า
พวกนักจัดงานอีเวนท์ปราบโกงคงโวยว่า ข้าราชการ ข้าของแผ่นดิน ทำไมไม่กล้าจัดการ “คนโกง” แต่ไม่ประหลาดใจหรือครับ ที่ตัวเลขออกมา อดีต รมว.บุญทรง เตริยาภิรมย์ ซึ่งใครๆ ก็มองว่า “ตัวโกง” กลับถูกเรียกค่าเสียหายแค่ 1,770 ล้าน อดีต รมช.ภูมิ สาระผล 2,300 ล้าน ขณะที่อดีตเลขา รมว.กับข้าราชการอีก 3 คน โดนไปคนละ 4,000 ล้าน
อย่าลืมว่า อภิรดี ตันตราภรณ์, ชุติมา บุณยประภัศร, วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ก็ทำงานในกระทรวงมากับข้าราชการ 3 คนนั้น เปล่า ไม่ใช่ปกป้องพวกพ้องพี่น้องกัน ทั้ง 3 ท่านเป็น “คนดี” ที่รัฐบาล คสช.ปั๊มตราการันตี แต่ข้าราชการระดับสูงด้วยกัน น่าจะรู้แก่ใจ ว่าการขายข้าวครั้งนั้น ใครถูกใครผิด ทุจริตจริงไหม ใครควรรับผิดชอบขนาดไหน อย่างไร
ข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ขายข้าวขายพืชผลการเกษตร ที่รัฐบาลชุดต่างๆ มีนโยบายรับประกันรับจำนำมา 30-40 ปี ถ้าทุจริตติดคุกว่ากันอีกเรื่อง แต่ถ้าบอกว่า “ขายขาดทุน” จำนำตันละ 15,000 ขายต่ำกว่าไม่ได้ โดนเรียกค่าเสียหาย ก็ตายทั้งครอกสิครับ
อ้าว ไม่เห็นหรือ รัฐบาลนี้ยังต้องมี ม.44 คุ้มครองการระบายข้าว ระบายพืชผล ขายขาดทุนยังไงก็ไม่โดนเรียกค่าเสียหายย้อนหลัง
แต่หมด ม.44 เมื่อไหร่ รับประกัน อะไรที่เป็นนโยบายรัฐบาลซึ่งช่วยเหลือเกษตรกร ช่วยภาคธุรกิจเอกชน ฯลฯ แต่อาจถูกตีความว่า “รัฐเสียหาย” ข้าราชการจะไม่ยอมทำ ต้องหากฎระเบียบป้องกันตัว 7-8 ชั้น
บางคนอาจมองว่า เฮ้ยไม่เป็นไรน่า โดนแค่พวกทักษิณ แต่ความจริงไม่ใช่ ในกระแสคลั่งปราบโกง ในยุค ปปช.สตง.เป็นใหญ่ มีการไล่จับผิดข้าราชการมากมาย โดยเฉพาะข้าราชการท้องถิ่น ที่โดนเอาผิดพร้อมนักการเมืองท้องถิ่น เพราะถูกมองว่า “รับใช้คนโกง” ทั้งที่บางเรื่องข้าราชการเพียงแต่อะลุ่มอล่วยโดยเห็นว่าทำได้ในกรอบ (เขาทำงานกับนักการเมืองจะให้ขวางคลองตลอดได้ไง)
ยิ่งกว่านั้นเมื่อมองไปข้างหน้า ก็กำลังจะมีกฎหมายหลายฉบับออกมาบังคับใช้ เช่น กฎหมายผลประโยชน์ทับซ้อน “เจ็ดชั่วโคตร” ลดครึ่งเหลือ “สามชั่วโคตร” ซึ่งมองมุมหนึ่งเหมือนเป็นเรื่องดี แต่ถ้าบ้าจี้เกินไป แบบเอาโทรศัพท์มาชาร์จไฟหลวงก็ผิด ก็คงไม่มีใครอยากรับราชการ ในขณะที่คนโกงยังหาช่องได้อยู่ดี
ล่าสุดยังมี พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ ของกระทรวงการคลัง ซึ่งจะรวบอำนาจให้กรมบัญชีกลางดูแลหลักเกณฑ์จัดซื้อจัดจ้างทุกส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ ก็ถูกนักนิติศาสตร์ ตุลาการ คัดค้านว่าจะนำประเทศถอยหลัง 50 ปี การจัดซื้อจัดจ้างจะหยุดชะงักหมด เพราะเป็นการเขียนกฎหมายแบบจ้องจับผิด มองว่าทุกคนโกงหมด จนไม่มีใครกล้าทำอะไร คนทำงานเสียกำลังใจ
ศาลทุจริตที่จะเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ก็เช่นกันนะครับ นี่คือการเอาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง มาใช้กับข้าราชการ แม้ยังมี 3 ศาล แต่ใช้ระบบไต่สวน ใช้สำนวน ปปช.เป็นหลัก ต่างจากคดีอาญาทั่วไป ที่ถือหลักหากยังมีข้อสงสัยก็ยกประโยชน์ให้จำเลย แต่นี่สำนวน ปปช.สันนิษฐานว่าจำเลยผิดไว้ก่อน
ปราบโกงเป็นเรื่องดี แต่ถ้าบ้าจี้ปราบโกง ก็จะมีแต่คนจ้องจับผิด แล้วไม่มีคนทำงาน