สัญญาณบวกจากจีนพลวัต 2016

เมื่อวานนี้ ตลาดหุ้นฮ่องกงมีตัวเลขมูลค่าซื้อขายโป่งมากกว่าปกติในรอบ 2 ปี เพราะหุ้นธนาคารจีน โพสทอล เซฟวิงส์ แบงก์ ออฟ ไชน่า (PSBC) ได้เริ่มเปิดการซื้อขายหุ้นวันแรก


วิษณุ โชลิตกุล

 

เมื่อวานนี้ ตลาดหุ้นฮ่องกงมีตัวเลขมูลค่าซื้อขายโป่งมากกว่าปกติในรอบ 2 ปี เพราะหุ้นธนาคารจีน โพสทอล เซฟวิงส์ แบงก์ ออฟ ไชน่า (PSBC) ได้เริ่มเปิดการซื้อขายหุ้นวันแรก

หุ้นดังกล่าวเป็นการระดมทุนผ่าน IPO ที่มูลค่าทำสถิติสูงสุดของโลกในรอบ 2 ปี หลังจากที่อาลีบาบาเคยเปิดซื้อขายที่ตลาดหุ้นสหรัฐ

ธนาคาร PSBC ได้ระดมทุนมาแล้ว 7.4 พันล้านดอลลาร์ จากการขายหุ้น 1.21 หมื่นล้านหุ้นทั่วโลก ในจำนวนนี้ประมาณ 77% เป็นของนักลงทุนรายหลัก 6 ราย ซึ่งจะถือหุ้นเหล่านี้เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน

การกลับเข้ามาระดมทุนระลอกใหม่ของบริษัทจีนในตลาดฮ่องกง ถือเป็นนิมิตหมายทางบวกว่าเศรษฐกิจจีนกำลังกลับมาฟื้นตัวอย่างจริงจัง แม้จะเชื่องช้าอยู่บ้าง หลังจากที่ชะลอตัวลงมาในช่วง 3 ปีหลัง จากความพยายามปรับดุลยภาพใหม่ทางเศรษฐกิจ

ล่าสุด สัญญาณเศรษฐกิจของจีน บ่งบอกในทิศทางเดียวกันว่า จีนกำลังฟื้นตัวอย่างจริงจัง เหลืออยู่เพียงเรื่องเดียวที่ยังติดค้าง คือเรื่องของ ”หนี้สินจำบัง” ที่ซุกซ่อนเอาไว้มหาศาลในสถาบันการเงิน

ตัวเลขความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในการลงทุนเพิ่มที่สำรวจโดย Standard Chartered ที่เรียกว่า Small and Medium Enterprises Confidence Index เพิ่มขึ้นจากระดับเดิม 54.9 ในเดือนสิงหาคม เป็น 56.0 ในเดือนกันยายน

ส่วน China Satellite Manufacturing Index ที่สำรวจการใช้สัญญาณดาวเทียมสื่อสารเชิงพาณิชย์ในจีน ก็เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 50.2 เป็นครั้งแรกที่เกินระดับ 50 นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2014

นอกจากนั้น ความเชื่อมั่นของผู้บริหารบริษัทขนาดใหญ่ในจีน ก็เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนครั้งแรกในรอบ 13 เดือน ที่ระดับ 55.8 เพิ่มจากเดือนก่อนที่ระดับ 54.1

ตัวเลขเหล่านี้ อาจจะเร็วเกินไปที่จะบอกว่าจีนฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง แต่อย่างน้อยที่สุด ก็สอดรับกับข้อสรุปของทางการจีน และกองทุนการเงินระหว่างประเทศที่ว่า เศรษฐกิจจีนไม่ได้เลวร้ายเหมือนดังที่เสนอในสื่อต่างๆ ทางตะวันตก

ไม่เพียงเท่านั้น โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลคนดัง ยังออกมารับรองแข็งขันอีกทางหนึ่งเมื่อต้นปีนี้เองว่า  การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนถูกนักการเงินและตลาดทุนตีความเลยเถิดเสมือนหนึ่งจีนกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจล่มสลาย ทั้งที่อัตราเติบโตของจีพีดี ที่ระดับใกล้เคียงกับ 7% หรือต่ำกว่านิดหน่อยนั้น ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

สติกลิตซ์ ระบุเองว่า สิ่งที่ หลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีนพูดเอาไว้ที่ดาวอส เมื่อปีที่แล้ว ว่าจีนจะไม่มีวันเผชิญกับภาวะฮาร์ด แลนดิ้ง นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ยังคงใช้การได้

แม้การรับรองอย่างแข็งขันของนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังอเมริกันนั้น ไม่ได้ช่วยทำให้เรื่องของจีนลดความสำคัญลง เพราะตราบใดที่การบริหารการเงินของจีนยังคงขาดความชัดเจน และขาดประสบการณ์ในการลองผิดลองถูก สถานการณ์ของการข้าม ”ภูเขา 3 ลูก” จะยังคงต้องดำเนินต่อไป

ภูเขา 3 ลูกดังกล่าว หมายถึง การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 3 ด้านที่ยังไม่แล้วเสร็จและยังไม่สามารถการันตีความสำเร็จได้ครบถ้วน ได้แก่ 1) การปฏิรูปสถาบันการเงินเพื่อล้างบ้าน 2) ปรับโครงสร้างให้สมดุล แต่ยังรักษาการเติบโตต่อเนื่อง 3) ปล่อยค่าหยวนลอยตัวตามความจริง

ปัญหาเรื่องหนี้สินจำบัง หรือ Shadow banking เป็นเรื่องใหญ่และยุ่งยากที่สุด

หลายปีมานี้ ความพยายามของทางการจีนในการล้างหนี้และป้องกันฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ทำให้เงินที่กองสุมอยู่ในธุรกิจดังกล่าวด้านหนึ่งหายไปหลบซ่อนในต่างประเทศ ผ่านกระบวนการโพยก๊วน หรือ แคร์รี่เทรดย้อนศร แล้วอีกส่วนหนึ่ง เคลื่อนย้ายมาที่ตลาดหุ้น และออกฤทธิ์จนเกิดฟองสบู่ตลาดหุ้นในครึ่งแรกของปี 2015 ที่ดัชนีตลาดเซี่ยงไฮ้วิ่งทะยานขึ้นมากถึง 150% อย่างผิดปกติ ดังที่ทราบกันดี แล้วก็ฟองสบู่แตกทำให้รัฐเข้ามาโอบอุ้ม

เครดิต ลีอองแนส์ หรือ CLSA วาณิชธนกิจชั้นนำของโลกระบุว่า ปัญหาใหญ่ของจีนมาจากสินเชื่อจำบังที่ธนาคารต่างๆ ซึ่งทั้งหมดเป็นของรัฐ ได้ปล่อยออกไปให้กับลูกค้าที่ส่วนใหญ่ก็เป็นรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานรัฐทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นเป็นเจ้าของ

ความลึกลับและวิธีการแก้ปัญหาสินเชื่อจำบังอย่างลูบหน้าปะจมูกของรัฐจีนตลอดหลายปีมานี้ ทำให้ปัญหาหนี้เน่าในระบบพากันยักแย่ยักยัน เมินเฉยต่อเสียงเรียกร้องให้ทำความสะอาดอย่างมีเจตนา

การแก้ปัญหาหนี้สินจำบังนี้ หากทำได้ในระดับที่น่าพึงพอใจ แม้จะไม่หมดสิ้น ก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจจีนกลับมาเดินหน้าฉลุยต่อไปได้ไม่ยาก และเป็นมากกว่าข่าวดีธรรมดา

Back to top button