พาราสาวะถี อรชุน
เป็นบุคคลแรกที่จะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต สำหรับ สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หลังถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินให้ยึดบ้านพักมูลค่า 16 ล้านบาทที่ตั้งอยู่เลขที่ 5/5 หมู่ 5 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง โดยเจ้าตัวก็ยอมรับสภาพบอกต้องทำใจ แม้ว่าจะมีผลต่อเส้นทางทางการเมืองตลอดชีวิต ก็ไม่มีปัญหา
เป็นบุคคลแรกที่จะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต สำหรับ สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หลังถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินให้ยึดบ้านพักมูลค่า 16 ล้านบาทที่ตั้งอยู่เลขที่ 5/5 หมู่ 5 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง โดยเจ้าตัวก็ยอมรับสภาพบอกต้องทำใจ แม้ว่าจะมีผลต่อเส้นทางทางการเมืองตลอดชีวิต ก็ไม่มีปัญหา
ส่วนบ้านที่ถูกยึดนั้นหากมีการขายทอดตลาดค่อยไปประมูลซื้อคืน คงต้องปิดฉากทางการเมืองไปโดยปริยายตามผู้สนับสนุนที่ล่วงลับอย่าง บรรหาร ศิลปอาชา แต่ก็ยังถือเป็นความโชคดีที่เสี่ยตือได้สร้างทายาททางการเมืองไว้สืบทอดแล้ว ซึ่งจากการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะอดีตส.ส.ที่ผ่านมา ลูกชายอย่างภราดรถือว่าสอบผ่านและยืนหยัดบนหลักการของนักการเมืองผู้รักประชาธิปไตยได้อย่างสง่างาม
สิ่งที่เหลือจากนี้ไปคงเป็นเรื่องของจุดยืนทางการเมืองที่ทายาทจะต้องสานต่อและคงไม่ต่างจากพี่น้องตระกูลศิลปอาชาอย่าง “หนูนา” กัญจนา และ “ลูกท็อป” วราวุธ ที่ต้องเดินตามรอยของผู้เป็นบิดาทั้งการสืบสานงานของพรรคชาติไทยพัฒนาและเดินหน้าพัฒนาสุพรรณบุรีให้สมกับเป็นบรรหารบุรี แต่วิถีการเมืองในพ.ศ.นี้อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนในอดีต
เห็นกติกาและสิ่งที่องคาพยพของคณะรัฐประหารกำลังดำเนินการ ต้องยอมรับกันว่า นักการเมืองและพรรคการเมืองนั้นแทบจะไร้ค่า หมดความหมาย เพราะสิ่งที่เขาสร้างคือการทำให้รัฐข้าราชการเป็นใหญ่ วันนี้ เรื่องปมนายกรัฐมนตรีคนนอกคงไม่ต้องไปลุ้นอะไรแล้ว ชัดเสียยิ่งกว่าชัด หลัง วิษณุ เครืองาม ออกมาขู่หากมีปัญหาเลือกผู้นำประเทศไม่ได้หลังเลือกตั้งระวังจะถูกมาตรา 44 สั่งยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่
ประสานักการเมืองที่แม้จะชื่นชอบการเลือกตั้งแต่หากต้องเลือกกันแบบถี่ๆ ก็ไม่ไหวเหมือนกัน ดังนั้น คำขู่ที่หลุดออกมาจากเนติบริกรประจำรัฐบาล มันก็เหมือนไฟต์บังคับหากไม่สามารถเลือกนายกฯจากบัญชีของพรรคการเมืองได้ ส.ส.ส่วนหนึ่งหรืออาจจะเป็นส่วนใหญ่ต้องไปจับมือกับส.ว.ลากตั้ง 250 คนชูคนนอกมาเป็นนายกฯ
มาถึงนาทีนี้ ท่าทีแทงกั๊กของหัวหน้าคสช.บวกเข้ากับการปฏิเสธอย่างแข็งขันของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่สนใจการเมืองและไม่รับตำแหน่งนายกฯคนนอกแน่นอน ก็พอจะมองออกกันแล้วว่า หลังเลือกตั้งมาจะได้ใครเป็นผู้นำประเทศ แต่เส้นทางดังว่าจะเดินไปด้วยความราบรื่น โรยด้วยกลีบกุหลาบหรือไม่ ไม่มีใครตอบได้
อย่างไรก็ตาม หลังการโยนหินถามทางของวิษณุ แล้วสแกนอาการของคนจากพรรคการเมือง ท่าทีของคนพรรคการเมืองใหญ่บางพรรคทำให้เห็นแล้วว่า โอกาสจะเกิดทางตันนั้นคงไม่มี เพราะดูเหมือนว่ามีการแต่งตัวรอที่จะรับอานิสงส์ของการเลือกนายกฯจากบัญชีพรรคการเมืองไม่ได้ ด้วยการไปจับมือกับส.ว.ลากตั้งชงคนนอกมานั่งนายกฯ และพรรคการเมืองนี้ก็จะมีวาทกรรมว่ายอมเจ็บปวดแม้ไม่เป็นประชาธิปไตยเพื่อให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า ไม่เชื่อเขียนวลีนี้แปะข้างฝาไว้ได้เลย
ปมเรื่องอำนาจของศาลทหารในการพิจารณาคดีพลเรือนนั้น มีเรื่องค้างเก่าที่น่าสนใจจากการเปิดเผยของ อานนท์ นำภา ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ระบุว่า ได้รับคำแถลงการณ์ปิดคดีในคดีที่นายสิรภพนักเขียนผู้ใช้นามปากกา รุ่งศิลา ซึ่งตกเป็นจำเลยไม่เข้ารายงานตัวตามคำสั่งคสช. ฉบับที่ 44/2557 เพื่อให้ทำการแก้ไขคำแถลงเนื่องจากศาลทหารเห็นว่ามีเนื้อหาที่ส่อถึงการเสียดสีศาลทหาร
ต้องติดตามไปดูว่ามีประเด็นไหนที่นักเขียนรายนี้เสียดสีบ้าง ประการแรกคือคำแถลงข้อ 2.3 ที่กล่าวถึงการออกประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 และ 41/2557 และ คำสั่งคสช.ฉบับที่ 44/2557 เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากคสช.เข้ามามีอำนาจในการปกครองประเทศด้วยการทำรัฐประหารซึ่งมีความผิดฐานกบฏ และการยอมรับการใช้อำนาจของคสช. จึงเป็นการยอมรับต่ออำนาจของผู้ปกครองประเทศที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยเนื้อความจุดที่ศาลทหารให้มีการแก้ไขคือ หากอำนาจตุลาการไม่รับใช้หลักการแห่งกฎหมายในระบอบประชาธิปไตยและประชาชน แต่กลับไปโอนอ่อนผ่อนตามหรือยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหาร ซึ่งเป็นการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมทำให้ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมถูกทำลายลงจนไม่เหลือสภาพแห่งความเป็นนิติรัฐได้
หากตุลาการยอมรับว่าคณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว ก็จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป เปิดช่องทางหรือยอมรับให้บุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการรัฐประหารยืมมือกฎหมายเข้าปกครองประเทศ ตุลาการจึงไม่ควรที่จะรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์
หากแต่ต้องใช้อำนาจตุลาการในการพิพากษาวินิจฉัยให้คณะรัฐประหารต้องรับผิดตามกฎหมายเพื่อธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมและรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย และคุ้มครองประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง หากตุลาการรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว เท่ากับตุลาการไม่ได้รับใช้ประชาชน หันไปรับใช้อำนาจอันโดยมิชอบและเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาประชาธิปไตย กระบวนการยุติธรรมก็จะกลายเป็นบ่าวรับใช้อำนาจเผด็จการไปเสีย
ส่วนจุดสุดท้ายที่ศาลทหารให้แก้ไขอยู่ในข้อ 3 ของแถลงการณ์ซึ่งเป็นส่วนปิดท้ายที่นายสิรภพกล่าวถึงการที่ตนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญและไม่ยอมรับอำนาจของคสช. ที่ได้มาโดยการรัฐประหารจึงขอทำการอารยะขัดขืน และยังขอต่อศาลให้อำนวยความยุติธรรม โดยข้อความที่ศาลให้แก้ไขคือ ขอศาลได้โปรดตีความและบังคับใช้กฎหมายภายใต้ความยุติธรรมในระบอบประชาธิปไตย
ในกระบวนการพิจารณาขององค์คณะตุลาการไม่ว่าจะเป็นศาลทหารหรือศาลปกติก็ตามแต่ ในฐานะประชาชนทั่วไปก็เชื่อโดยสุจริตใจไว้ก่อนว่าเป็นไปด้วยความยุติธรรม แต่เมื่อการปกครองประเทศเปลี่ยนไป ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยที่ถูกต้อง คนจำนวนหนึ่งย่อมมีสิทธิที่จะสงสัยในบางกระบวนการได้ เหมือนอย่างที่นานาประเทศเรียกร้องให้ยกเลิกการนำตัวพลเรือนขึ้นศาลทหาร ขึ้นชื่อว่าเผด็จการคงยากที่จะมีใครยอมรับ เรื่องนี้ไม่ได้กล่าวหาเพราะบิ๊กตู่เป็นคนประกาศยอมรับเองหลังเดินทางกลับจากร่วมประชุมยูเอ็น