พาราสาวะถี อรชุน
วันนี้ครบรอบ 40 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 แต่ปรากฏว่าประเทศไทยก็ยังคงถูกปกครองด้วยอำนาจเผด็จการทหาร นั่นหมายความว่า ไม่ว่าจะเกิดการต่อต้านการรัฐประหารหรือปฏิเสธอำนาจจากการเคลื่อนรถถังขนท็อปบู๊ตมาฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญอย่างไร แต่สุดท้ายมันก็หนีไม่พ้น ยังคงมีการพายเรือวนอยู่ในอ่าง แม้รอบนี้จะอ้างเรื่องยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปตามกรอบเวลา 20 ปีก็ตาม
วันนี้ครบรอบ 40 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 แต่ปรากฏว่าประเทศไทยก็ยังคงถูกปกครองด้วยอำนาจเผด็จการทหาร นั่นหมายความว่า ไม่ว่าจะเกิดการต่อต้านการรัฐประหารหรือปฏิเสธอำนาจจากการเคลื่อนรถถังขนท็อปบู๊ตมาฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญอย่างไร แต่สุดท้ายมันก็หนีไม่พ้น ยังคงมีการพายเรือวนอยู่ในอ่าง แม้รอบนี้จะอ้างเรื่องยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปตามกรอบเวลา 20 ปีก็ตาม
สถานการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร หลายคนหลายฝ่ายต่างคาดการณ์กันไว้เยอะแล้ว แต่เหตุการณ์ที่ผ่านพ้นมาอย่างกรณี 6 ตุลา ถามว่าเราได้อะไรจากการสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อของประชาชนคนร่วมชาติเวลานั้นบ้าง ปลายทางก็คือ เราไม่ได้อะไรเลย นอกจากคนในเหตุการณ์บางคนที่อ้างเรื่องอุดมการณ์ประชาธิปไตยในเวลานั้น วันนี้ก็ออกมาเคลื่อนไหวโบกมือดักกวักมือเรียกให้เกิดการรัฐประหาร
ขณะที่อีกหลายคนก็ไปซุกอยู่ใต้ปีกเผด็จการด้วยเหตุผลยึดมั่นในลาภ ยศ สรรเสริญ อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงมีคนจำนวนหนึ่งที่รำลึกนึกถึงเหตุการณ์อันน่าสลดใจกับภาพไทยฆ่าไทยในครั้งนั้นได้เป็นอย่างดี เวทีเสวนา “ความรู้และความไม่รู้ว่าด้วย 6 ตุลา 2519” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา มีวิทยากรซึ่งเป็นคนในเหตุการณ์อย่าง สุรชาติ บำรุงสุข และ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ พูดถึงเบื้องหลังและปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ
โดยสุธาชัยบอกว่า มันมีหลายเรื่องที่เขาก็เพิ่งรู้ คนถูกแขวนคอเกินกว่า 2 คนก็เพิ่งรู้ สรุปแล้วความไม่รู้เรื่อง 6 ตุลาแม้แต่ในหมู่พวกเดียวกันเองมันเยอะมาก กระบวนการ dehumanization หรือ ลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ลง หรือถ้าจะพูดให้ตรงกับเหตุการณ์เวลานั้นคือ ถูกทำให้เหมือนไม่ใช่คน เกิดขึ้นก่อนหน้าเป็นปี จนถึงจุดสูงสุด จนฝ่ายขวาเหล่านี้ทำอะไรก็ได้ที่เหี้ยมโหด
กลุ่มคนที่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามของขบวนการนักศึกษาเวลานั้น คิดว่าเขาทำถูกต้องในการรักษาชาติบ้านเมือง ในการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ สังคมไทยไม่เคยสรุปบทเรียนเลย บทเรียนว่าการฆ่าคน ความรุนแรงแก้ปัญหาไม่ได้ การปลุกระดมให้คนเกลียดชังกันด้วยข้อมูลเท็จ ก็ยังทำกันอยู่ และเรื่องใหญ่ที่สุดคือ รัฐประหาร มันก็ยังเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า
แต่สิ่งที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นจากเวทีเสวนาหลายครั้งหลายหนที่ผ่านมาคือ ประวัติศาสตร์ที่ว่าด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลานั้นแทบจะกลายเป็นศูนย์ เหมือนอย่างที่สุรชาติเล่าให้ฟัง ถ้าประวัติศาสตร์คือการเมืองในอดีต การเมืองก็คือประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน เราจึงต้องทำความเข้าใจบริบทของปี 2519 ด้วย แต่จะมองมันล้วนๆ ก็ไม่ได้ เพราะมันเกี่ยวพันกับ 14 ตุลาคม 2516 ด้วย แต่ก็มีนิสิตบางคนพูดว่าถ้าไม่เรียนรัฐศาสตร์จะไม่ได้รู้เรื่อง 6 ตุลาเลย เพราะไม่มีคณะไหนสอน ประวัติศาสตร์ส่วนนี้หายไปจากระบบการศึกษา
วันนี้ทำอย่างไรที่งานรำลึก 6 ตุลาจะไม่กลายเป็นงานทำบุญรวมญาติ ความยากคือ ผ่านเหตุการณ์ไปไม่นานสุรชาติจบปริญญาโทกลับมาสอนหนังสือที่จุฬาฯ ตอนนั้นมีการพูดถึงเหตุการณ์ “16 ตุลา” แล้ว ผ่านไปไม่กี่ปีเพียงแค่ความทรงจำจะแยกสองเหตุการณ์ก็ลำบากแล้ว ในความทรงจำที่เริ่มขาดตกบกพร่อง ปัญหาใหญ่ตามมาหลายอย่าง ถ้าความทรงจำไม่มี ความรู้จะเกิดอย่างไร
แม้แต่การสืบค้นในกูเกิ้ลก็ไม่พบภาพเหตุการณ์มากนัก สุรชาติจึงเสนอว่าผู้คนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โดยตรงควรจะเขียนบันทึกออกมา เรื่องนี้ควรทำตั้งนานแล้ว มหิดลทำชุดใหญ่ ธรรมศาสตร์ทำบ้าง แต่จุฬาฯ ไม่มีใครเขียนเลย หลายคนอยากเห็นการชำระประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ซึ่งตนเห็นว่าอย่าว่าแต่ชำระ เขียนยังไม่มีเลย จึงเรียกร้องให้คนในเหตุการณ์ทุกคนให้เขียน เอาความทรงจำกลับมา
โพสต์เข้าไปในเว็บไซต์ ถ้าเราอยากเห็นความรู้เกิดก็ต้องสร้าง ต้องมีเวที เพื่อเปิดโอกาสให้ความรู้ หรือความทรงจำเกิดขึ้นมา เวทีนี้ไม่มีเจตนาฟื้นฝอยหาตะเข็บกับเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่อยากให้สังคมไทยรับรู้เรื่องราวในช่วงหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้ สิ่งที่อาจถูกมองข้ามคือ เราแทบไม่เคยศึกษากระแสขวาในไทย ตอนนั้นเราตื่นเต้นกับกระแสซ้าย ทั้งที่สังคมไทยมีกระแสขวาสูงมาก
ประวัติศาสตร์กลายเป็นความลับโดยตัวมันเอง และท้ายที่สุดตำราเรียนของเด็กก็มีแค่ 14 ตุลาแล้ว 6 ตุลาอยู่ไหน มันถูกทำให้หายไป ประวัติศาสตร์เป็นทั้งการเมือง ความทรงจำ การประกอบสร้าง และยังเป็นความลับอีก วันนี้อาจไม่สามารถคลี่ข้อมูลทั้งหมด แต่ถ้าจะเป็นไปได้ ตนคิดว่า 40 ปีน่าจะเป็นคุณูปการต่อสังคม
บทเรียนที่ชัดเจนคือ ความรุนแรงไม่ช่วยแก้ปัญหาสังคมไทย มีแต่จะสร้างปัญหา ถ้า 6 ตุลาเดินไปมากกว่านี้มันคงเกิดสงครามกลางเมืองและเราจะเป็นโดมิโนตัวที่สี่ ถ้าจะไม่เดินไปสู่จุดจบแบบลาว เขมร อะไรคือคำตอบ คำตอบคือการรัฐประหารของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ แล้วปรับทิศทางประเทศไทย นำพาคนอีกชุดคือ ทหารสายปฏิรูปเข้ามาแล้วปรับทิศทาง ผลพวงคือการนิรโทษกรรม
พวกตนนี่แหละนิรโทษกรรมเหมาเข่งสุดซอยของจริง มันนิรโทษกรรมคนในเหตุการณ์ 6 ตุลาทั้งหมด เราเองส่วนหนึ่งก็รับไม่ได้ พวกเขาเองที่ขวาจัดๆ ก็รับไม่ได้ที่จะนิรโทษให้พวกเรา แต่วันนี้ย้อนกลับไป นิรโทษกรรมกลายเป็นการเปิดทางใหญ่ของการเมืองไทย ไม่ใช่เฉพาะคนถูกจองจำ แต่พานักศึกษาเข้าสู่ชีวิตปกติ พาคนที่ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหรือพคท.เข้าสู่สังคมไทย นั่นคือตัวแบบที่เราเห็น
เหล่านี้คือเพียงเสี้ยวหนึ่งของเหตุการณ์และข้อเรียกร้องจากคนที่อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ถามว่าแล้วมันจะมีประโยชน์อะไรที่นำมาเสนอในห้วงเวลาเช่นนี้ คำตอบก็คือ แม้วันนี้จะไม่มีฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวา แต่ก็มีฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างแท้จริงกับฝ่ายที่อ้างประชาธิปไตยเพื่อใช้โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
บทเรียนในอดีตสอนให้รู้ว่า การปลุกระดมสร้างความเกลียดชังนั้น บทสรุปสุดท้ายมันนำมาซึ่งจุดจบที่น่าเศร้าใจเหมือนอย่างภาพของเหตุการณ์ 6 ตุลาที่บางคนก็ไม่อยากที่แม้แต่จะชายตามอง ต้องให้ผู้มีอำนาจเลือกเอาว่า จะนำพาบ้านเมืองย้อนคืนกลับไปเหมือนอดีตกว่า 40 ปีที่ผ่านมาหรือจะพาประเทศเดินไปข้างหน้า ถ้าเห็นว่าก้าวย่างที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นมันไม่ถูก ก็ยังพอมีเวลาที่จะปรับเปลี่ยนไม่ต้องกลัวว่าจะเสียหน้า ถ้ารักบ้านเมืองจริงต้องกลัวความเสียหายหรือหายนะที่รออยู่ข้างหน้ามากกว่า